backup og meta

บีบสิว ออกได้หรือไม่ หากเป็นสิวเยอะมาก

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 19/05/2022

    บีบสิว ออกได้หรือไม่ หากเป็นสิวเยอะมาก

    บีบสิว เป็นวิธีในการกำจัดสิวบนใบหน้าแบบชั่วคราว ซึ่งสิวที่บีบได้ อาจได้แก่ สิวหัวดำ สิวหัวขาว แต่หากบีบสิวไม่ถูกวิธีอาจทำให้อาการสิวแย่ลง เกิดการอักเสบในบริเวณกว้าง ติดเชื้อ เป็นแผล นอกจากนี้ การบีบสิวอาจทำให้สิวหายช้าลงและชะลอกระบวนการบำบัดผิวตามธรรมชาติ ดังนั้น การบีบสิวที่ถูกต้องอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้

    สิวเกิดจากอะไร

    สิว เป็นปัญหาสุขภาพผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นเมื่อรูขุมขนบนใบหน้าเกิดการอุดตันด้วยความมัน สิ่งสกปรก หรือเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ซึ่งสิวที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะเป็นตุ่มสีแดง และตุ่มที่เป็นหนอง ในบางคนหากสิวมีการอักเสบ อาจทำให้เกิดตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นติดกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ สาเหตุของการเกิดสิวอาจมีดังนี้

    • ความมันบนใบหน้า หรือหน้ามันมากเกินไปจนเกิดการอุดตันที่รูขุมขน
    • ฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกบนใบหน้า มีการสะสมจนเกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขน
    • แบคทีเรียสะสมอยู่ในรูขุมขน
    • อาการแพ้ต่อสารบางอย่าง เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ยาสระผม
    • ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งอาจทำให้เกิดสิวฮอร์โมน
    • สัมผัสกับใบหน้าบ่อย ๆ
    • รับประทานยาคุมกำเนิดบางชนิด ซึ่งอาจส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย
    • รับประทานอาการที่มีน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ขนมหวาน ของทอด

    เป็นสิว ควรบีบหรือไม่

    สิวมีอยู่ด้วยกันหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นสิวฮอร์โมน สิวอักเสบ สิวจากอาการแพ้ สิวหัวหนอง สิวหัวดำ สิวหัวขาว หรือสิวผด ซึ่งสาเหตุในการเกิดสิวแต่ละชนิดอาจแตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องรักษาตามสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นสิวไม่ควรบีบ เนื่องจาก อาจทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

    • อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็น การบีบสิวไม่ว่าจะใช้แรงในการบีบมากหรือน้อยก็อาจก่อให้เกิดรอยแผลเป็นได้
    • อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อของรูขุมขน การบีบสิวที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียอุดตันรูขุมขน อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดหนอง ทั้งยังอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียในสิวมีการกระจายตัวไปยังบริเวณรูขุมขนอื่น ๆ ที่อยู่โดยรอบ ซึ่งอาจเสี่ยงที่จะทำให้รูขุขมขนอื่น ๆ เกิดการติดเชื้อและกลายเป็นสิวได้ในภายภายหลัง ซึ่งอาจส่งผลทำให้อาการสิวแย่ลงหรืออาจเป็นสิวซ้ำ ๆ 
    • อาจใช้เวลารักษานานกว่าเดิม การบีบสิวอาจเป็นการขัดขวางกระบวนการฟื้นฟูสภาพผิวตามธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้การรักษาสิวต้องใช้เวลานานขึ้นกว่า
    • อาจทำให้เกิดการอักเสบที่ใต้ชั้นผิวหนัง หากบีบสิวแล้วหัวสิวไม่หลุดออกไป อาจเป็นไปได้ว่าการบีบสิวนั้นเป็นการดันให้เนื้อสิวกลับเข้าไปอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตันมาก ส่งผลให้สิวมีอาการแย่ลง เกิดอาการบวม แดง และมีขนาดใหญ่กว่าเดิม หรืออาจทำให้เกิดการอักเสบที่ใต้ชั้นผิวหนัง
    • อาจทำให้เกิดอาการบวมแดงของผิว การบีบสิวที่รุนแรงอาจทำให้บริเวณที่มีการบีบสิวเกิดการบวมแดงจนเห็นได้ชัดกว่าเดิม

    บีบสิว อย่างไรให้ถูกต้อง

    การรอให้สิวหายเองอาจต้องใช้เวลาหลายวัน การบีบสิวอาจดูเหมือนเป็นวิธีการแก้ไขความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อมองเห็นสิว ดังนั้น หากต้องการบีบสิวอาจทำตามขั้นตอนเหล่านี้ เพื่อให้ปลอดภัยกับผิว

    • ล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกและแบคทีเรียจากนิ้วมือหรือฝ่ามือ ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังหรือสิวที่เป็นอยู่อาการแย่ลง
    • ทำความสะอาดผิวบริเวณที่เป็นสิว ด้วยแอลกอฮอล์สำหรับผิวหนัง หากใช้อุปกรณ์ที่เป็นเข็มสำหรับเจาะหัวสิว ควรทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนเสมอ
    • ประคบผิว อาจทำการประคบร้อนก่อนบีบสิว เพราะการประคบร้อนอาจช่วยทำให้รูขุมขนเปิด และช่วยลดอาการบาดเจ็บของสิว
    • ทายาก่อนทำการบีบสิว การทายาที่ไม่จำเป็นต้องสั่งจ่ายโดยคุณหมอ เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซึ่งเป็นยาสำหรับลอกผิวหนัง หรือเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ซึ่งมีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรีย ลงบนสิวหัวขาวที่มีขนาดใหญ่ หรือบริเวณที่เกิดสิวหัวดำ เพื่อช่วยลดการอักเสบ และขจัดสิ่งสกปรก
    • บีบสิวด้วยความเบามือ การบีบสิวอาจทำได้ด้วยการใช้นิ้ว 2 นิ้วดันรูขุมขนที่เป็นสิวไว้ทั้ง 2 ข้าง จากนั้นออกแรงกดเพียงเล็กน้อย เพื่อดันให้หนองหรือหัวสิวหลุดออกมาจากรูขุมขน
    • ทำความสะอาดผิวอีกครั้ง ใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดบริเวณรูขุมขนที่บีบสิวอีกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่อาจแพร่กระจายไปยังรูขุมขนบริเวณอื่น ๆ

    อย่างไรก็ตาม หากบีบสิวครั้งแรกไม่สำเร็จ ไม่ควรบีบซ้ำ เพราะอาจทำให้สิวเกิดการอักเสบมากขึ้น

    ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดสิว รวมถึงทางเลือกและวิธีการรักษาดูแลผิวที่เหมาะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 19/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา