backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ซิฟิลิส อาการ การรักษาและวิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/05/2022

ซิฟิลิส อาการ การรักษาและวิธีป้องกัน

ซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซิฟิลิส มักไม่แสดงอาการใด ๆ ในระยะแรก จึงอาจทำให้ผู้ป่วยแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ผื่นขึ้น อ่อนเพลีย และแผลบริเวณอวัยวะเพศ สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สามารถตรวจพบโรคตั้งแต่ในระยะแรก ๆ และทำการรักษาได้ทันท่วงที

ซิฟิลิส เกิดจากอะไร

ซิฟิลิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ที่อาจได้รับจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก หรือผ่านทางผิวหนังที่มีแผลเปิด อีกทั้งสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นซิฟิลิสก็อาจแพร่กระจายเชื้อสู่ทารกได้ในขณะคลอดบุตร

ซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็อาจกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีกเช่นกัน หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่สวมถุงยางขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคขณะตั้งครรภ์ ใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่น

ซิฟิลิส อาการเป็นอย่างไร

อาการของซิฟิลิส แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  1. ซิฟิลิสระยะที่ 1 (Primary syphilis) มีระยะฟักตัว 10-90 วัน โดยเชื้ออาจเข้าทางเยื่อบุปกติหรือเยื่อบุผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือฉีกขาดบริเวณอวัยวะเพศ ริมฝีปาก ลิ้น ทวารหนัก ในระยะแรกรอยโรคอาจมีลักษณะสีแดงเข้ม ต่อมาจะเป็นตุ่มเล็ก ๆ หลังจากนั้นจะแตกเป็นแผล ก้นแผลสะอาด ขอบแผลนูนแข็ง เรียกว่า โรคแผลริมแข็ง (chancre) แผลจะไม่เจ็บ นอกจากนี้ อาจมีการติดเชื้อโรคอื่นแทรกซ้อน ถ้าเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบอักเสบ (inguinal lymphnode) ได้ใน 7-10 วัน แผลในระยะนี้อาจหายเองได้ภายในเวลา 3-8 สัปดาห์
  2. ซิฟิลิสระยะที่ 2 (Secondary syphilis) เกิดหลังจากที่เป็นแผลโรคซิฟิลิสระยะที่ 1 ประมาณ 3-12 สัปดาห์ แต่อาจจะนานหลายเดือนได้ ระยะนี้จะมีอาการแสดงในอวัยวะหลายระบบ มักมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือกระดูก มีผื่นหลายแบบ ถ้าพบบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า จะลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ไม่คัน หรือรอยโรคเฉพาะที่มีลักษณะเป็นผื่นนูนหนา เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่อับชื้น เช่น บริเวณรอบอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ผมร่วง ม่านตาอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นประสาทสมองเสื่อม ตับอักเสบ ม้ามโต เยื่อหุ้มกระดูกอักเสบ กรวยไตอักเสบ
  3. ซิฟิลิสระยะแฝง (Latent syphilis) หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ก็อาจเข้าสู่ซิฟิลิสระยะแฝง ที่อาการต่าง ๆ อาจหายไป แต่เชื้อแบคทีเรียจะยังคงอยู่ในร่างกาย โดยอาจใช้เวลานานหลายปีก่อนจะพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 3
  4. ซิฟิลิสระยะที่ 3 (Tertiary syphilis) เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อโรคซิฟิลิส หลังจากโรคสงบอยู่ในระยะแฝงนานตั้งแต่ 2 ปี เป็นต้นไป ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา จะแสดงอาการของโรคในระยะนี้ ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อแบคทีเรียเข้าทำลายหัวใจและหลอดเลือดทำให้การทำงานของหัวใจเสื่อม หรือล้มเหลวได้ในที่สุด
  5. โรคซิฟิลิสของระบบประสาท (neurosyphilis) สามารถเกิดได้ในทุกระยะของโรคซิฟิลิส อาจมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ ซึ่งวินิจฉัยจากตรวจน้ำไขสันหลัง หากมีอาการจะปวดศีรษะ มีไข้ หรือมีอาการเหมือนผู้ป่วยเส้นโลหิตสมองตีบ เช่น แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก หรืออาจถึงขึ้นสมองเสื่อมได้ นอกจากนี้ ยังอาจพบความผิดปกติทางตา เช่น ม่านตาอักเสบ มีอาการปวดตา ตาแดง ตาสู้แสงไม่ได้ และความผิดปกติ ทางหู เช่น สูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับเสียงบกพร่อง
  6. สำหรับทารกที่ได้รับเชื้อซิฟิลิสจากแม่ อาจมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า มีอาการหูหนวก ฟันและจมูกผิดรูป และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

    การรักษาโรคซิฟิลิส

    การรักษาโรคซิฟิลิส สามารถรักษาได้ด้วยยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) คือ ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะในรูปแบบฉีด การรักษาขึ้นกับระยะของโรค

    • ผู้ป่วยระยะที่ 1-2 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วย 1 ครั้ง 
    • ผู้ป่วยระยะแฝงหรือระยะที่ 3 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกัน 3 สัปดาห์

    สำหรับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน คุณหมออาจเปลี่ยนให้ใช้ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) ร่วมกับยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) นอกจากนี้ สตรีตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้เพนิซิลลิน อาจต้องเข้ารับการบำบัดด้วยเทคนิค ดีเซนซิทิเซชั่น (Desensitization) ที่เป็นกระบวนการช่วยลดความไวต่อยาเพนิซิลลิน เนื่องจากยาเพนิซิลลินเป็นยารักษาโรคซิฟิลิสเพียงชนิดเดียวที่แนะนำให้ใช้กับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์

    ในการรักษาครั้งแรกผู้ป่วยบางคนอาจมีผลข้างเคียงซึ่งเกิดจากปฏิกิรยาของระบบภูมิคุ้มกันเรียกว่า จาริช-เฮิร์กไซเมอร์ (Jarisch-Herxheimer Reaction) ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดท้อง ผื่นขึ้นบนผิวหนัง และปวดกล้ามเนื้อและข้อ โดยอาการจะบรรเทาลงและอาจหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง

    ทารกแรกเกิดอาจเสี่ยงติดซิฟิลิสจากมารดาได้ระหว่างตั้งครรภ์ โดยทารกที่ติดเชื้ออาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะตามการประเมินของคุณหมอ โดยทำการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจนกว่าคุณหมอจะอนุญาตให้กลับบ้านได้

    วิธีป้องกันโรคซิฟิลิส

    วิธีป้องกันโรคซิฟิลิส และอาการต่าง ๆ อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงใช้แผ่นยางอนามัยหากมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางปาก เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • ไม่ควรใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่น และควรล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังใช้งาน
    • ระมัดระวังการสัมผัสกับบาดแผลเปิดของผู้ติดเชื้อ อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากบริเวณอวัยวะเพศหรือปากมีบาดแผล
    • เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และสำหรับสตรีตั้งครรภ์ควรตรวจคัดกรองโรคตามที่คุณหมอนัดหมาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/05/2022

    ad iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    ad iconโฆษณา
    ad iconโฆษณา