backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ

1

ถามคุณหมอ
บันทึก

แสบช่องคลอด สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 26/02/2024

แสบช่องคลอด สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

แสบช่องคลอด เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อปรสิตในช่องคลอด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วัยหมดประจำเดือน นอกจากจะทำให้มีอาการแสบช่องคลอดแล้ว ยังอาจมีอาการคัน แสบ ร้อน เมื่อปัสสาวะ ร่วมกับตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือตกขาวมีปริมาณเเละสีเปลี่ยนแปลงไปร่วมด้วย การรักษาที่ต้นเหตุหลักของอาการ อาจช่วยบรรเทาอาการหรือรักษาอาการแสบช่องคลอดให้หายขาดได้

สาเหตุของอาการแสบช่องคลอด

ผู้หญิงหลายคนอาจมีอาการแสบช่องคลอด ซึ่งสาเหตุที่อาจพบได้บ่อยมีดังนี้

  • ช่องคลอดอักเสบ จากแบคทีเรีย

ช่องคลอดอักเสบ จากแบคทีเรีย เป็นภาวะที่สมดุลของแบคทีเรียที่เดิมทีอาศัยในช่องคลอดอยู่แล้วผิดปกติไป จนทำให้มีเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ก่อโรคได้มากเกินไป ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อเกิดขึ้น จนมีอาการแสบคันบริเวณช่องคลอด นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน ผู้ป่วยอาจมีอาการแสบคัน บริเวณด้านในและด้านนอกช่องคลอด รู้สึกแสบช่องคลอด ปวด แสบเมื่อปัสสาวะ ตกขาว มีกลิ่นคาวปลา หรืออาจมีอวัยวะเพศภายนอกบวม แดง คัน ร่วมด้วย

การรักษา คุณหมอมักรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น เมดโทรนิดาโซล (Metronidazole) ร่วมกับ ดอกซีไซคลิน (DoxycyclinX) หรือในรายที่แพ้ยาหรืออาการไม่ดีขึ้นอาจใช้ คลินดามัยซิน (Clindamycin)

  • การติดเชื้อราในช่องคลอด

การติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นภาวะที่ช่องคลอดติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) ที่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง แสบช่องคลอด ตกขาว และคันรุนแรง เนื่องจากการเติบโตของเชื้อราที่มากเกินไป พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีภาวะสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด และรักษาโรคด้วยยาปฏิชีวนะบางชนิด

การรักษา อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค คุณหมอมักให้ยาต้านเชื้อราชนิดครีม ยาเม็ด และยาเหน็บ เช่น มิโคนาโซล (Miconazole) เทอโคนาโซล (Terconazole) หรืออาจสั่งยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นการติดเชื้อในส่วนใดส่วนหนึ่งของทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ไต ท่อไต ท่อปัสสาวะกระเพาะปัสสาวะ โดยส่วนใหญ่การติดเชื้อมักเกิดขึ้นที่บริเวณท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้มีอาการเจ็บปวด แสบช่องคลอด แสบเมื่อปัสสาวะ ปัสสาวะน้อยและบ่อย ปัสสาวะมีกลิ่นแรง เป็นต้น

การรักษา คุณหมอมักรักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น ทริมเมโธพริม (Trimethoprim) ฟอสโฟมัยซิน (Fosfomycin) ไนโทรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) เซฟาเล็กซิน (Cephalexin) เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone)

  • โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis)

โรคพยาธิในช่องคลอดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากปรสิตที่มีชื่อว่า Trichomonas Vaginalis ในผู้หญิงมักทำให้มีอาการตกขาวมีกลิ่นเหม็น อาจมีสีขาว เทา เหลือง หรือเขียว คัน รู้สึกแสบช่องคลอด แสบเมื่อปัสสาวะ และปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์

การรักษา คุณหมออาจสั่งยาให้รับประทานเพื่อกำจัดเชื้อปรสิต เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ทินิดาโซล (Tinidazole)

  • โรคหนองในและหนองในเทียม

โรคหนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในผู้หญิงมักมีอาการแสบเมื่อปัสสาวะ ตกขาวมากกว่าปกติ ปวดท้อง ปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ แสบช่องคลอด คัน และอาจมีเลือดออก  ในผู้ชายรู้สึกแสบเมื่อปัสสาวะ คัน เจ็บปวดอัณฑะ และอาจมีหนองไหลออกมาทางองคชาต

โรคหนองในเทียมเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากการติดเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia Trachomatis) ในช่วงแรกของการติดเชื้อมักไม่แสดงอาการ ในผู้หญิงอาจทำให้เกิดปากมดลูกอักเสบและท่อปัสสาวะอักเสบ มีหนองในเยื่อบุโพรงมดลูก แสบช่องคลอด และเลือดออกง่าย  ในผู้ชายอาจเกิดโรคท่อปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะลำบาก มีหนองไหล เจ็บลูกอัณฑะ และท่อน้ำอสุจิอักเสบ

การรักษา สำหรับโรคหนองในและหนองในเทียมคุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หากมีอาการรุนแรงมากอาจได้รับยาทั้งแบบรับประทานและแบบฉีด นอกจากนี้ งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น

  • เริมที่อวัยวะเพศ

เริมที่อวัยวะเพศเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากไวรัสเริม HSV-1 และไวรัสเริม HSV-2 โดยไวรัสเริมสามารถติดต่อได้ผ่านทางสารคัดหลั่ง น้ำลาย ผิวหนัง และการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก อาจทำให้มีอาการรอยแตก รอยแดง คัน ชาที่อวัยวะเพศ แสบเมื่อปัสสาวะ รู้สึกแสบช่องคลอด นอกจากนี้ อาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดตัว ปวดหัว อ่อนเพลีย

การรักษา ยังไม่มีการรักษาโรคเริมให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันการกำเริบของโรคได้ด้วยยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) แฟมซิโคลเวียร์ (Famciclovir)

  • การระคายเคือง

การใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด น้ำยาทำความสะอาดช่องคลอด น้ำหอม สบู่ กางเกงซับในเนื้อหยาบ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า อาจทำให้ช่องคลอดระคายเคือง ร่วมกับมีอาการคันรุนแรง รู้สึกแสบช่องคลอด เจ็บปวด ผิวแห้ง เป็นต้น

การรักษา อาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการแพ้หรือระคายเคือง เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยน และหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด

  • วัยหมดประจำเดือน

วัยหมดประจำเดือนมักเกิดขึ้นในช่วงอายุประมาณ 40 หรือ 50 ปี เป็นช่วงเวลาสิ้นสุดของการมีประจำเดือน อาจทำให้มีอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาในการนอนหลับ ร่างกายอ่อนแอลง ผิวแห้ง ช่องคลอดแห้งจนอาจทำให้มีอาการแสบช่องคลอดได้

การรักษา อาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่สามารถบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นด้วยการบำบัดด้วยฮอร์โมน เช่น บำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน ยากล่อมประสาทขนาดต่ำ กาบาเพนติน (Gabapentin) ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ

การป้องกันอาการแสบช่องคลอด

วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันอาการแสบช่องคลอดได้

  • ทำความสะอาดช่องคลอดเป็นประจำทุกวันด้วยน้ำเปล่าหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอดสูตรอ่อนโยน แต่ไม่ควรเกินวันละ 2 ครั้ง เพราะอาจทำให้ช่องคลอดแห้งได้
  • หลังอาบน้ำหรือหลังเข้าห้องน้ำ ควรเช็ดอวัยวะเพศให้แห้งเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอดหรือกระดาษชำระที่มีส่วนผสมของน้ำหอม และหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำลายแบคทีเรียดีที่ชื่อว่า แลคโตบาซิลลัส ในช่องคลอดและทำให้ช่องคลอดระคายเคืองได้
  • สวมกางเกงและกางเกงชั้นในเนื้อผ้านุ่ม ใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่คับแน่นจนเกินไป และควรเปลี่ยนชุดชั้นในทุกวัน
  • บางคนอาจมีช่องคลอดแห้ง ควรใช้สารหล่อลื่นสำหรับช่องคลอดก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดแรงเสียดสี
  • ใช้ถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการเกาอวัยวะเพศ เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองมากกว่าเดิมได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 26/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา