backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

เลือดเป็นพิษ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด อันตราย! เป็นแล้วโอกาสตายสูง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 07/09/2023

เลือดเป็นพิษ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด อันตราย! เป็นแล้วโอกาสตายสูง

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เลือดเป็นพิษ หรือภาวะพิษจากการติดเชื้อ ในข่าวการเสียชีวิตของคนดังกันมาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่รู้ว่าภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเป็นแล้วอันตรายแค่ไหน Hello คุณหมอ บอกเลยว่าภาวะนี้อันตรายมาก หากรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ชีวิตได้ด้วย แต่อย่าเพิ่งเป็นกังวลไป เพราะคุณเองก็สามารถสังเกตอาการ และป้องกันภาวะนี้ด้วยตัวเองได้

เลือดเป็นพิษ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด คืออะไร

ภาวะพิษจากการติดเชื้อ หรือ เลือดเป็นพิษ ที่มักเรียกว่า การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองที่รุนแรงต่อการติดเชื้อ หรือสารพิษของเชื้อโรค ทำให้เกิดจากอักเสบทั่วร่างกาย ความจริงแล้วคำว่า ภาวะพิษจากการติดเชื้อ หรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) กับคำว่า ภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) นั้นเป็นคนละคำกัน แต่เนื่องจากเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน จึงมักใช้ในความหมายเดียวกัน

โดยปกติแล้ว เมื่อมีเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองด้วยการปล่อยสารเคมีบางชนิดเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นๆ แต่ในบางกรณี ระบบภูมิคุ้มกันก็ปล่อยสารเคมีออกมามากเกิน หรือมีการตอบสนองที่ผิดปกติไป จนส่งผลให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย เกิดลิ่มเลือดและหลอดเลือดอุดตัน จนระบบไหลเวียนเลือดและความดันเลือดหยุดชะงัก ออกซิเจนและสารอาหารจึงไม่ถูกลำเลียงไปส่งยังอวัยวะต่างๆ จนอวัยวะเสียหาย และหากไม่รีบรักษา อาจทำให้เกิดมีภาวะช็อกจากพิษเหตุติดเชื้อ (Septic Shock) จนถึงแก่ชีวิตได้

เลือดเป็นพิษ เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

การติดเชื้อทุกชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดเลือดเป็นพิษได้ แต่ส่วนใหญ่ที่พบ มักเกิดจากการติดเชื้อดังต่อไปนี้

  • โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม (Pneumonia)
  • การติดเชื้อในช่องท้อง หรือระบบทางเดินอาหาร
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผิวหนังติดเชื้อ

ในปัจจุบันพบว่า หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากเลือดเป็นพิษเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญจะยังระบุไม่ได้แน่ชัดว่าภาวะเลือดเป็นพิษที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคใด หรือทำไมจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตถึงเพิ่มขึ้นทุกปี แต่จากข้อมูลของสถาบัน National Institute of General Medical Sciences ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • จำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้
  • จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงมีมากขึ้น
  • มีแบคทีเรียดื้อยา หรือแบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะ (Antibiotic resistance) เพิ่มขึ้น

กลุ่มเสี่ยงที่เลือดเป็นพิษแล้วยิ่งอันตราย

ภาวะเลือดเป็นพิษนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากเป็นกลุ่มคนเหล่านี้ ก็จะยิ่งเสี่ยงได้รับอันตรายร้ายแรงจากเลือดเป็นพิษ

  • ผู้สูงอายุ
  • หญิงตั้งครรภ์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี
  • ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคปอด โรคมะเร็ง
  • ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่การหายใจล้มเหลว
  • ผู้ที่เป็นโรคพิษสุรา (Alcoholism)

เลือดเป็นพิษ ติดต่อกันได้ไหม

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ภาวะเลือดเป็นพิษสามารถติดต่อกันได้ไหม คำตอบก็คือ ภาวะโลหิตเป็นพิษไม่ใช่ “โรคติดต่อ” จึงแพร่กระจายสู่ผู้อื่นไม่ได้ ภาวะนี้จะแพร่กระจายจากอวัยวะที่ติดเชื้อจนเลือดเป็นพิษไปสู่อวัยวะอื่นๆ ภายในร่างกายของผู้ป่วยผ่านกระแสเลือดเท่านั้น แต่ถึงแม้ภาวะเลือดเป็นพิษจะติดต่อกันไม่ได้ แต่เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อนั้นก็อาจแพร่กระจายสู่ผู้อื่น จนทำให้คนๆ นั้นติดเชื้อและนำไปสู่ภาวะเลือดเป็นพิษได้เช่นกัน

สัญญาณและอาการของภาวะเลือดเป็นพิษ

  • เป็นไข้ (อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส) หรืออุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (ต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส)
  • หนาวสั่น
  • มีผื่น หรือผื่นผิวหนัง
  • มีอาการสับสน
  • อ่อนเพลีย
  • มีปัญหาในการหายใจ เช่น หายใจลำบาก หายใจถี่
  • ตัวบวม
  • อัตราการเต้นของหัวใจ หรือชีพจรสูงกว่า 90 ครั้งต่อนาที
  • อัตราการหายใจสูงกว่า 20 ครั้งต่อนาที
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • มีสัญญาณว่าการไหลเวียนเลือดลดลงในอย่างน้อยหนึ่งอวัยวะขึ้นไป
  • ปัสสาวะน้อยลง

ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ อาจมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และบางอาการอาจแย่ลงอย่างรวดเร็วด้วย

อาการแทรกซ้อนจากเลือดเป็นพิษ

ผู้ป่วยเลือดเป็นพิษส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ โดยไม่เกิดอาการแทรกซ้อนใดๆ แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น

  • ไตวาย
  • เกิดภาวะเนื้อเน่าตาย (Gangrene) ที่บริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า จนต้องตัดอวัยวะดังกล่าวออก
  • ปอดเสียหายถาวรจากภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวฉับพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome)
  • สมองเสียหายถาวร จนทำให้มีปัญหาด้านความจำ และอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
  • ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา หรืออ่อนแอลง จนเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายในอนาคต
  • เยื่อบุหัวใจอักเสบ จนอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้

ไม่อยากให้เลือดเป็นพิษ ป้องกันยังไงดี

หากคุณไม่อยากประสบปัญหาเลือดเป็นพิษจากการติดเชื้อ สิ่งแรกที่คุณต้องทำก็คือ ป้องกันการติดเชื้อให้ได้อย่างดีที่สุด โดยคุณสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • เข้ารับการฉีดวัคซีนที่จำเป็นให้ครบถ้วน เช่น วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิดทุกปี เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่
  • รักษาความสะอาด ดูแลสุขอนามัยให้ดี เช่น อาบน้ำทุกวัน หากเป็นแผลต้องรักษาให้หาย ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนและหลังทำอาหาร กินอาหาร หรือเข้าห้องน้ำ
  • หากมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบเข้ารับการรักษาพยาบาลทันที เพราะยิ่งคุณรักษาการติดเชื้อให้หายได้เร็วเท่าไหร่ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดเป็นพิษจากการติดเชื้อก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 07/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา