backup og meta

อาการ ก่อน เป็น ประจำเดือน มีอะไรบ้าง บรรเทาอาการอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 25/08/2023

อาการ ก่อน เป็น ประจำเดือน มีอะไรบ้าง บรรเทาอาการอย่างไร

อาการ ก่อน เป็น ประจำเดือน อาจเกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน โดยอาจมีอาการทั้งทางด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ และด้านพฤติกรรม เช่น เจ็บหน้าอก ปวดหัว อารมณ์แปรปรวน อยากรับประทานอาหารมากกว่าปกติ ซึ่งอาการส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง แต่ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการก่อนเป็นประจำเดือนที่รุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

[embed-health-tool-ovulation]

อาการก่อนเป็นประจำเดือน คืออะไร 

อาการก่อนเป็นประจำเดือน (Premenstrual Syndrome หรือ PMS) คือ อาการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ มักเกิดก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ และพฤติกรรม เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ซึ่งอาการอาจจะบรรเทาลงเมื่อประจำเดือนมาหรือหมด

อาการ ก่อน เป็น ประจำเดือน

อาการก่อนเป็นประจำเดือนอาจแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และบางครั้งอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนก็อาจไม่เหมือนกัน โดยอาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้ 

อาการก่อนเป็นประจำเดือนทางด้านร่างกาย 

  • เจ็บเต้านม หรือคัดตึงเต้านม 
  • มือและเท้าบวม
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก หรือท้องเสีย 
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 
  • อยากรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น 
  • มีสิวขึ้น 

อาการก่อนเป็นประจำเดือนทางด้านอารมณ์

  • อารมณ์แปรปรวน หรือควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ 
  • เศร้า หดหู่ ร้องไห้บ่อย 
  • หงุดหงิด โมโหง่าย
  • เครียด 
  • สับสัน วิตกกังวล กระวนกระวาย 
  • นอนไม่ค่อยหลับ 
  • ไม่อยากพบปะผู้คน 
  • รู้สึกเหงา หวาดระแวง 

อาการก่อนเป็นประจำเดือนทางด้านพฤติกรรม 

  • เหนื่อยง่าย อ่อนล้า 
  • ขี้ลืม 
  • ไม่มีสมาธิ หรือสมาธิสั้น
  • สนใจเรื่องการมีเพศสัมพันธ์น้อยลง 

สาเหตุของ อาการก่อนเมนส์มา

ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดว่า อาการก่อนเป็นประจำเดือนเกิดจากสาเหตุใด อย่างไรก็ตาม อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น 

  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน เนื่องจากระดับฮอร์โมนไม่สมดุล และลดลงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน จึงอาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อย หงุดหงิดง่าย 
  • การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมองอย่าง เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารสื่อประสาทที่มีบทบาทต่อสภาวะทางอารมณ์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการก่อนเป็นประจำเดือนได้ หากระดับเซโรโทนินต่ำ อาจทำให้รู้สึกหงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ อยากรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากระดับเซโรโทนินสูง อาจมีอาการหนาวสั่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ ท้องเสีย
  • การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนเป็นประจำ 
  • มีความเครียดสะสม รวมถึงสภาพจิตใจและร่างกาย 
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน ผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่า 30 อาจมีแนวโน้มที่จะมีอาการก่อนเป็นประจำเดือนมากกว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักปกติประมาณ 3 เท่า

วิธีบรรเทาอาการก่อนเป็นประจำเดือน 

วิธีรักษาและบรรเทาอาการก่อนเป็นประจำเดือน อาจทำได้ดังนี้ 

  • ยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) แอสไพริน (Aspirin)
  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพื่อปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล
  • ยาขับปัสสาวะ เป็นยากระตุ้นการขับปัสสาวะ และอาจมีฤทธิ์ในการช่วยระบายของเหลวออกจากร่างกาย ทำให้อาจช่วยลดอาการท้องอืดและคัดตึงเต้านม อย่างไรก็ตาม ควรบอกคุณหมอให้ทราบว่ามีการใช้ตัวยาอื่น ๆ โดยเฉพาะการใช้ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) เพราะการใช้ยาขับปัสสาวะร่วมกับยา NSAIDS อาจส่งผลเสียต่อไต
  • การบำบัดและผ่อนคลาย หากมีอาการเครียดสะสมมานาน หรือมีภาวะซึมเศร้า ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการบำบัดหรือหาวิธีผ่อนคลายความเครียด 

วิธีป้องกันการมีอาการก่อนเป็นประจำเดือน 

การป้องกันอาการก่อนเป็นประจำเดือน อาจทำได้ด้วยวิธีการปรับไลฟ์สไตลบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช รวมถึงรับประทานพวกวิตามินบี 6 วิตามินอี แคลเซียม และแมกนีเซียม เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียว ปลาแซลมอน เนื่องจากสารอาหารเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้า ปวดศีรษะ หงุดหงิด วิตกกังวล และความอยากอาหาร 
  • ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน การออกกำลังกายยังทำให้ร่างกายผลิตสารเอนโดรฟิน (Endorphins) เป็นสารที่ทำให้มีความสุขและช่วยลดความเครียด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • รับมือกับความเครียดด้วยวิธีที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เล่นโยคะ นวดผ่อนคลาย ทำสวน
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Premenstrual syndrome (PMS). https://www.womenshealth.gov/menstrual-cycle/premenstrual-syndrome. Accessed November 4, 2021

Premenstrual syndrome (PMS). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/premenstrual-syndrome/symptoms-causes/syc-20376780. Accessed November 4, 2021

What Is PMS?. https://www.webmd.com/women/pms/what-is-pms. Accessed November 4, 2021

Premenstrual syndrome (PMS). https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/premenstrual-syndrome-pms. Accessed November 4, 2021

อาการก่อนมีประจำเดือน อาการที่ผู้หญิงเป็นแต่ผู้ชายอาจไม่รู้. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=36. Accessed November 4, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/08/2023

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?


บทความที่เกี่ยวข้อง

มูกไข่ตก เป็นอย่างไร ส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่

ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย กับปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง