backup og meta

โรคเริม อาการ สาเหตุ การรักษา

โรคเริม อาการ สาเหตุ การรักษา

โรคเริม เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ HSV-1 มักก่อให้เกิดเริมที่ปาก และ HSV-2 มักก่อให้เกิดเริมที่อวัยวะเพศ สังเกตได้จากจะมีตุ่มน้ำใสบริเวณที่ติดเชื้อ โรคเริมพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย และสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสเชื้อกับแผล มีเพศสัมพันธ์ หรือใช้ของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ

คำจำกัดความ

โรคเริม คืออะไร

โรคเริม (Herpes) คือ โรคผิวหนังที่สามารถแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนได้ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ที่มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ HSV-1 และ HSV-2 โดยเชื้อ HSV-1 มักก่อให้เกิดโรคเริมที่ปากหรือบริเวณรอบปาก ส่วนเชื้อ HSV-2 มักก่อให้เกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศ

เริมที่พบได้บ่อย เช่น

  • เริมที่ปาก สามารถติดเชื้อได้จากสารคัดหลั่ง เชน น้ำลาย น้ำเหลือง น้ำอสุจิ อาการที่สังเกตได้ เช่น มีตุ่มน้ำใสบริเวณริมฝีปาก
  • เริมที่อวัยวะเพศ สามารถติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัส โดยอาจมีตุ่มน้ำใสและคันบริเวณอวัยวะเพศ เช่น ช่องคลอด ทวารหนัก ถุงอัณฑะ 

ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการทันทีหลังติดเชื้อ แต่อาการมักปรากฏเมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เครียด โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เชื้อมักจะแฝงอยู่ในปมประสาท และหากถูกกระตุ้นก็สามารถทำให้อาการกำเริบได้

โรคเริมพบบ่อยเพียงใด

โรคเริมสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย มักพบได้ในวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ ซึ่งการเกิดโรคพบได้ในหลายตำแหน่ง แต่ที่พบได้บ่อย คือ บริเวณริมฝีปากและอวัยวะเพศ

อาการ

อาการของโรคเริม

เริมที่ปากและเริมที่อวัยวะเพศมีอาการค่อนข้างคล้ายกัน คือ จะมีตุ่มน้ำหรือแผลพุพองในบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น ริมฝีปาก คาง คอ อวัยวะเพศ ทวารหนัก หลังจากนั้นตุ่มหรือแผลจะแตกออกกลายเป็นสะเก็ด รวมถึงอาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย หากเป็นผู้หญิงอาจมีอาการตกขาวมามากผิดปกติ อวัยวะเพศมีกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ และคันอวัยวะเพศ  

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากเจ็บหรือปวดแผลอย่างรุนแรง ไข้สูง และมีปัญหาในการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ รวมถึงเป็นกังวลว่าจะเป็นโรคเริม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย 

สาเหตุ

สาเหตุของโรคเริม

โรคเริมเกิดจากการติดเชื้อ Herpes Simplex virus หรือที่อาจเรียกว่า เชื้อ เอชเอสวี (HSV) ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ 

  1. HSV-1 มักพบการติดเชื้อบริเวณปากหรือรอบ ๆ ริมฝีปาก เชื้อไวรัสแพร่กระจายผ่านการสัมผัสผิวหนังของผู้ที่ติดเชื้อ การจูบ การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก การใช้ของร่วมกัน และยังอาจสามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณอวัยวะเพศได้ 
  2. HSV-2 มักเป็นชนิดที่ทำให้เกิดเริมที่อวัยวะเพศ เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ทหารหนัก ถุงอัณฑะ โดยไวรัสจะแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์และการสัมผัสผิวหนัง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเริม

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเริม เช่น 

  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือมีเพศสัมพันธ์โดยการใช้ปาก
  • จูบกับผู้ที่ติดเชื้อ
  • เปลี่ยนคู่นอนบ่อย 
  • ใช้ของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ 

การรักษาอาจช่วยให้อาการบรรเทาลง แต่ไม่สามารถขจัดเชื้อออกจากร่างกายได้ เชื้อจะสะสมอยู่ในปมประสาท และหากมีปัจจัยกระตุ้น เช่น เครียด พักผ่อนน้อย มีประจำเดือน ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาการของโรคก็อาจกำเริบได้ทุกเมื่อ 

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคเริม

การวินิจฉัยโรคเริมอาจสามารถทำได้ดังนี้ 

  • การพิจารณาจากตำแหน่งและลักษณะของตุ่มน้ำ
  • การตรวจเลือด เพื่อหาแอนติบอดี หรือภูมิต้านทานโรคเริม
  • การตรวจชิ้นเนื้อ โดยการขูดเอาเนื้อเยื่อจากตุ่มน้ำหรือแผลไปตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส
  • การเพาะเชื้อ เพื่อระบุว่าเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใด

การรักษาโรคเริม

โรคเริมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่วิธีเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการได้ 

  • รับประทานยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ฟามซิโคลเวียร์ (Famciclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) อาจช่วยลดความเสี่ยงที่ไวรัสจะแพร่กระจาย
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อลดไข้ และบรรเทาอาการปวดเมื่อย
  • ยาทาภายนอก เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เพนซิโคลเวียร์ (Penciclovir) อาจช่วยลดอาการปวด ทำให้ผื่นแห้งเร็วขึ้น รวมถึงอาจช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส 

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์บางอย่างและการดูแลตัวเองอาจช่วยรับมือกับโรคเริมได้ 

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสทางกาย เช่น การจูบ การหอม 
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม ผ้าเช็ดตัว 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันสามารถต่อสู่กับเชื้อโรคในร่างกายได้ ลดความเสี่ยงที่อาการจะกำเริบพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • พยายามไม่เครียด
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Genital herpes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/genital-herpes/symptoms-causes/syc-20356161. Accessed November 25, 2021

Herpes Simplex Virus: HSV-1 & HSV-2. https://www.webmd.com/genital-herpes/pain-management-herpes#. Accessed November 25, 2021

Genital Herpes – CDC Fact Sheet. https://www.cdc.gov/std/herpes/stdfact-herpes.htm. Accessed November 25, 2021

Oral Herpes. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/herpes-hsv1-and-hsv2/oral-herpes. Accessed November 25, 2021

Oral Herpes. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/oral-herpes. Accessed November 25, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/11/2021

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคข้ออักเสบไรเตอร์ จากการมีเพศสัมพันธ์

หูดข้าวสุก เกิดจากอะไร และป้องกันได้อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 25/11/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา