backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/08/2020

ปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดเพื่อย้ายไตที่มีสุขภาพดีจากบุคคลหนึ่ง (ผู้บริจาค) ไปยังอีกบุคคลหนึ่ง (ผู้รับบริจาค) โดยผู้รับบริจาคมักเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรัง

ข้อมูลพื้นฐาน

ปลูกถ่ายไต คืออะไร

การปลูกถ่ายไต (kidney transplant) เป็นการผ่าตัดเพื่อย้ายไตที่มีสุขภาพดีจากบุคคลหนึ่ง (ผู้บริจาค) ไปยังอีกบุคคลหนึ่ง (ผู้รับบริจาค) ผู้รับบริจาคมักเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรัง (chronic kidney failure) หน้าที่ของไต คือ กำจัดของเสียออกจากเลือด เมื่อไตทำงานไม่ปกติ ของเสียในร่างกายเริ่มสะสมตัวในเลือด ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนในร่างกาย

มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง ได้แก่

  • เบาหวานประเภท 1 หรือประเภท 2
  • ความดันโลหิตสูง
  • ไตอักเสบ (Glomerulonephritis) ซึ่งเป็นอาการอักเสบที่หน่วยกรองของไต (glomeruli)
  • ไตอักเสบประเภท Interstitial nephritis ซึ่งเป็นอาการอักเสบของหลอดไตฝอยและอวัยวะโดยรอบ
  • ถุงน้ำในไต (Polycystic kidney disease)
  • ทางเดินปัสสาวะอุดกั้นเป็นเวลานานจากภาวะต่างๆ เช่น ต่อมลูกหมากโต นิ่วในไต และมะเร็งบางชนิด
  • ปัสสาวะไหลย้อนกลับ (Vesicoureteral reflux) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ปัสสาวะไหลย้อนกลับไปยังไต
  • ไตติดเชื้อซ้ำ ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กรวยไตอักเสบ (pyelonephritis)
  • ในหลายกรณี การปลูกถ่ายไตสามารถช่วยให้ผู้รับบริจาคมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้นและมีสุขภาพดีขึ้น
  • ความจำเป็นของการ ปลูกถ่ายไต

    แพทย์จะประเมินอาการในปัจจุบันของคุณ คุณอาจได้รับการปลูกถ่ายไตด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 

    • คุณมีสุขภาพดีพอสำหรับการผ่าตัด
    • ข้อดีของการปลูกถ่ายไตมีมากกว่าความเสี่ยง
    • คุณได้ลองเข้ารับการรักษาทางเลือกแล้วไม่ได้ผล
    • คุณรับทราบความเสี่ยงของอาการแทรกซ้อน
    • คุณรับทราบว่าคุณจะใช้ยากดภูมิคุ้มกัน และเข้ารับการนัดหมายติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ

    ความเสี่ยง

    ความเสี่ยงของการปลูกถ่ายไต

    มีเหตุผลหลายประการที่การปลูกถ่ายไตไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณมีอาการใดๆ ดังต่อไปนี้

    • อาการติดเชื้อที่กำลังเป็นอยู่ (จำเป็นต้องรักษาก่อน)
    • โรคหัวใจ
    • ไตวาย
    • มะเร็งที่แพร่กระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ ในร่างกาย
    • โรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายและรุนแรงมากที่สุดของการติดเชื้อเอชไอวี
    • คุณควรทราบด้วยเช่นกันว่า การปลูกถ่ายไตอาจใช้เวลานาน คุณอาจต้องรอไตที่สมบูรณ์ในลำดับถัดไปที่พร้อมสำหรับการปลูกถ่าย ไตจำเป็นต้องมีการตรวจความเข้ากันได้ก่อนที่คุณจะได้รับการปลูกถ่ายได้ ผู้บริจาคไตต้องมีประเภทเนื้อเยื่อและหมู่เลือดเดียวกันกับคุณ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการที่ร่างกายต่อต้านไตที่รับบริจาคได้

      การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดใหญ่ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หลายประการ โดยเฉพาะความเสี่ยงในการเกิดปัญหาต่างๆ ภายหลังการปลูกถ่าย ผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายไตจึงจำเป็นต้องเข้ารับการติดตามอาการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

      ถึงแม้ว่าจะมีสถิติที่ชี้ให้เห็นว่าอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงลดลงอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่การปลูกถ่ายไต ก็ยังคงมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่นๆ

      โดยความเสี่ยงในการปลูกถ่ายไตสามารถเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่

      • ความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการปลูกถ่ายไตเอง
      • ความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน (ยาที่ลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน)
      • ความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับสิ่งผิดปกติที่เกิดกับไตที่ปลูกถ่าย

      อาการแทรกซ้อนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงสองสามเดือนแรกหลังการปลูกถ่ายไต แต่อาการแทรกซ้อนยังสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากเวลาผ่านไปหลายปี

      อาการแทรกซ้อนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของการปลูกถ่ายไตมีดังนี้

      อาการแทรกซ้อนในระยะสั้น

      • เส้นเลือดอุดตัน
      • ท่อไตอุดตันหรือรั่ว
      • ไตทำงานช้าลง
      • การต่อต้านไตเฉียบพลัน
      • การติดเชื้อ
      • ของเหลวสะสมตัว
      • เส้นประสาทเสียหายชั่วคราว
      • ได้รับเชื้อโรคมะเร็งหรือการติดเชื้อ

      อาการแทรกซ้อนในระยะยาว

      • ไตวาย
      • ท่อไตอุดตัน
      • หลอดเลือด ที่หล่อเลี้ยงไตตีบลง

      เป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนต่างๆ ก่อนเข้ารับการผ่าตัดดังกล่าว หากคุณมีคำถามใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์หรือศัลยแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

      ขั้นตอน

      การเตรียมตัวก่อนการปลูกถ่ายไต

      โดยปกติแล้วก่อนการปลูกถ่ายไต คุณจะได้รับการประเมินร่างกายโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายไต เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณเป็นผู้เข้ารับการปลูกถ่ายไตที่ดี โดยคุณจะต้องเข้าพบแพทย์หลายครั้งในเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน รวมทั้งจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเลือดและเอกซเรย์ด้วย

      การทดสอบก่อนการปลูกถ่ายไต ได้แก่

      • การตรวจประเภทเนื้อเยื่อและเลือด เพื่อช่วยให้มั่นใจว่าร่างกายของคุณจะไม่ต่อต้านไตที่ได้รับบริจาค
      • การทดสอบเลือดหรือผิวหนังเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ
      • การทดสอบหัวใจ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การทำเอคโคหัวใจ (echocardiogram) และการใช้สายสวนหัวใจ (cardiac catheterization)
      • การทดสอบหามะเร็งในระยะเริ่มแรก

      นอกจากนี้ ยังต้องการพิจารณาเลือกโรงพยาบาลหนึ่งแห่งหรือมากกว่าที่มีความเชี่ยวชาญในการปลูกถ่ายไต เพื่อตัดสินใจว่าโรงพยาบาลใดดีที่สุดสำหรับคุณ

      • สอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าแพทย์ทำการปลูกถ่ายไตจำนวนกี่ครั้งในแต่ละปี และอัตราสัมฤทธิ์ผลเป็นเท่าไร โดยให้เปรียบเทียบตัวเลขเหล่านี้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
      • สอบถามเกี่ยวกับทีมช่วยเหลือที่โรงพยาบาลมี และประเภทการจัดการการเดินทางและการพักรักษาที่โรงพยาบาลมีให้

      หากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่าคุณเป็นผู้เข้ารับการปลูกถ่ายไตที่ดี คุณจะอยู่ในรายการรอเรียกเพื่อเข้ารับการปลูกถ่ายไตต่อไป

      ลำดับการรอเข้ารับการปลูกถ่ายไตของคุณขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ แต่ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ประเภทของปัญหาเกี่ยวกับไตที่คุณเป็น ระดับความรุนแรงของโรคหัวใจที่คุณเป็น และความเป็นไปได้ที่การปลูกถ่ายไตจะได้ผล

      สำหรับผู้ใหญ่นั้น ระยะเวลาที่รอในรายการรอเข้ารับการปลูกถ่ายไตมักไม่ใช่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับว่าคุณจะได้รับการปลูกถ่ายไตเร็วเท่าไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าไตที่ได้รับบริจาคเข้ากับคุณได้หรือไม่ ในขณะที่คุณรอรับการปลูกถ่ายไต แนะนำว่าให้คุณปฏิบัติตัว ดังนี้

      • ปฏิบัติตามแผนการรับประทานอาหารใดๆ ที่ทีมผู้เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายไตแนะนำ
      • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
      • ไม่สูบบุหรี่
      • รักษาน้ำหนักให้ได้ตามเกณฑ์ที่ได้รับการแนะนำ โดยควรปฏิบัติตามโปรแกรมการออกกำลังกายที่ได้รับการแนะนำ
      • ใช้ยาทั้งหมดที่สั่ง และรายงานการเปลี่ยนแปลงการใช้ยาหรือปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นใหม่ หรืออาการที่แย่ลง ให้ทีมผู้เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายไตทราบ
      • เข้าพบแพทย์และทีมผู้เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายไตอย่างสม่ำเสมอ ทีมผู้เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายไตควรมีเบอร์โทรศัพท์ที่ถูกต้องของคุณเพื่อให้สามารถติดต่อคุณได้ทันทีหากมีไตที่พร้อมสำหรับคุณ
      • เตรียมทุกอย่างให้พร้อมล่วงหน้าสำหรับการไปโรงพยาบาล

      ขั้นตอนการปลูกถ่ายไต

      ศัลยแพทย์ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการปลูกถ่ายไต โดยผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะได้รับยาสลบก่อนเข้ารับการผ่าตัด

      • ศัลยแพทย์ลงรอยผ่าในบริเวณช่องท้องส่วนล่าง
      • ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายไตภายในบริเวณช่องท้องส่วนล่าง หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำของไตที่ปลูกถ่ายจะถูกเชื่อมต่อกับหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำในเชิงกราน เมื่อเลือดไหลผ่านไตที่ได้รับการปลูกถ่าย การขับถ่ายปัสสาวะก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ส่วนท่อที่ลำเลียงปัสสาวะ (ท่อไต) ก็จะถูกเชื่อมต่อกับกระเพาะปัสสาวะ
      • ไตเดิมของคุณจะถูกเก็บไว้หากไม่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ไม่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง การติดเชื้อ หรือมีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับร่างกายของคุณ แล้วแผลจะถูกเย็บปิด

      หากคุณมีคำถามหรือข้อกังวลใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์หรือศัลยแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

      การพักฟื้น

      หลังการปลูกถ่ายไต

      โดยปกติแล้ว หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต คุณจะพักอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 3-4 วันเพื่อพักฟื้น  แพทย์ที่ทำการปลูกถ่ายไตจะติดตามกระบวนการพักฟื้นของคุณ ในระหว่างที่พักอยู่ในโรงพยาบาลตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

      • ดูแลไตที่ได้รับการปลูกถ่ายของคุณ หลังจากออกจากโรงพยาบาล คุณจะจำเป็นต้องมาโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์เพื่อให้แพทย์ที่ทำการปลูกถ่ายไต สามารถเฝ้าระวังการทำงานของไตที่ปลูกถ่ายและการพักฟื้นของคุณ
      • การติดตามอาการ แพทย์ที่ทำการปลูกถ่ายไตจะให้ข้อมูลแก่แพทย์ที่ดูแลสุขภาพเบื้องต้นของคุณ เกี่ยวกับอาการของคุณ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลรักษาที่บ้าน คุณจะได้รับการนัดหมายติดตามอาการประจำปีหรือมากกว่าหากจำเป็น
      • การใช้ยา คุณจะจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้ร่างกายของคุณต่อต้านไต โดยทีมผู้เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายไต จะให้รายละเอียดการใช้ยาชนิดใหม่ของคุณ
      • การฟื้นฟูร่างกาย แพทย์ที่ทำการปลูกถ่ายไตจะพิจารณาการฟื้นฟูร่างกายของคุณ หลังการปลูกถ่ายไต คุณจะได้รับแนวปฏิบัติเฉพาะเพื่อออกกำลังกายให้มากขึ้น โดยมีแผนการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่ได้รับการแนะนำ แพทย์และพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายไตจะดำเนินการร่วมกับคุณเพื่อหาทางเลือกในการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

      การปลูกถ่ายไตที่ประสบผลสำเร็จ จำเป็นต้องมีการติดตามอาการที่ใกล้ชิดกับแพทย์ และคุณต้องใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเสมอ

      Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

      หมายเหตุ

      Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



      ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

      ทีม Hello คุณหมอ


      เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/08/2020

      ad iconโฆษณา

      คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

      ad iconโฆษณา
      ad iconโฆษณา