หนังศีรษะอักเสบ คือ อาการแสบหรือแดงของหนังศีรษะ อาจทำให้ผมร่วงในบางราย โดยเกิดจากความผิดปกติของหนังศีรษะ เช่น โรคต่อมไขมันอักเสบ โรครูขุมขนอักเสบ ซึ่งเป็นอาการที่หลีกเลี่ยงและป้องกันได้โดยการรักษาความสะอาด ดูแลเส้นผมและหนังศีรษะอย่างสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงอุปกรณ์ทำผมที่ใช้ความร้อนมากจนเกินไป
[embed-health-tool-heart-rate]
อาการหนังศีรษะอักเสบ
อาการของ หนังศีรษะอักเสบ ที่พบได้ คือ
- หนังศีรษะเจ็บหรือแสบ โดยเฉพาะเมื่อเหงื่อออกหรือโดนแสงแดด
- หนังศีรษะลอกเป็นแผ่น เป็นขุย หรือเกิดรังแค
- หนังศีรษะหรือรูขุมขนบนหนังศีรษะบวมแดง
- รู้สึกคันบริเวณหนังศีรษะ
- อาจมีผมร่วง
สาเหตุของหนังศีรษะอักเสบ
หนังศีรษะอักเสบ อาจเกิดจากความผิดปกติบริเวณหนังศีรษะ ซึ่งมักเป็นโรคเกี่ยวกับผิวหนังต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน
โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน หรือ “เซบเดิร์ม” (Seborrheic Dermatitis) เป็นการอักเสบของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ เชื้อรามาลาสเซเซีย (Malassezia) การทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน การแปรปรวนของฮอร์โมน
อาการที่พบคือ มีผื่นแดงบนหนังศีรษะ ร่วมกับอาการคัน เป็นรังแค ผิวหนังลอกเป็นแผ่น ทั้งนี้ โรคผื่นแพ้ต่อมไขมันยังเกิดขึ้นที่บริเวณอื่นของร่างกายได้ด้วย เช่น ใบหน้า แผ่นหลัง ขาหนีบ ใต้เต้านม หลังใบหู หน้าอก
เนื่องจากอาการของโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน มีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคผิวหนังหลาย ๆ โรค ทั้งสะเก็ดเงิน ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เกลื้อน โรซาเซีย (Rosacea) จึงควรเข้ารับการตรวจสภาพของผิวหนัง หรืออาจต้องตัดชิ้นเนื้อผิวหนังบางส่วนออกไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคผื่นแพ้ต่อมไขมันหรือไม่
วิธีการรักษา
โรคผื่นแพ้ต่อมไขมันอาจหายเองได้หากเกิดกับเด็กทารก แต่โดยปกติสำหรับคนทั่วไป คุณหมอจะเลือกรักษาด้วยวิธีการดังนี้
- ควบคุมการอักเสบ ด้วยแชมพู ครีม หรือขี้ผึ้ง ที่มีส่วนผสมของยาต่าง ๆ เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone) โคลเบทาซอล (Clobetasol) ซึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาการอักเสบทางผิวหนังต่าง ๆ
- กำจัดเชื้อรา ด้วยผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อรา ในรูปแบบของแชมพู ครีม ขี้ผึ้ง รวมถึงยาสำหรับรับประทาน โดยยาเม็ดจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่คุณหมอเลือกใช้ เนื่องจากผลข้างเคียงของตัวยาอาจทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนได้
โรครูขุมขนอักเสบ
โรครูขุมขนอักเสบ คือการอักเสบของรูขุมขนบนหนังศีรษะ เนื่องจากสาเหตุหลายประการ อาทิ
- แบคทีเรียต่าง ๆ เช่น สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ซึ่งอาศัยอยู่บนผิวหนัง และเกิดการติดเชื้อหากร่างกายมีบาดแผล
- ขนคุด หรือเส้นผมหรือขนที่อุดตันในรูขุมขนเนื่องจากการอุดตันของรูขุมขน
- ยาบางอย่างที่ใช้สำหรับลดการอักเสบของร่างกาย เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
- เชื้อรา ซึ่งเกิดจาการไปสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อรา หรือติดจากการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคอยู่ก่อนแล้ว
อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยรูขุมขนอักเสบ ประกอบด้วย หนังศีรษะอักเสบ มีแผลพุพอง เกิดตุ่มแดงคล้ายสิว มีฝีฝักบัว มีอาการคัน ระคายเคือง หรือรู้สึกเจ็บปวดบริเวณหนังศีรษะ
วิธีการรักษา
โรครูขุมขนอักเสบในระดับที่ไม่รุนแรงอาจหายได้เอง อย่างไรก็ตาม เมื่อไปพบคุณหมอ มักได้รับการรักษาด้วยวิธีดังนี้
- ควบคุมการอักเสบ ด้วยครีมหรือโลชั่นหากอาการของโรคไม่รุนแรง ทั้งนี้ ในกรณีอาการป่วยรุนแรง คุณหมอจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาเม็ดร่วมด้วยเพื่อลดปริมาณของเชื้อโรค
- กำจัดเชื้อรา ด้วยผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อรา ในรูปแบบของครีม แชมพู หรือยาเม็ดสำหรับรับประทาน
- ผ่าตัด ในกรณีผู้ป่วยมีตุ่มหนองหรือฝีฝักบัว คุณหมอจะผ่าตัดเล็กเพื่อกำจัดตุ่มหนองหรือฝี แล้วดูดหนองออก จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ
กลากที่หนังศีรษะ
โรคกลากที่หนังศีรษะ เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) บนหนังศีรษะ ผู้ป่วยจะมีผื่นวงแหวนบนหนังศีรษะ ตรงกลางเรียบและมีขอบนูน หนังศีรษะอักเสบ มีอาการคัน พบรังแค และผมร่วงเป็นหย่อม ๆ โดยกลากที่หนังศีรษะสามารถติดต่อกันได้ด้วยการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน อาทิ หวี ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว หมวก เป็นโรคที่มักพบในเด็กอายุ 3-7 ปี รวมถึงในผู้ใหญ่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
วิธีการรักษา
โรคกลากที่หนังศีรษะ สามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- รับประทานยาเม็ดต้านเชื้อรา เช่น กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ซึ่งมีฤทธิ์ในการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา มักใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองกับยาทาภายนอก มีผลข้างเคียงคือ อาจทำให้ปวดหัว คลื่นไส้ หน้ามืด วิงเวียน หรือพบผื่นขึ้นตามลำตัว
- ใช้ยาสระผมซึ่งมีตัวยาเฉพาะ อันมีส่วนผสมของยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งมีฤทธิ์รักษาเชื้อราในร่างกายและบนผิวหนัง และซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ซึ่งช่วยลดอาการคันหนังศีรษะและลดการเกิดรังแค
โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ
สะเก็ดเงินที่หนังศีรษะมักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินเกินกว่าครึ่ง โดยสาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งทำให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนขึ้นมากอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่การตกสะเก็ดสีเงิน ขาว หรือเหลือง ทั้งนี้ โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย คือ หนังศีรษะอักเสบ มีผื่นแดงบริเวณหนังศีรษะ หน้าผาก ท้ายทอย และหลังใบหู โรคสะเก็ดเงินสามารถเป็นพร้อมโรคผื่นแพ้ต่อมไขมันได้ เรียกว่า โรคสะเก็ดเงินที่คาบเกี่ยวโรคเซ็บเดิร์ม (Sebopsoriasis)
วิธีการรักษา
โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะแม้ไม่ใช่โรคติดต่อแต่เป็นโรคทางพันธุกรรมซึ่ง สามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนี้
- รับประทานยา คุณหมอจะจ่ายยารักษา เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ซึ่งใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินโดยเฉพาะ ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) มักเป็นยาทางเลือกหากใช้ยาตัวอื่นไม่ได้ผล
- ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลหนังศีรษะ เช่น โลชั่น น้ำมัน ยาสระผม ซึ่งมีน้ำมันดิน กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) หรือสารแอนทราลิน (Anthralin) เป็นส่วนผสม อันมีคุณสมบัติทำให้ผิวหนังหลุดลอก ผลัดเซลล์ผิวเก่า และสลายเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว
- บำบัดด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) หรือการลดการแพร่กระจายของเซลล์ผิวที่ผิดปกติ ด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเล็ต
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
คำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงหนังศีรษะอักเสบได้
- สระผมอย่างเบามือ เพื่อป้องกันหนังศีรษะเป็นแผล หรือสร้างความระคายเคืองให้หนังศีรษะ ลดการเกิดรังแค หรือหนังศีรษะหลุดลอก
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น หวี หมอน หมวก รวมถึงหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่เป็นกลากที่หนังศีรษะ
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ทำผมที่ใช้ความร้อน เนื่องจากความร้อนที่มากเกินไปอาจทำให้หนังศีรษะและรากผมเสียหาย เกิดเป็นแผลทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อโรค
- ไปพบคุณหมอเมื่อมีอาการผิดปกติบริเวณหนังศีรษะ ในกรณีพบอาการที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคของหนังศีรษะ ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษาหรือขอรับคำแนะนำสำหรับวิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง