backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ผื่นแพ้สัมผัส อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/04/2022

ผื่นแพ้สัมผัส อาการ สาเหตุ และการรักษา

ผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) คือ อาการผื่นแดงที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสารบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ผดผื่นเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการคันและไม่สบายตัว แต่ไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต และสามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงสารที่อาจทำให้เกิดความระคายเคือง

คำจำกัดความ

ผื่นแพ้สัมผัส คืออะไร

ผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) คือ อาการผื่นแดงที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสารบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ผดผื่นเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการคันและไม่สบายตัวเป็นอย่างมาก แต่ไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต และสามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงสารที่อาจทำให้เกิดความระคายเคือง

สารที่อาจเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัสนี้มีมากมาย เช่น สบู่ น้ำหอม น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก นอกจากนี้ การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้บางอย่าง เช่น ยาย้อมผม นิกเกิล ยาสำหรับใช้ภายนอกบางชนิด ก็อาจทำให้เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัสได้เช่นกัน

ผื่นแพ้สัมผัส พบได้บ่อยแค่ไหน

โรคผื่นแพ้สัมผัสเป็นโรคที่สามารถพบได้ทั่วไป และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาคุณหมอ

อาการ

อาการของผื่นแพ้สัมผัส

อาการของโรคผื่นแพ้สัมผัสมักเกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับสารก่ออาการแพ้โดยตรง และสามารถเกิดขึ้นได้ภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังการสัมผัส หรือหลายชั่วโมงหลังจากนั้น อาการของผื่นแพ้สัมผัสอาจแบ่งอาการได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. อาการผื่นแพ้สัมผัสจากสารก่อภูมิแพ้

  • ผิวแห้ง แตก ลอกเป็นขุย
  • ลมพิษ
  • ผิวหนังหนาขึ้น
  • รู้สึกแสบผิว
  • อาการคัน
  • อาการบวม
  • ผิวไวต่อแสง แพ้แสง

2. อาการผื่นแพ้สัมผัสจากสารระคายเคือง

  • แผลพุพอง
  • ผิวแห้งมาก
  • อาการบวม
  • ผิวหนังแข็งขึ้นหรือหนาขึ้น
  • ตกสะเก็ด เป็นแผล

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากสังเกตเห็นอาการดังต่อไปนี้ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

  • รู้สึกระคายเคือง หรือมีอาการคันจากผดผื่นมากจนรบกวนการนอนหลับ
  • อาการรุนแรงขึ้น หรือลุกลามอย่างรวดเร็ว
  • อาการไม่ยอมหายไป หรือมีอาการนานเกิน 3 สัปดาห์
  • มีผดผื่นที่บริเวณอวัยวะเพศ
  • มีสัญญาณว่าผิวหนังมีอาการติดเชื้อ เช่น เป็นหนอง เป็นไข้
  • หากอาการผื่นแพ้สัมผัสเกิดขึ้นในบริเวณที่สำคัญ เช่น ปอด ดวงตา จมูก และรบกวนการมองเห็น หรือทำให้หายใจไม่สะดวก

หากมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถามเกี่ยวกับอาการของโรคโปรดปรึกษาคุณหมอ

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของผื่นแพ้สัมผัส

ผื่นแพ้สัมผัส เกิดขึ้นจากการสัมผัสกับสารที่อาจทำให้เกิดความระคายเคือง หรือทำให้เกิดอาการแพ้ ทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีออกมาตอบสนองต่อสารระคายเคืองนั้น ๆ และทำให้เกิดอาการที่ผิวหนัง เช่น อาการคัน อาการระคายเคือง

สารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองที่อาจพบได้บ่อย ได้แก่

  • ถุงมือยาง
  • เครื่องประดับที่ทำจากทองหรือนิกเกิล
  • น้ำหอม สารเคมีที่ใช้ในเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลผิว
  • พืชมีพิษ
  • สบู่ ผงซักฟอก และน้ำยาทำความสะอาด
  • แอลกอฮอล์ล้างแผล
  • น้ำยาฟอกขาว
  • ฝุ่นละออง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของผื่นแพ้สัมผัส

ผู้ที่มีงานอดิเรกหรือประกอบอาชีพดังตัวอย่างต่อไปนี้ อาจเสี่ยงเกิดผื่นแพ้สัมผัสได้มากกว่าคนกลุ่มอื่น

  • พนักงานทำความสะอาด
  • ช่างเสริมสวย
  • คนงานก่อสร้าง
  • แพทย์และพยาบาล
  • ช่างเชื่อมเหล็ก
  • เชฟ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอาหาร

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยผื่นแพ้สัมผัส

คุณหมออาจซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อดูสัญญาณและอาการของโรค และคุณอาจต้องเข้ารับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Patch Test) ด้วย เพื่อหาว่าสารอะไรที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัส

ในการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง คุณหมอจะเลือกสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยมาประมาณ 10-20 ชนิด และหยดหรือฉีดสารเหล่านั้นในปริมาณเล็กน้อยลงบนผิวหนัง จากนั้นรอประมาณ 20 นาทีเพื่อดูว่าผิวหนังมีปฏิกิริยาอย่างไร และจะทำให้ทราบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้ต่อสารอะไร

การรักษาผื่นแพ้สัมผัส

โดยปกติแล้ว โรคผื่นแพ้สัมผัสอาจรักษาได้ด้วยการให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง โดยในระหว่างนั้น คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองที่บ้าน อาการของผื่นแพ้สัมผัสอาจหายไปได้เอง หลังจากหลีกเลี่ยงสารที่ทำให้ระคายเคือง

อย่างไรก็ตาม หากอาการผื่นแพ้สัมผัสยังไม่หายไปแม้จะหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองแล้ว คุณหมออาจสั่งให้ใช้ยา เช่น

  • ยาสเตียร์รอยด์ (Steroid) สำหรับใช้ภายนอก เช่น ยาครีม ยาขี้ผึ้ง มาทาบริเวณที่มีอาการ เพื่อช่วยบรรเทาอาการผดผื่นให้ลดลง
  • ยาสำหรับรับประทาน ในกรณีรุนแรง แพทย์อาจสั่งให้รับประทานยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ ยาแก้แพ้เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้ ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยรักษาอาการติดเชื้อ เป็นต้น

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยจัดการกับผื่นแพ้สัมผัส

การปรับพฤติกรรมหรือการดูแลตัวเอง ที่อาจช่วยรับมือโรคผื่นแพ้สัมผัสอาจมีดังนี้

  • ทำความสะอาดผิว ล้างสารระคายเคืองบนผิวหนังออกด้วยน้ำสะอาด และสบู่อ่อน ๆ
  • พยายามอย่าเกาจุดที่มีอาการคัน เนื่องจากอาจทำให้เกิดแผล และติดเชื้อได้
  • หลีกเลี่ยงสารที่อาจทำให้ระคายเคือง เช่น น้ำหอม ผงซักฟอก น้ำยาฟอกขาว หากจำเป็นต้องสัมผัสสารดังกล่าว ควรใส่ถุงมือเพื่อป้องกันผิว และก็ควรหลีกเลี่ยงสบู่หรือยาสระผมที่มีส่วนผสมของน้ำหอมด้วยเช่นกัน
  • ทาวาสลีนในบริเวณที่มีอาการ เพื่อช่วยลดอาการคัน และผิวแตกแห้ง

หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/04/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา