backup og meta

ผื่นแพ้ มีสาเหตุจากอะไร เกี่ยวข้องกับโรคผิวหนังชนิดใดบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/06/2022

    ผื่นแพ้ มีสาเหตุจากอะไร เกี่ยวข้องกับโรคผิวหนังชนิดใดบ้าง

    ผื่นแพ้ เป็นอาการหนึ่งของโรคผิวหนัง ซึ่งมักเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การแพ้อาหาร อากาศ หรือสารเคมีในชีวิตประจำวัน แมลงสัตว์กัดต่อย นอกจากนั้น ผื่นแพ้ยังเป็นหนึ่งในอาการของโรคผิวหนังอักเสบและโรคลมพิษ อย่างไรก็ตาม ผื่นแพ้สามารถบรรเทาอาการและป้องกันได้

    ผื่นแพ้ และโรคที่เกี่ยวข้อง

    ผื่นแพ้ เป็นหนึ่งในอาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบ และโรคลมพิษ ซึ่งมีสาเหตุและวิธีรักษา ดังต่อไปนี้

    ผื่นแพ้ เนื่องจากโรคผิวหนังอักเสบ

    ผิวหนังอักเสบ เป็นโรคผิวหนังที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กอายุ 5 ปี ขึ้นไป ซึ่งมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ และในบางรายอาการผิวหนังอักเสบจะหายไปเองเมื่ออายุมากขึ้น

    สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีน หรือพันธุกรรมของผู้ป่วย ซึ่งส่งผลให้ผิวหนังปกป้องร่างกายจากสารก่อภูมิแพ้ได้ไม่ดีเท่าคนทั่วไป หรือผิวหนังเกิดอาการแพ้ได้ง่ายกว่าปกติ

    อาการของโรคผิวหนังอักเสบ ประกอบด้วย

    • ผื่นแพ้ ซึ่งมักขึ้นตามผิวหนังบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อเกาอาจมีน้ำเหลืองซึมออกมาจากบริเวณที่เป็นผื่นแพ้หรือหลังจากที่แผลตกสะเก็ด
    • ผิวแห้ง แตก หรือตกสะเก็ด
    • ผิวหนังเป็นปื้นแดง หรือสีออกน้ำตาล ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั่วตัว โดยเฉพาะบริเวณเนินอก ข้อมือ ข้อเท้า ข้อพับ หรือเปลือกตา
    • คันบริเวณที่ผิวหนังมีอาการอักเสบ โดยเฉพาะตอนกลางคืน
    • ผิวหนังแดงหรือบวมอย่างเห็นได้ชัด

    ทั้งนี้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดผื่นแพ้ในผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบ ประกอบด้วย

    • สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว เช่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ไรฝุ่น
    • ฤดูกาล ผู้ป่วยบางรายจะเป็นผื่นแพ้เนื่องจากผิวแห้งในฤดูหนาว ขณะที่บางรายอาจผื่นขึ้นเพราะเหงื่อออกมากกว่าปกติในฤดูร้อน
    • สารเคมีในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีฤทธิ์รุนแรงอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น สบู่ โลชั่น ผงซักฟอก ครีมทาผิว เครื่องสำอาง แชมพู
    • อาหารบางชนิด เช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์บางประเภท ข้าวสาลี อาหารทะเล
    • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะในผู้หญิงก่อนมีประจำเดือนหรือระหว่างตั้งครรภ์

    การรักษาโรคผิวหนังอักเสบ

    ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคผิวหนังอักเสบให้หายขาด อย่างไรก็ตาม คุณหมอจะรักษาโดยการบรรเทาอาการของโรคผิวหนังอักเสบให้ทุเลาลง ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

    • ทาครีม ที่มีส่วนผสมของตัวยาต่าง ๆ ในการออกฤทธิ์เพื่อช่วยแก้อาการอักเสบ ช่วยลดอาการคัน เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกัน ใช้ลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ของผิวหนัง
    • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของมอยเจอร์ไรเซอร์ ในรูปแบบของครีมหรือโลชั่น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ลดอาการผิวแห้ง
    • รับประทานยาแก้อักเสบแบบเม็ด เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) โดยการรักษาแบบนี้มักใช้ในกรณีคนไข้ที่มีผื่นแพ้หรืออาการผิวหนังอักเสบชนิดรุนแรง

    ทั้งนี้ เพื่อให้อาการหายเร็วขึ้น ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดผื่นแพ้ รวมถึงเลี่ยงการเกาบริเวณที่คัน เพราะผิวหนังอาจติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ผื่นแพ้อักเสบหรือโรคผิวหนังอักเสบมีอาการรุนแรงกว่าเดิม

    ผื่นแพ้ เนื่องจากโรคลมพิษ

    โรคลมพิษ เป็นโรคที่พบได้บ่อย หรือคิดเป็นร้อยละ 15-20 ของประชากรในประเทศไทยทั้งหมด เกิดได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี

    โดยเป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อปัจจัยที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ต่าง ๆ อาทิ

    • อาหาร เช่น หอย ปลา ถั่วลิสง ไข่ นม
    • ยารักษาโรค เช่น เพนนิซิลิน (Penicillins) แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen)
    • สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น มลพิษ ละอองของเชื้อรา
    • พิษจากแมลง เช่น ผึ้ง ตัวต่อ

    โรคลมพิษจะก่อให้เกิดผื่นแพ้บริเวณลำตัวของผู้ป่วย ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปดังนี้

    • ปื้นนูนและเป็นสีแดง ขึ้นตามใบหน้า ลำคอ และลำตัว
    • ตุ่มเล็ก ๆ สีแดงขึ้นเป็นหย่อม ๆ หรือกระจายทั่วร่างกาย
    • ผื่นแพ้มีขนาดหลากหลาย ตั้งแต่ราว ๆ เม็ดถั่วไปจนเท่ากับจานข้าว
    • เกิดร่วมกับอาการคัน

    ทั้งนี้ โรคลมพิษมักเป็นแบบเฉียบพลัน หรือเป็นต่อเนื่องไม่เกิน 6 สัปดาห์ ในบางกรณี ผื่นแพ้อาจเกิดขึ้นเพียง 24-28 ชั่วโมง ก่อนจะค่อย ๆ ยุบตัวลง

    ในบางราย อาการของโรคลมพิษอาจเกิดพร้อมกับภาวะแองจีโออีดีมา (Angioedema) หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบวมซึ่งจะทำให้ดวงตา แก้ม หรือริมฝีปากบวมแดงผิดปกติ และรู้สึกเจ็บปวดบริเวณดังกล่าว

    การรักษาโรคลมพิษ

    โดยทั่วไป โรคลมพิษจะหายไปเอง ในกรณีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษา

    อย่างไรก็ตาม ในกรณีอาการรุนแรง ควรไปพบคุณหมอทันที โดยคุณหมออาจเลือกรักษาด้วยการให้รับประทานยาต่อไปนี้

    • ยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการคัน ผิวหนังบวมแดง รวมถึงผื่นแพ้
    • ยากดภูมิคุ้มกัน คุณหมอมักจ่ายยาชนิดนี้ให้เมื่อยาแก้แพ้ใช้ไม่ได้ผล ใช้เพื่อบรรเทาอาการของโรคลมพิษ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
    • ยาแก้อักเสบ เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการต่าง ๆ ของโรค โดยคุณหมออาจให้รับประทานเพียงระยะเวลาสั้น ๆ

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    ผื่นแพ้ เนื่องจากโรคผิวหนังอักเสบและโรคลมพิษ สามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น อาหารหรือยาบางชนิด เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ละอองเชื้อรา
    • ทำความสะอาดร่างกายหลังออกไปเผชิญกับมลภาวะ เมื่อออกจากบ้านแล้วกลับมา ควรอาบน้ำให้สะอาดทันที เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก รวมทั้งวัตถุบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดผื่นแพ้ได้
    • ใช้สบู่ซึ่งอ่อนโยนต่อผิว เพื่อป้องกันผิวหนังคัน ระคายเคือง และลดโอกาสเสี่ยงการเกิดผื่นแพ้
    • ประคบเย็น บริเวณที่เป็นผื่นลมพิษ ด้วยผ้าเย็นหรือผ้าขนหนูห่อน้ำแข็ง เพื่อลดอาการคันและการระคายเคืองในเบื้องต้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา