backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ฉีดวิตามินซี เพื่อผิวกระจ่างใส ประโยชน์และข้อควรระวัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

ฉีดวิตามินซี เพื่อผิวกระจ่างใส ประโยชน์และข้อควรระวัง

ฉีดวิตามินซี ถือเป็นวิธีบำรุงผิวแบบหนึ่ง เนื่องจากวิตามินซีมีคุณสมบัติช่วยลดการผลิตเซลล์เม็ดสีของผิวหนัง จึงอาจช่วยให้ผิวขาวขึ้น และทำให้รอยจุดด่างดำดูจางลง นอกจากนั้น ยังช่วยให้ร่างกายผลิตคอลลาเจน (Collagen) เพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผิวพรรณเต่งตึง ทั้งนี้ การฉีดวิตามินซีอาจไม่ให้ทำให้ผิวขาวได้แบบถาวร ทำให้ต้องฉีดแบบต่อเนื่องหลายครั้ง ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงในระยะยาว เสียค่าใช้จ่ายสูง และอาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจฉีดวิตามินซีจึงควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียด

วิตามินซีคืออะไร

วิตามินซี เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยมีหน้าที่สำคัญคือ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และยังมีประโยชน์ในการเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก การรักษาบาดแผล และการสร้างเสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟัน

ในธรรมชาติ วิตามินซีพบได้ในผลไม้ รวมถึงผักต่าง ๆ เช่น ส้ม มะนาว ฝรั่ง สตรอว์เบอร์รี่ บรอกโคลี มันฝรั่ง

ฉีดวิตามินซีดีอย่างไร

การฉีดวิตามินซี เป็นวิธีบำรุงผิวแบบหนึ่ง เนื่องจากวิตามินซี มีประโยชน์ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนในผิวหนัง ช่วยคงโครงสร้างของเซลล์ผิวไว้ทำให้ผิวหนังเรียบเนียน เต่งตึงแลดูอ่อนวัย

นอกจากนั้น วิตามินซียังช่วยลดการผลิตเมลานิน (Melanin) หรือเซลล์เม็ดสีของผิวหนัง การฉีดวิตามินซี จึงอาจมีส่วนช่วยลดเลือนจุดด่างดำให้จางลง และทำให้สีผิวสม่ำเสมอ

โดยวิตามินซีที่นิยมนำมาใช้ฉีดเป็นวิตามินซีธรรมชาติหรือที่เรียกว่า หรือกรดแอสคอร์บิก (L-Ascorbic Acid) และต้องผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาเท่านั้นจึงจะปลอดภัย

ทั้งนี้ เมื่อไปรับการบำรุงผิวที่สถานพยาบาลหรือคลินิก คุณหมอจะไม่ฉีดวิตามินซีเพียงอย่างเดียวให้ แต่อาจจะฉีดร่วมกับสารอื่น ๆ เช่น วิตามินบี วิตามินอี กรดอะมิโน กรดโคจิก (Kojic Acid) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงผิว

ฉีดวิตามินซี ไม่เหมาะกับใคร

ผู้ที่ไม่ควรฉีดวิตามินซี เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย มีดังนี้

  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต หรือโรคนิ่ว
  • ผู้มีภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
  • ผู้มีประวัติแพ้วิตามิน จากการฉีดเข้าทางกระแสเลือด

ขั้นตอนการฉีดวิตามินซี

เมื่อไปสถานพยาบาลเพื่อฉีดวิตามินซี ขั้นตอนที่พบได้จะเป็นดังนี้

  • ตรวจสุขภาพ น้ำหนัก ความสูง และซักประวัติการแพ้ยา
  • คุณหมอประเมินสูตรวิตามินจากภาวะสุขภาพ และความต้องการของผู้ที่ต้องการฉีดวิตามินซี
  • คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจะฉีดวิตามินซีผ่านเส้นเลือดดำ บริเวณข้อมือหรือข้อพับแขน โดยจะใช้เวลาราว ๆ 10-15 นาที

ฉีดวิตามินซีเห็นผลเมื่อไร

การฉีดวิตามินซี จะเริ่มเห็นผลเมื่อฉีดไปแล้วประมาณ 3 วัน ซึ่งรวดเร็วกว่าการบำรุงผิวด้วยวิตามินซีวิธีอื่น เช่น การรับประทานอาหารเสริม หรือการทาครีม

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของการฉีดวิตามินซี จะไม่เกิดขึ้นอย่างถาวร ดังนั้น จึงต้องฉีดวิตามินซีสม่ำเสมอ หรือประมาณเดือนละครั้ง เพื่อให้ผลลัพธ์คงอยู่อย่างต่อเนื่อง

ฉีดวิตามินซี มีผลข้างเคียงหรือไม่

หากฉีดวิตามินซีซึ่งผ่านมาตรฐานขององค์การอาหารและยา ถือว่าค่อนข้างปลอดภัย ผลข้างเคียงที่พบส่วนใหญ่คือรอยเข็มฉีดยา ซึ่งสามารถหายเองได้ ภายใน 1-3 วัน แต่ในบางราย อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หากพักผ่อนอาการเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น

แต่ในระยะยาว หากฉีดวิตามินซี เพื่อผิวขาว อาจเกิดผลข้างเคียงได้ โดยจากรายงานในการประชุมของกองวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและโลก พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาวจากการฉีดวิตามินซีเพื่อผิวขาวในปริมาณมาก ซึ่งทำการทดลองฉีดวิตามินซีในสัตว์ทดลอง พบว่า หากฉีดวิตามินซีเข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้ระดับกลูโคสและคอเรสเตอรอลในเลือดลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

อย่างไรก็ตาม หากฉีดวิตามินซีที่ไม่ได้มาตรฐาน ผลข้างเคียงที่พบได้ อาจเป็นอาการแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้

ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจฉีดวิตามินซี ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับคลินิกหรือสถานพยาบาล ว่ามีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย ได้มาตรฐานหรือไม่

ฉีดวิตามินซี มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

ฉีดวิตามินซี มีข้อดีและข้อเสีย ดังนี้

ข้อดี

  • เห็นผลเร็วกว่าการบำรุงผิวแบบอื่น
  • เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง
  • ใช้เวลาน้อย ต่อการฉีดวิตามินซี 1 ครั้ง
  • หากได้รับวิตามินที่ผ่านมาตรฐานถือว่ามีความปลอดภัย

ข้อเสีย

  • ต้องฉีดอย่างต่อเนื่อง จึงมีค่าใช้จ่ายสูงในระยะยาว
  • อาจพบผลข้างเคียงรุนแรง ถ้าใช้บริการในคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐาน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา