backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ตุ่มอับชื้น สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

ตุ่มอับชื้น สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

ตุ่มอับชื้น หรือ ผดร้อน (Heat rash หรือ Prickly heat หรือ Miliaria) เป็นภาวะผิวหนังที่พบได้ในคนทุกวัย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากหลายคนมักมีเหงื่อออกมากและอยู่ในที่อากาศถ่ายเท ระบายความร้อนไม่ทัน จนต่อมเหงื่ออุดตันและอักเสบ ส่งผลให้เกิดตุ่มแดง ขนาดเล็กหลายๆตุ่ม ที่อาจมีอาการคันร่วมด้วย โดยทั่วไป อาการจะดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน เมื่อมีการถ่ายเทความร้อนออก โดยไม่ต้องรักษา ทั้งนี้ การดูแลผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มให้แห้งและเย็น เพื่อไม่ให้มีความร้อนสะสมจนต่อมเหงื่ออุดตัน สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ และใช้ครีมหรือโลชั่นเพื่อบรรเทาอาการตามที่เภสัชกรหรือคุณหมอแนะนำ

ตุ่มอับชื้น คืออะไร

ตุ่มอับชื้น หรือ ผดร้อน เป็นภาวะผิวหนังที่เกิดขึ้นเมื่อต่อมเหงื่ออุดตันและอักเสบ ส่งผลให้เกิดตุ่มแดง คัน ระคายเคือง ขนาดเล็กบนผิวหนัง มักพบในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนหรือร้อนชื้น หรือเมื่อผิวสัมผัสกับความร้อนและความชื้นเป็นเวลานาน ตุ่มอับชื้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่มักพบที่คอ หน้าอก รักแร้ หลัง ขาหนีบ หรือตามรอยพับของผิวหนัง อาการที่พบอาจมีตั้งแต่รู้สึกไม่สบายตัวเล็กน้อยและมีอาการคัน ไปจนถึงปวดและอักเสบรุนแรง

สาเหตุที่ทำให้เกิดตุ่มอับชื้น

ตุ่มอับชื้นเกิดจากท่อของต่อมเหงื่อซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงเหงื่อไปยังผิวชั้นนอกอุดตันหรืออักเสบ ส่งผลให้ไม่สามารถระบายเหงื่อออกสู่ผิวหนังได้ เหงื่อจึงถูกขังอยู่ใต้ผิวหนัง อาจทำให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะในบริเวณที่ผิวหนังเสียดสีกันบ่อย ๆ และเกิดเป็นตุ่มอับชื้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดตุ่มอับชื้น อาจมีดังนี้

  • เป็นทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นวัยที่ต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงอาจเกิดผดผื่นหรือ ตุ่มอับชื้น ได้ง่าย
  • อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนหรือร้อนชื้น
  • เคลื่อนไหวร่างกายหรือทำกิจกรรมทางกายอย่างหนักจนเหงื่อออกมาก
  • เป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือต้องนอนพักฟื้นบนเตียงเป็นเวลานานและมีไข้

อาการของตุ่มอับชื้น

อาการของตุ่มอับชื้นอาจแตกต่างไปในแต่ละบุคคล โดยอาการที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้

  • มีตุ่มแดงขนาดเล็กขึ้นเป็นกลุ่ม หลายสิบถึงร้อยจุด
  • คันเป็นหย่อม ๆ
  • มีรอยแดง
  • ผิวระคายเคือง

วิธีรักษา ตุ่มอับชื้น

โดยทั่วไป ตุ่มอับชื้นสามารถหายไปเองได้ด้วยไม่ต้องรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการอาจดูแลตัวเองเพื่อให้อาการตุ่มอับชื้นหายไปได้เร็วขึ้น และอาจป้องกันตุ่มอับชื้นได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ในช่วงที่อากาศร้อน ควรสวมเสื้อผ้าเนื้อบางเบาที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าคอตตอน ผ้าฝ้าย และไม่ควรห่อหุ้มตัวทารกด้วยผ้าหลาย ๆ ชั้น เพราะอาจทำให้มีความชื้นสะสมจนเกิดตุ่มอับชื้นได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางกายที่ทำให้เหงื่อออกเยอะในช่วงที่อากาศร้อน และอยู่ในพื้นที่ที่มีลมพัดผ่าน มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการเกิดตุ่มอับชื้นและการเกิดฮีทสโตรก (Heat Stroke)
  • หลังทำกิจกรรมทางกายหรืออากาศร้อนจนเหงื่อออกเยอะ ควรอาบน้ำทันทีเมื่อกลับมาถึงบ้าน
  • บริเวณที่นอนหรือเตียงควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก ควรใช้ชุดเครื่องนอนที่ระบายอากาศได้ดี และควรซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ปลอกหมอนข้าง และปลอกผ้านวมทุก ๆ 1 สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน เช่น แป้งเด็ก ขี้ผึ้ง โลชั่นน้ำหอม โลชั่นที่มีปิโตรเลียมหรือน้ำมันแร่
  • หลีกเลี่ยงการแกะเกาผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มอับชื้น เพื่อป้องกันผิวหนังติดเชื้อ
  • ทาโลชั่นที่มีส่วนผสมของคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid lotions) หรือคาลาไมน์ (Calamine) เพราะอาจช่วยบรรเทาอาการคันและระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดเหงื่อ เช่น โคลนิดีน (Clonidine) เบต้าบล็อกเกอร์ (Beta Blockers) ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids)

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากผู้ที่มีปัญหาตุ่มอับชื้นมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

  • ตุ่มหรือผดผื่นมีอาการแย่ลง ทำให้รู้สึกเจ็บมากขึ้น หรือไม่หายไปภายใน 3-4 วัน
  • มีการติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่เป็นตุ่มอับชื้น เช่น สัมผัสแล้วรู้สึกร้อน มีอาการบวม ปวด มีหนอง
  • มีตุ่มอับชื้นร่วมกับเป็นไข้หรือไม่สบาย
  • ตุ่มอับชื้นเป็นสีแดงสด หรือมีรอยแดงเป็นหย่อม ๆ
  • มีตุ่มขึ้นหลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะหรือยารักษาโรคที่ไม่เคยใช้มาก่อน
  • ตุ่มกลายเป็นหนองหรือก่อตัวเป็นสะเก็ด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา