backup og meta

องคชาตมีหน้าที่อะไร ควรดูแลอย่างไรเพื่อสุขภาพที่ดี

องคชาตมีหน้าที่อะไร ควรดูแลอย่างไรเพื่อสุขภาพที่ดี

องคชาตมีหน้าที่ เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชายที่ยื่นยาวออกมาภายนอกร่างกาย โดยขนาด รูปร่าง และสีจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล นอกจากนี้ ยังใช้สำหรับปัสสาวะและเป็นท่อนำพาอสุจิผ่านเข้าปากมดลูกเมื่อมีเพศสัมพันธ์  ดังนั้น จึงควรได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นบริเวณองคชาต

องคชาตมีหน้าที่ อะไร

องคชาตเป็นส่วนประกอบของอวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย มีลักษณะเป็นอวัยวะรูปทรงกระบอกอยู่บริเวณด้านหน้าถุงอัณฑะ โดยองคชาตมีหน้าที่ในการขับถ่ายปัสสาวะและสำหรับสอดใส่เมื่อมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงทำหน้าที่ในการนำพาอสุจิไปยังช่องคลอด ภายในองคชาติประกอบด้วยเนื้อเยื่อที่มีรูพรุน รวมถึงมีเส้นประสาทและเส้นเลือดจำนวนมาก ทำให้มีความไวต่อการสัมผัส และเมื่อมีอารมณ์ทางเพศเลือดจะสูบฉีดจนทำให้องคชาตแข็งตัว

ส่วนประกอบขององคชาต

องคชาตประกอบไปด้วยส่วนราก ส่วนลำตัวและส่วนหัว รวมทั้งส่วนอื่น ๆ ดังนี้

  • ส่วนปลายองคชาต (Glans) ในส่วนนี้จะมีเนื้อเยื่อปกคลุมอยู่ด้านบนหัวองคชาต เพื่อให้ความชุ่มชื้นและคงความสีชมพู
  • แท่งเนื้อเยื่อที่มีรูพรุน (Corpus Cavernosum) เป็นแท่งองคชาติที่มีเนื้อเยื่อรูพรุนเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนและทำให้องคชาตแข็งตัว
  • แท่งเนื้อเยื่อรูพรุนอ่อนนุ่ม (Corpus Spongiosum) เป็นเนื้อเยื่อรูพรุนที่มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ มีลักษณะทอดยาวไปจนถึงส่วนหัวขององคชาต ในส่วนนี้จะเต็มไปด้วยเลือดเมื่อวัยวะเพศแข็งตัว ทำให้ท่อปัสสาวะเปิดออก
  • ท่อปัสสาวะ เป็นส่วนที่นำปัสสาวะออกจากร่างกายและเป็นทางผ่านของอสุจิ

การแข็งตัวของอวัยวะเพศเกิดจากการที่เลือดไหลเวียนไปยังองคชาตมากขึ้นเมื่อถูกสัมผัส หรือกระตุ้นให้มีอารมณ์ทางเพศ โดยเส้นประสาทจะทำให้หลอดเลือดบริเวณองคชาตขยายตัว ทำให้เลือดไหลไปยังองคชาตมากขึ้นและไหลออกจากองคชาตน้อยลง ทำเนื้อเยื่อรูพรุนที่อ่อนนุ่มแข็งตัวขึ้น

โรคที่เกี่ยวข้องกับองคชาต

โรคที่พบบ่อยและเกี่ยวข้องกับองคชาต อาจมีดังนี้

  • ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นภาวะที่ส่งผลต่อความต้องการทางเพศ ซึ่งทำให้องคชาตไม่แข็งตัว หรือไม่สามารถคงความแข็งตัวได้เป็นเวลานาน ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ไม่น่าพึงพอใจ โดยภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความเครียด อาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism) เป็นการแข็งตัวขององคชาตที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติ โดยไม่อ่อนตัวลงแม้จะไม่รับการกระตุ้น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของเส้นประสาท หลอดเลือด หรือระบบการไหลเวียนของเลือด อาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะขาดเลือดและเจ็บปวดองคชาตได้
  • รูเปิดท่อปัสสาวะต่ำกว่าปกติ (Hypospadias) เป็นภาวะพิการแต่กำเนิดโดยที่รูเปิดท่อปัสสาวะอยู่ด้านล่างขององคชาตแทนที่จะอยู่บริเวณส่วนปลายขององคชาต
  • องคชาตเล็กผิดปกติ (Micropenis) มักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนที่ส่งผลทำให้องคชาตเล็กผิดปกติ
  • ภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ (Phimosis) เป็นภาวะที่อาจพบได้บ่อยในเด็ก เนื่องจากหนังหุ้มปลายของหัวองคชาตไม่สามารถหดกลับไปสู่ตำแหน่งปกติได้ ภาวะนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเด็กอายุประมาณ 5-10 ขวบ แต่สำหรับบางคนอาจมีปัญหา เช่น บวม ปวด ปัสสาวะไหลช้า เลือดออก การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา
  • การอักเสบของหนังหุ้มหัวองคชาต (Balanoposthitis) เป็นการอักเสบที่อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส การระคายเคือง หรือบาดแผล อาจทำให้มีอาการแดง ผื่นคัน แผลพุพอง
  • การอักเสบของปลายอวัยวะเพศชาย (Balanitis) เป็นการอักเสบบริเวณปลายองคชาต มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ อาจทำให้มีอาการเจ็บ แสบ บวม แดงที่หัวองคชาต มีหนองไหลและมีกลิ่นเหม็น
  • การโค้งงอที่ผิดปกติขององคชาต (Chordee) เป็นภาวะขององคชาตที่โค้งงอผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดและไม่สามารถเหยียดตรงได้ บางคนอาจมีช่องปัสสาวะอยู่บริเวณด้านล่างขององคชาต ซึ่งในบางคนการโค้งงอผิดปกติอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ไม่สบายระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และการแข็งตัวขององคชาตอาจไม่เต็มที่
  • โรคไพโรนีย์ (Peyronie’s Disease) เป็นความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่ก่อตัวเป็นพังผืดแข็งบริเวณองคชาต ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจส่งผลทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศที่โค้งและเจ็บปวด หรือองคชาตอาจมีรูปร่างที่ผิดแปลกไป โดยความโค้งที่ผิดปกติอาจเกิดจากการบาดเจ็บของอวัยวะเพศชายในผู้ใหญ่หรือเงื่อนไขทางการแพทย์อื่น ๆ
  • ท่อปัสสาวะอักเสบ เป็นการอักเสบหรือการติดเชื้อบริเวณท่อปัสสาวะ มักทำให้มีอาการปวดและแสบขณะปัสสาวะ อาจมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน หนองในเทียม
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน หนองในเทียม ซิฟิลิส เริม หูด เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อราและปรสิต เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน อาจทำให้มีอาการเจ็บปวด แสบเมื่อปัสสาวะและมีเพศสัมพันธ์ แผลพุพอง คัน เป็นหนอง
  • มะเร็งองคชาต เป็นความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตอย่างผิดปกติและกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย มักพัฒนาจากเซลล์ผิวหนัง อาจทำให้มีอาการเป็นก้อนที่องคชาต กลิ่นเหม็น เจ็บปวด ผิวหนังหนา ตุ่มนูนเป็นสีน้ำตาล

วิธีการดูแลองคชาต

การดูแลสุขภาพองคชาตอาจทำได้ ดังนี้

  • ล้างทำความสะอาดองคชาตเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น โดยทำความสะอาดด้วยสบู่อ่อน ๆ และน้ำสะอาด เพื่อขจัดเหงื่อไคลและสิ่งสกปรก
  • เช็ดองคชาติให้แห้งอยู่เสมอ เพื่อป้องกันความอับชื้นซึ่งอาจเป็นที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดปัญสุขภาพทางเพศได้
  • ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์รุนแรงและมีส่วนผสมของน้ำหอม เพราะอาจทำให้ผิวหนังบริเวณองคชาตระคายเคืองได้
  • ตรวจดูสุขภาพองคชาตและลูกอัณฑะเป็นประจำทุกวัน เพื่อตรวจสอบความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น มีก้อนเนื้อ แผลบริเวณผิวหนังที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ
  • เมื่อมีเพศสัมพันธ์ควรสวมถุงยาอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำทุก 1 ปี แม้ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับคู่สมรสเพียงแค่คนเดียว เพื่อตรวจดูความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ ที่อาจส่งผลทำให้สุขภาพทางเพศและสมรรถภาพทางเพศลดลง นอกจากนี้ ยังอาจทำให้คุณภาพ ปริมาณและรูปร่างของอสุจิเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ในอนาคตได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Picture of the Penis. https://www.webmd.com/men/picture-of-the-penis. Accessed June 19, 2022

Penis. https://training.seer.cancer.gov/anatomy/reproductive/male/penis.html. Accessed June 19, 2022

Anatomy, Abdomen and Pelvis, Penis. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK482236/. Accessed June 19, 2022

Penile Cancer. https://www.webmd.com/cancer/penile-cancer-overview. Accessed June 19, 2022

Erectile dysfunction. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/erectile-dysfunction/symptoms-causes/syc-20355776#:~:text=Erectile%20dysfunction%2C%20also%20known%20as,that%20you%20are%20not%20alone. Accessed June 19, 2022

Balanoposthitis. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK553050/#:~:text=Balanoposthitis%20is%20an%20inflammation%20that,to%20inflammation%20of%20the%20prepuce. Accessed June 19, 2022

Balanitis. https://www.nhs.uk/conditions/balanitis/. Accessed June 19, 2022

Tight foreskin (phimosis). https://www.nhs.uk/conditions/phimosis/. Accessed June 19, 2022

Hypospadias. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hypospadias/symptoms-causes/syc-20355148. Accessed June 19, 2022

Priapism. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/priapism/symptoms-causes/syc-20352005#:~:text=Priapism%20is%20a%20prolonged%20erection,priapism%20are%20ischemic%20and%20nonischemic. Accessed June 19, 2022

Chordee. https://www.webmd.com/men/guide/chordee-repair-treatment. Accessed June 19, 2022

Peyronie’s disease. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/peyronies-disease/symptoms-causes/syc-20353468#:~:text=Peyronie’s%20(pay%2Droe%2DNEEZ,necessarily%20a%20cause%20for%20concern. Accessed June 19, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/07/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

อวัยวะเพศไม่แข็ง สาเหตุ และวิธีรักษา

ระบบสืบพันธุ์เพศชาย กับการทำหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา