backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

โรคติดเชื้อ HPV อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/02/2022

โรคติดเชื้อ HPV อาการ สาเหตุ และการรักษา

การติดเชื้อ HPV เป็นการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสผิวหนังโดยตรง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก และผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง อาจทำให้เกิดการเติบโตของเยื่อบุผิวหนังกลายเป็นหูด สร้างความเจ็บปวดและไม่สบายตัว รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งบางชนิด การดูแลตัวเองและฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV อาจช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อได้

คำจำกัดความ

HPV คืออะไร

HPV  (Human Papilloma Virus) ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เช่น หูดหงอนไก่ หรือมะเร็งตามเยื่อบุต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก หรือในช่องปากและลำคอ โดยเชื้อ HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ บางชนิดอาจทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือลำคอ และบางชนิดอาจทำให้เกิดมะเร็ง เช่น HPV16, HPV18, HPV31, HPV33, HPV35

การติดเชื้อ HPV สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง  ผ่านทางบาดแผลหรือรอยถลอกบนผิวหนัง หรือผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก และช่องปาก

อาการ

อาการ HPV

โดยปกติแล้วการติดเชื้อ HPV มักจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่หากระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อ HPV ได้ จะปรากฏเป็นหูดขึ้นบนร่างกายโดยมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • หูดทั่วไป มีลักษณะเป็นตุ่มนูนหยาบ มักเกิดขึ้นบริเวณมือและนิ้วมือ มีอาการเจ็บปวด และอาจเป็นแผลง่าย หรือมีเลือดออกง่าย
  • หูดที่ฝ่าเท้า มีลักษณะเป็นตุ่มแข็งเล็ก ๆ มักเกิดขึ้นบริเวณส้นเท้าและตาตุ่ม อาจทำให้มีอาการเจ็บปวด
  • หูดที่อวัยวะเพศ มีลักษณะเป็นแผลแบน หรือตุ่มนูนกระจาย ในผู้หญิงมักปรากฏที่ช่องคลอด ใกล้กับทวารหนัก ปากมดลูก หรือในช่องคลอด ส่วนผู้ชายมักปราฏบริเวณอวัยวะเพศ ถุงอัณฑะหน้าขา ต้นขา โคนขา หรือรอบทวารหนัก
  • หูดแบน มีลักษณะเป็นแผลแบน ด้านบนนูนเล็กน้อย สามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณของร่างกาย ในเด็กมักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า ผู้หญิงเกิดขึ้นบริเวณขา และผู้ชายมักเกิดขึ้นบริเวณเครา

หากผู้ป่วยมีหูดเกิดขึ้นบนผิวหนังก่อให้เกิดอาการไม่สบายตัว เจ็บปวด หรือสร้างความอับอาย ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาทันที

มะเร็งปากมดลูก

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ HPV มะเร็งปากมดลูกในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ อีกทั้งยังอาจใช้เวลานานหลายปีในการพัฒนาติดเชื้อ จนเกิดเป็นรอยโรคที่ปากมดลูกที่เรียกว่า ระยะก่อนมะเร็ง จนสุดท้ายพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจคัดกรองเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ HPV ถ้าพบการติดเชื้อ ควรได้รับการตรวจคัดกรองหาเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติ ที่อาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งร่วมด้วย และเข้ารับการปรึกษากับสูตินรีเเพทย์ แต่ถ้าไม่สามารถตรวจหาการติดเชื้อ HPV ได้ อาจตรวจเฉพาะการคัดกรองหาเซลล์เพียงอย่างเดียว หรือที่เรียกว่า pap smear หรือเลือกตรวจเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้

ผู้หญิงอายุ 21-29 ปี ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 3 ปี ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 30-65 ปี ควรตรวจต่อเนื่องทุก 3 ปี หรือ 5 ปี นอกจากนี้ ควรฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV เพราะเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อ และลดโอกาสที่เชื้อพัฒนากลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

สาเหตุ

สาเหตุของ HPV

การติดเชื้อ HPV อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • การติดเชื้อ HPV ทางผิวหนัง เกิดขึ้นเมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล รอยถลอกที่ผิวหนัง ซึ่งไวรัสจะแพร่กระจายผ่านทางผิวหนังเป็นหลัก
  • การติดเชื้อ HPV ทางอวัยวะเพศ เกิดขึ้นเมื่อผู้ที่ติดเชื้อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันผ่านทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก นอกจากนี้ การสัมผัสกับผิวหนังบริเวณปากหรืออวัยวะเพศก็อาจทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน

หูดที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ HPV เป็นโรคติดต่อ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสโดยตรงกับหูด นอกจากนี้ ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีหูดที่บริเวณอวัยวะเพศ อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ทารกติดเชื้อได้เช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลให้กล่องเสียงของทารกมีก้อนที่เกิดจากการติดเชื้อ และส่งผลกระทบต่อการหายใจของทารก

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยง HPV

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มโอกาสติดเชื้อ HPV ได้ ดังนี้

  • การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย จะเพิ่มโอกาสติดเชื้อ HPV ที่อวัยวะเพศมากขึ้น เนื่องจากเชื้ออาจแพร่กระจายผ่านการสัมผัส โดยเฉพาะผู้ไม่สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
  • บาดแผลที่ผิวหนัง เชื้อสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัส และสามารถเข้าสู้ร่างกายได้ผ่านบาดแผลหรือรอยถลอกบนผิวหนัง
  • การสัมผัสใกล้ชิด การสัมผัสหูดจากผิวหนังของผู้อื่น หรือไม่สวมอุปกรณ์ป้องกันก่อนสัมผัสพื้นผิวที่สัมผัสกับเชื้อ HPV เช่น ที่อาบน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HPV มากขึ้น เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันที่ใช้หลังการปลูกถ่ายอวัยวะ

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย HPV

คุณหมออาจวินิจฉัยการติดเชื้อ HPV ด้วยการตรวจดูลักษณะภายนอกของหูด หรืออาจทำการทดสอบอื่นเพิ่มเติม ได้แก่

  • การทดสอบด้วยสารอะซิติก (Acetic acid) โดยการทาสารละลายน้ำส้มสายชูลงไปบริเวณที่สงสัยว่าติดเชื้อ หากติดเชื้อบริเวณนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีขาว สามาถช่วยในการระบุโรคได้
  • การตรวจดีเอ็นเอ (DNA) ทดสอบเซลล์ปากมดลูก ตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงสูงพัฒนาไปเป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศได้

การวินิจฉัย HPV ในปากมดลูก

หากคุณหมอวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อ HPV ชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือ ตรวจคัดกรองจากเซลล์พบว่ามีรอยโรคระยะก่อนมะเร็งที่ปากมดลูก โดยที่ปากมดลูกมองด้วยตาเปล่ายังไม่เห็นรอยโรค จะได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการตรวจด้วยกล้องขยายปากมดลูกทางช่องคลอด (Colposcopy) เป็นเครื่องมือที่ให้ภาพขยายของปากมดลูก โดยจะตรวจดูปากมดลูกอย่างละเอียดและเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณที่ผิดปกติมาวิเคราะห์ จากนั้นอาจทำการรักษาด้วยวิธีที่จะกล่าวต่อไปนี้การรักษา HPV

หูดอาจหายไปเองได้โดยไม่ต้องรักษา แต่สำหรับการติดเชื้อ HPV ไม่สามารถรักษาได้ จึงอาจทำให้อาการกลับมาเป็นซ้ำได้อีก การรักษาจึงอาจเป็นเพียงวิธีควบคุมอาการไม่ให้ลุกลามหรือพัฒนาเป็นโรคแทรกซ้อนอื่น หรือกลายไปเป็นมะเร็ง ดังนี้

รักษาด้วยยา

เป็นยาใช้รักษาหูดที่ใช้กับแผลโดยตรง ได้แก่

  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ออกฤทธิ์เพื่อขจัดชั้นของหูดออก ใช้สำหรับหูดทั่วไป กรดซาลิไซลิกอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง จึงไม่ควรใช้กับใบหน้า
  • กรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic acid) ใช้กำจัดหูดที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอวัยวะเพศ อาจทำให้เกิดการระคายเคือง
  • ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) ใช้เพื่อเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับการติดเชื้อ HPV ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ รอยแดงและอาการบวม
  • ยาโพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) ช่วยทำลายเนื้อเยื่อหูดที่อวัยวะเพศ อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนและคันบริเวณที่ทา

การศัลยกรรมและการรักษาอื่น ๆ

หากการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล คุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษาแบบอื่น ดังนี้

  • การศัลยกรรมเลเซอร์
  • การผ่าตัดเอาหูดออก
  • การแช่แข็งหูดด้วยไนโตรเจนเหลว
  • การจี้ด้วยกระแสไฟฟ้า

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV สามารถทำได้ ดังนี้

  • พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ HPV หรือการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ
  •  ควรสวมรองเท้าทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ HPV ที่ฝ่าเท้า โดยเฉพาะเมื่อต้องออกไปใช้บริเวณในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องอาบน้ำ ห้องน้ำสาธารณะ
  • ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม การใช้ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณอื่นได้
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงเชื้อ HPV หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้
  • ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV โดยแนะนำให้ฉีดตั้งแต่เด็กอายุ 11-12 ปี ขึ้นไป เพื่อป้องกันเชื้อและลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/02/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา