backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

Nymphomaniac ภาวะเสพติดเซ็กส์ อันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/06/2023

Nymphomaniac ภาวะเสพติดเซ็กส์ อันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

Nymphomaniac หรือ โรคนิมโฟมาเนีย คือภาวะทางจิตที่ทำให้ชอบใช้จินตนาการเกี่ยวกับเรื่องเพศและหมกมุ่นในกิจกรรมทางเพศมากกว่าปกติ ซึ่งอาจกระทบต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ หน้าที่การงานและเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตได้ ทั้งนี้ ภาวะ Nymphomania รักษาให้หายได้ซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การทำจิตบำบัด และการเข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือ

Nymphomaniac คืออะไร

ภาวะนี้เป็นอาการเสพติดเซ็กส์ (Sexual addiction) ที่อาจรู้จักกันในชื่ออื่นด้วย เช่น ภาวะความต้องการทางเพศสูงกว่าปกติ (Hypersexuality) พฤติกรรมทางเพศแบบย้ำทำ (Compulsive Sexual Behavior) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้มีความคิด ความต้องการ หรือพฤติกรรมเกี่ยวกับเรื่องเพศที่มากกว่าปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการใช้ชีวิตประจำวันได้

อาการของ Nymphomaniac

อาการของNymphomaniac มักมีดังนี้

  • มีจินตนาการ ความต้องการ และพฤติกรรมเกี่ยวกับเรื่องเพศที่รุนแรงและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
  • รู้สึกถึงความต้องการทางเพศหรือมีแรงขับทางเพศบ่อยครั้งกว่าปกติ เมื่อได้สำเร็จความต้องการทางเพศแล้วจะรู้สึกว่าได้ปลดปล่อยอย่างเต็มที่ แต่ก็อาจมีความรู้สึกผิดหรือความรู้สึกเสียใจอย่างมากร่วมด้วย
  • เคยพยายามควบคุมความรู้สึกและพฤติกรรมทางเพศของตัวเองแล้วแต่ไม่ได้ผล
  • ใช้พฤติกรรมทางเพศแบบย้ำทำเป็นหนทางในการหนีปัญหาอื่น ๆ ในชีวิต เช่น ความเหงา ความเครียดความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า
  • ยังคงรู้สึกเสพติดกับความต้องการมีเพศสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมทางเพศอยู่บ่อยครั้งมากกว่าปกติ แม้ว่าจะเคยทำให้เกิดปัญหาในชีวิตมาก่อน เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ การติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปัญหาที่ทำงาน ปัญหาการเงิน ปัญหาด้านกฎหมาย
  • มีปัญหาในการสร้างหรือรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและมั่นคง

วิธีรับมือกับ Nymphomaniac อย่างเหมาะสม

วิธีรับมือที่อาจช่วยให้ความต้องการทางเพศมีความสมดุลมากขึ้น อาจทำได้ดังนี้

  • ไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ที่รู้สึกว่าตนเองเริ่มเสพติดกิจกรรมทางเพศเพื่อป้องกันอาการแย่ลง การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอาจมีส่วนช่วยลดความรู้สึกอับอาย ปัญหาความสัมพันธ์ รวมไปถึงพฤติกรรมที่อาจป็นอันตรายต่อสุขภาพตัวเองและผู้อื่นได้
  • หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่อาจกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยง
  • สำหรับผู้ที่มีสุขภาพจิตแย่ หรือรู้สึกถึงความรู้สึกด้านลบมาเป็นเวลาระยะหนึ่ง ควรเข้าพบบุคลากรทางการแพทย์ เช่น นักจิตบำบัด จิตแพทย์ ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรคจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ที่อาจทำให้พฤติกรรมทางเพศแย่ลง
  • ลด ละ เลิก การดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติดที่กระทบต่อวิจารณญาณและสติสัมปชัญญะ เพราะอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดและก่อให้เกิดพฤติกรรมทางเพศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการควบคุมตัวเองเกี่ยวกับความต้องการทางเพศและพฤติกรรมทางเพศ ซึ่งสร้างปัญหาให้ทั้งต่อตัวเองและคนอื่น ควรพบคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากอาการของภาวะนี้มักมีแนวโน้มที่จะแย่ลงเรื่อย ๆ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาอย่างถูกต้อง ผู้ที่คิดว่าตัวเองมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมความต้องการทางเพศอาจพิจารณาภาวะสุขภาพจิตของตัวเองจากคำถามต่อไปนี้

  • สามารถควบคุมความต้องการทางเพศของตัวเองได้หรือไม่
  • มีความสุขจากพฤติกรรมทางเพศที่เป็นอยู่หรือไม่
  • พฤติกรรมทางเพศส่งผลกระทบในด้านลบต่อความสัมพันธ์ การงาน หรือก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรง เช่น ทำให้ถูกจับ หรือไม่
  • พฤติกรรมทางเพศเป็นเรื่องที่ต้องหลบซ่อนจากคนอื่นหรือไม่

นอกจากนี้ ควรติดต่อขอความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์โดยเร็ว หากมีความรู้สึกต่อไปนี้

  • รู้สึกว่าอาจจะทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นเนื่องจากมีพฤติกรรมทางเพศที่เหนือการควบคุม
  • รู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมทางเพศของตัวเองได้อีกต่อไป
  • คิดฆ่าตัวตาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา