เชื้อราบนหนังศีรษะ เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบบริเวณหนังศีรษะ อาจมีสาเหตุจากเชื้อรา โรคเชื้อราบนหนังศีรษะมักทำให้มีอาการคัน หนังศีรษะแดง ตกสะเก็ด เป็นขุย ผมร่วง และอาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจทำให้อาการคันรุนแรงขึ้น เกิดแผลบนหนังศีรษะ และติดเชื้อได้ง่าย
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
เชื้อราบนหนังศีรษะ คืออะไร
เชื้อราบนหนังศีรษะ คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งอาจมีสาเหตุจากเชื้อราก่อโรค โรคกลาก ทำให้หนังศีรษะตกสะเก็ดเป็นหย่อม ๆ เป็นขุย ผิวหนังแดง คันและเจ็บ นอกจากนี้ เชื้อราบนหนังศีรษะยังอาจเกิดจากการรับเชื้อผ่านการสัมผัสผิวหนัง สิ่งของ หรือสัตว์ที่ติดเชื้อ โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุ 3-14 ปี อาจมีอาการซ้ำ ๆ ไม่หายขาด จนอาจส่งผลต่อบุคคลิกภาพและการใช้ชีวิตได้
อาการ
เชื้อราบนหนังศีรษะ อาการ เป็นอย่างไร
เชื้อราบนหนังศีรษะอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ผิวหนังตกสะเก็ดสีเทาหรือแดงเป็นหย่อม ๆ
- ผมเปราะบาง หลุดร่วงง่าย
- เจ็บปวดบริเวณที่เป็นเชื้อรา
สาเหตุ
สาเหตุของโรคเชื้อราบนหนังศีรษะ
เชื้อราบนหนังศีรษะอาจเกิดจากการติดเชื้อราบนผิวหนังหรือสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้
เชื้อราบนหนังศีรษะจากกลาก
โรคกลากบนหนังศีรษะเกิดจากเชื้อราหลายชนิด โดยเชื้อราจะทำลายเส้นผมและหนังศีรษะ โรคกลากบนหนังศีรษะยังแบ่งออกตามการเจริญของเชื้อรา 3 ชนิด คือ
- เชื้อราเจริญเฉพาะบริเวณภายนอก เชื้อราก่อโรคที่พบบ่อยคือ M. canis M. audouinii M. distortum M. ferrugineum และ M. gypseum
- เชื้อราเจริญภายในเส้นผม ทำลายเส้นผม ทำให้ผมแตกหัก เชื้อราก่อโรคที่พบบ่อยคือ T. tonsurans T. violaceum และ T. soudanense
- โรคกลากบนหนังศีรษะชนิดรุนแรง มักทำลายเส้นผมและหนังศีรษะ มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง เชื้อราก่อโรคคือ T. schoenleinii
โรคกลากเป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน สิ่งของสู่คน และสัตว์สู่คนได้ โดยมักแพร่กระจายผ่านการสัมผัสผิวหนัง วัตถุ หรือสัตว์ที่ติดเชื้อรา
เชื้อราบนหนังศีรษะจากโรคเซ็บเดิร์ม
โรคเซ็บเดิร์มอาจยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากโรคผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันใต้ผิวหนัง ภูมิคุ้มกันตอบสนองผิดปกติ หรืออาจเกี่ยวข้องกับเชื้อราประเภทยีสต์กลุ่มมาลาสซีเซีย (Malassezia) ซึ่งอาศัยอยู่บนหนังศีรษะ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงเชื้อราบนหนังศีรษะ
ปัจจัยเสี่ยงเชื้อราบนหนังศีรษะอาจมีดังนี้
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางชนิด
- โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune Diseases)
- การสัมผัสผิวหนัง สิ่งของ หรือสัตว์ที่ติดเชื้อ
- ความเครียดและการฟื้นตัวจากภาวะสุขภาพ เช่น ภาวะหัวใจวาย
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคมาลาเรีย
- ภาวะทางระบบประสาทและจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน
- ภาวะผิวหนังอุดตันจากเครื่องสำอาง หรือขนคุด
- อาการระคายเคืองจากการกำจัดขนด้วยมีดโกนหรือการถอน เป็นต้น
- สุขอนามัยที่ไม่ดี
- สภาพอากาศร้อนชื้นจนทำให้หนังศีรษะอับชื้นได้ง่าย
- หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีเหงื่อออกมาก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเชื้อราบนหนังศีรษะได้
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเชื้อราบนหนังศีรษะ
การวินิจฉัยเชื้อราบนหนังศีรษะแต่ละสาเหตุจะใช้วิธีที่คล้ายคลึงกัน โดยคุณหมอจะตรวจดูลักษณะของเชื้อราบนหนังศีรษะ หรืออาจเก็บตัวอย่างผิวหนังไปทดสอบเพื่อประกอบการวินิจฉัย และแยกแยะชนิดของเชื้อราที่เป็นสาเหตุหลักของเชื้อราบนหนังศีรษะ
การรักษาเชื้อราบนหนังศีรษะ
การรักษา เชื้อรา บนหนังศีรษะ ใช้ยาอะไร เชื้อราบนหนังศีรษะสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาต้านเชื้อรา ได้แก่ ยากริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) และยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) เป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์
คุณหมออาจให้ใช้ยาเฉพาะที่เพื่อรักษาโรคผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมัน และกำจัดเชื้อราบนผิวหนัง ดังนี้
- ครีม แชมพู หรือขี้ผึ้งที่ช่วยบรรเทาการอักเสบ เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ฟลูออซิโนโลน (Fluocinolone) โคลเบตาซอล (Clobetasol) และดีโซไนด์ (Desonide) หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจมีผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังบางลง หรือผิวหนังมีริ้วหรือเส้น
- เจล ครีม หรือแชมพูต้านเชื้อรา เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือซีโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) อาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หรือคุณหมออาจสั่งยาทั้งสองชนิดให้ใช้สลับกัน
สำหรับการรักษาโรคสะเก็ดเงินบนหนังศีรษะอาจมีวิธีและชนิดของยาเพิ่มเติม ดังนี้
- โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะอย่างรุนแรง คุณหมออาจสั่งยารับประทานหรือยาฉีด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) เมโธเทรกเซต (Methotrexate) อาจมีผลข้างเคียงที่ส่งผลต่อตับ จึงต้องให้คุณหมอสั่งจ่ายยาให้เท่านั้น
- คุณหมออาจฉีดยาเข้าทางเส้นเลือดดำ เช่น อะดาลิมูแมบ (Adalimumab) โบรดาลูแมบ (Brodalumab) กูเซลคูแมบ (Guselkumab) อิเซคิซซูแมบ (Ixekizumab) เพื่อป้องกันไม่ให้สร้างเซลล์ผิวหนังมากเกินไป
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับเชื้อราบนหนังศีรษะ
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงเกิดโรคเชื้อราบนหนังศีรษะ สามารทำได้ดังนี้
- หากมีคนในครอบครัว บุคคลใกล้ชิด หรือสัตว์เป็นโรคผิวหนัง ควรเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังโดยตรง และควรทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อกำจัดเชื้อราที่อาจปนเปื้อน และไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- อาบน้ำและสระผมให้สะอาดจากนั้นซับผิวหนังและเป่าผมให้แห้ง อย่าปล่อยให้ผมและหนังศีรษะเปียก เพื่อกำจัดเชื้อราหรือเชื้อก่อโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะหลังตัดผม
- ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร ก่อนและหลังใช้ห้องน้ำ เพื่อขจัดเชื้อที่อาจปนเปื้อนอยู่ที่มือ
- กำจัดสะเก็ดบนหนังศีรษะและทำให้ผมนุ่มขึ้นด้วยการใช้น้ำมันมะกอกหมักผมทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นหวีผมให้สะเก็ดหลุดออกแล้วสระผมให้สะอาด
- ใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามแผนและได้ผล