หนังศีรษะอักเสบ อาจเกิดจากความผิดปกติบริเวณหนังศีรษะ ซึ่งมักเป็นโรคเกี่ยวกับผิวหนังต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน
โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน หรือ “เซบเดิร์ม” (Seborrheic Dermatitis) เป็นการอักเสบของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ เชื้อรามาลาสเซเซีย (Malassezia) การทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน การแปรปรวนของฮอร์โมน
อาการที่พบคือ มีผื่นแดงบนหนังศีรษะ ร่วมกับอาการคัน เป็นรังแค ผิวหนังลอกเป็นแผ่น ทั้งนี้ โรคผื่นแพ้ต่อมไขมันยังเกิดขึ้นที่บริเวณอื่นของร่างกายได้ด้วย เช่น ใบหน้า แผ่นหลัง ขาหนีบ ใต้เต้านม หลังใบหู หน้าอก
เนื่องจากอาการของโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน มีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคผิวหนังหลาย ๆ โรค ทั้งสะเก็ดเงิน ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เกลื้อน โรซาเซีย (Rosacea) จึงควรเข้ารับการตรวจสภาพของผิวหนัง หรืออาจต้องตัดชิ้นเนื้อผิวหนังบางส่วนออกไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคผื่นแพ้ต่อมไขมันหรือไม่
วิธีการรักษา
โรคผื่นแพ้ต่อมไขมันอาจหายเองได้หากเกิดกับเด็กทารก แต่โดยปกติสำหรับคนทั่วไป คุณหมอจะเลือกรักษาด้วยวิธีการดังนี้
- ควบคุมการอักเสบ ด้วยแชมพู ครีม หรือขี้ผึ้ง ที่มีส่วนผสมของยาต่าง ๆ เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone) โคลเบทาซอล (Clobetasol) ซึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาการอักเสบทางผิวหนังต่าง ๆ
- กำจัดเชื้อรา ด้วยผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อรา ในรูปแบบของแชมพู ครีม ขี้ผึ้ง รวมถึงยาสำหรับรับประทาน โดยยาเม็ดจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่คุณหมอเลือกใช้ เนื่องจากผลข้างเคียงของตัวยาอาจทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนได้
โรครูขุมขนอักเสบ
โรครูขุมขนอักเสบ คือการอักเสบของรูขุมขนบนหนังศีรษะ เนื่องจากสาเหตุหลายประการ อาทิ
- แบคทีเรียต่าง ๆ เช่น สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ซึ่งอาศัยอยู่บนผิวหนัง และเกิดการติดเชื้อหากร่างกายมีบาดแผล
- ขนคุด หรือเส้นผมหรือขนที่อุดตันในรูขุมขนเนื่องจากการอุดตันของรูขุมขน
- ยาบางอย่างที่ใช้สำหรับลดการอักเสบของร่างกาย เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
- เชื้อรา ซึ่งเกิดจาการไปสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อรา หรือติดจากการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคอยู่ก่อนแล้ว
อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยรูขุมขนอักเสบ ประกอบด้วย หนังศีรษะอักเสบ มีแผลพุพอง เกิดตุ่มแดงคล้ายสิว มีฝีฝักบัว มีอาการคัน ระคายเคือง หรือรู้สึกเจ็บปวดบริเวณหนังศีรษะ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย