สิวหัวขาว หนึ่งในประเภทของสิวอุดตันที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปโดยเฉพาะวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน บริเวณที่มักพบสิวหัวขาว ได้แก่ หน้าผาก จมูก คาง แม้สิวหัวขาวอาจไม่ก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงใด ๆ แต่ก็อาจสร้างความรำคาญใจให้กับผู้ที่เป็นได้
คำจำกัดความ
สิวหัวขาว คืออะไร
สิวหัวขาว คือ ประเภทของสิวอุดตันแบบหัวปิด มีลักษณะเป็นตุ่มสีขาวเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากเซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมัน และแบคทีเรียที่สะสมภายในรูขุมขน โดยรูขุมขนที่อุดตันไม่ได้สัมผัสอากาศ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันกับออกซิเจน ทำให้เรียกว่าสิวหัวขาว เพราะสิวเป็นจุดสีขาวอุดตันอยู่บนผิวหนัง โดยสามารถพบได้บริเวณหน้าผาก จมูก คาง รวมไปถึงหน้าอก ไหล่ และหลัง
สิวหัวขาวพบได้บ่อยแค่ไหน
สิวหัวขาวสามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม อาจพบได้ในวัยสูงอายุได้เช่นกัน
อาการ
อาการของสิวหัวขาว
สิวหัวขาวอาจไม่มีอาการใด ๆ ที่รุนแรง หากสิวไม่พัฒนากลายเป็นฝี หรือสิวอักเสบที่ทำให้เกิดหนอง เนื่องจาก สิวหัวขาวอาจใช้ระยะเวลานานกว่าที่หัวสิวจะหลุดออก จึงอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียภายในสิวได้
ควรไปพบคุณหมอเมื่อไร
หากสิวหัวขาวกลายเป็นฝี หรือสิวประเภทอื่นที่ทำให้เกิดการอักเสบ ควรไปพบคุณหมอผิวหนังเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี
สาเหตุ
สาเหตุของสิวหัวขาว
สิวหัวขาวเกิดจากรูขุมขนอุดตันด้วยเซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมัน และแบคทีเรีย
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของสิวหัวขาว
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสิวหัวขาว เช่น
- อายุ ทุกวัยสามารถเกิดสิวได้ แต่มักพบในวัยรุ่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
- กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีพ่อ แม่ หรือญาติที่เป็นสิวหัวขาว อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นได้มากกว่าปกติ
- ระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอาจเพิ่มขึ้นทำให้เกิดสิวขึ้นได้ เช่น ช่วงก่อนมีประจำเดือน ระหว่างมีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์
- ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อ แล้วไม่อาบน้ำทันที อาจทำให้เหงื่อ สิ่งสกปรก รวมไปถึงน้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายอาจไปอุดตันที่รูขุมขน ทำให้เกิดสิวหัวขาวได้
- แพ้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวบางชนิด เช่น อาจมีสารสเตียรอยด์ ปรอท พาราเบน
- มลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่น ควันรถ
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ลิเธียม
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากสิวหัวขาว
การจัดการกับสิวหัวขาวอาจส่งผลต่อกระทบต่อสุขภาพผิว เนื่องจาก ยาที่รักษาสิวอาจทำให้เกิดความระคายเคือง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ผู้ที่เป็นสิวหัวขาวอาจมีรอยแผลเป็นที่ไม่สามารถรักษาได้
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในนี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยสิวหัวขาว
เนื่องจากผู้ที่เป็นสิวหัวขาวอาจไม่ค่อยไปพบคุณหมอผิวหนัง อย่างไรก็ตาม หากทำการรักษาสิวหัวขาวมาเป็นระยะเวลานาน แต่สิวยังไม่ยอมหลุดออกมาหรือไม่บรรเทาลง ควรไปปรึกษาคุณหมอผิวหนัง เพื่อดูลักษณะของสิวที่เกิดขึ้นและทำการรักษาอย่างตรงจุด
การรักษาสิวหัวขาว
การรักษาสิวหัวขาวอาจสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
- ยาคุมกำเนิด ชนิดฮอร์โมนรวมอาจช่วยลดปัจจัยในการเกิดสิว เนื่องจากในตัวยามีฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน อาจช่วยลดระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนลง ทำให้การผลิตไขมันซีบัมอาจลดลง
- ยาปฏิชีวนะสำหรับรับประทาน เช่น ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) ใช้ในการรักษาสิวที่มีอาการรุนแรง ช่วยลดปริมาณการผลิตน้ำมัน ลดการอักเสบของสิว โดยผลข้างเคียงของตัวยา เช่น ผิวแห้ง ผิวไวต่อแสง ตับอักเสบ นอกจากนี้ ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ เพราะอาจเสี่ยงทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้
- เรตินอยด์เฉพาะที่ ช่วยป้องกันกระบวนการอุดตันของรูขุมขน และช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ควรทาบริเวณสิวหัวขาวทุกวันก่อนนอน การใช้เรตินอยด์เฉพาะที่อาจใช้เวลานานในการเห็นผล คือ ประมาณ 3 เดือน อย่างไรก็ดี อาจมีผลข้างเคียงทำให้ระคายเคืองผิวได้
- ยาทาเฉพาะที่ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา มีลักษณะเป็นรูปแบบเจล ครีม หรือโลชั่น ซึ่งอาจมีส่วนประกอบ เช่น เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) รีซอร์ซินอล (Resorcinol) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบของสิว แต่ตัวยาอาจมีผลข้างเคียง เช่น ระคายเคือง แสบร้อน และเกิดผื่นแดง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์บางอย่างรวมถึงการดูแลตนเอง อาจช่วยลดการเกิดสิวหัวขาวได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า และไม่ควรบีบสิว เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการขัดผิวที่รุนแรง เพราะอาจทำให้ระคายเคืองผิวและทำให้สิวแย่ลงได้
- หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด เนื่องจากรังสี UV จากแสงแดดอาจทำให้ผิวคล้ำ และก่อให้เกิดสิวเรื้อรังได้ นอกจากนี้ ยารักษาสิวบางชนิดยังทำให้ผิวไวต่อแสงอัลตราไวโอเลต หากจำเป็นจะต้องโดนแดด ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และควรดูผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผิว
- หลีกเลี่ยงการนอนโดยไม่ล้างเครื่องสำอาง เพราะอาจทำให้รูขุมขนอุดตัน
- ชำระล้างร่างกายอย่างน้อย 2ครั้งต่อวัน หรือหลังออกกำลังกายด้วยสบู่ที่มีกรดอ่อน ๆ เพื่อขจัดเชื้อโรค และแบคทีเรียที่สะสมตามผิวหนัง
- หมั่นสระผมทุกวัน หากเป็นผู้ที่มีผมมันมาก เพราะความมันของศีรษะอาจก่อให้เกิดสิวได้
- ใช้โลชั่นหรือมอยเจอร์ไรเซอร์ที่ปราศจากน้ำมัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และลดน้ำมันส่วนเกินที่อาจเกิดขึ้นกับผิว