backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

เป็นไข้ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

เป็นไข้ สาเหตุ อาการ และการรักษา

เมื่อรู้สึกว่าร่างกายอ่อนแรง ร้อนวูบวาบ บางคนอาจมีอาการไอ มีน้ำมูกร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการไข้ที่สามารถเช็กได้ด้วยการใช้เทอร์โมมิเตอร์มาสอดบริเวณใต้รักแร้ หรือในช่องปากใต้ลิ้นเพื่อวัดอุณหภูมิร่างกาย หากมีอุณหภูมิที่สูงตั้งแต่ 38 ขึ้นไป อาจมีความหมายว่า เป็นไข้ ที่ควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วโดยสามารถซื้อยาบรรเทาอาการตามอาการที่เป็น หรือเข้าพบคุณหมอโดยตรง

สาเหตุที่ทำให้ เป็นไข้

ปกติแล้วอุณหภูมิของร่างกายจะถูกควบคุมโดยสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่ทำให้อุณหภูมิลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์และสภาพอากาศ แต่เมื่อติดเชื้อหรือเจ็บป่วยสมองส่วนนี้จะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นชั่วคราวกว่า 38 องศาเซลเซียส เพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่ามีความผิดปกติที่อาจเกิดจาก

  • การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโควิด-19 ไวรัสอินซูเอ็นซาจากไข้หวัดใหญ่ 
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย
  • มีการอักเสบภายในร่างกาย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การอักเสบของข้อต่อ
  • เป็นเนื้องอกมะเร็ง
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคลูปัส
  • มีภาวะเพลียแดดที่เกิดจากการตากแดดเป็นเวลานาน
  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาควบคุมความดันโลหิต ยาปฏิชีวนะ ยาต้านอาการชัก
  • การฉีดวัคซีน เพราะอาจเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายระหว่างระบบภูมิคุ้มกันกับวัคซีน

อาการของคนเป็นไข้

อาการของคนเป็นไข้ อาจมีดังนี้

อาการของคนเป็นไข้ในเด็กทารก

  • อายุน้อยกว่า 3 เดือน อาจมีอุณหภูมิร่างกาย 38 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า
  • อายุระหว่าง 3-6 เดือน อาจมีอุณหภูมิร่างกาย 38.9 องศาเซลเซียส ขึ้นไป หรือมีอุณหภูมิต่ำแต่มีอาการหงุดหงิดบ่อยหรือร้องไห้ผิดปกติ
  • อายุระหว่าง 7-24 เดือน อาจมีอุณหภูมิร่างกาย 38.9 องศาเซลเซียส ขึ้นไป เป็นเวลานานกว่า 1 วัน บางคนอาจมีอาการไอ ท้องเสีย มีน้ำมูกร่วมด้วย

อาการของคนเป็นไข้ในวัยเด็ก

  • มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลานานกว่า 3 วัน
  • มีอาการหงุดหงิดง่าย เด็กบางคนอาจรู้สึกห่อเหี่ยว ไม่มีชีวิตชีวา
  • อาเจียนบ่อย
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • เจ็บคอ 
  • ปวดท้องและท้องร่วง
  • มีอาการชัก

อาการของคนเป็นไข้ในผู้ใหญ่

  • มีไข้สูง 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • มีอาการหนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ
  • ร่างกายอ่อนแรง
  • ร่างกายขาดน้ำ
  • รู้สึกเบื่ออาหารหรือไม่อยากอาหาร
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • อาเจียน
  • หายใจลำบาก
  • ปวดท้อง
  • ผื่นขึ้นลำตัว
  • อาการชัก

เป็นไข้ ควรรักษาอย่างไร

เป็นไข้อาจรักษาได้โดยรับประทานยาตามอาการดังนี้

  • ยาแก้ปวดและลดไข้ เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยลดไข้บรรเทาอาการปวด สำหรับเด็กผู้ปกครองไม่ควรให้รับประทานนาแอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กเป็นโรคเรย์ (Reye’s syndrome) และนำไปสู่การเสียชีวิตได้
  • ยาลดน้ำมูกและยาแก้ไอ เพื่อช่วยบรรเทาอาการไอ ลดน้ำมูก ทำให้หายใจสะดวกและลดการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น เพราะอาการไข้อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านสารคัดหลั่งเมื่อไอหรือจามและสัมผัสโดยตรง
  • ยาปฏิชีวนะและยาต้านไวรัส เป็นยาที่ควรได้รับการอนุญาตจากคุณหมอโดยผ่านการวินิจฉัยอาการ เพื่อรับยาอย่างเหมาะสมที่ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัส เช่น โรคคออักเสบ ไซนัสอักเสบ โควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่

นอกจากนี้ สำหรับผู้ใหญ่หากรับประทานยาตามอาการแล้วยังคงมีไข้สูงและสำหรับทารกหรือเด็กที่มีไข้สูง ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ และนำผ้ามาชุบน้ำหมาด ๆ มาเช็ดตัวเพื่อไล่อุณหภูมิหรือพาเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรง เช่น โรคโควิด-19 โรคโรต้าไวรัส โรคไข้หวัดใหญ่ และเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากอาการชัก หมดสติที่ส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิต

วิธีดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้ เป็นไข้

วิธีดูแลตัวเองไม่ให้เป็นไข้ อาจทำได้ดังนี้

  • เข้ารับการฉีดวัคซีนตามที่คุณหมอกำหนด โดยสามารถเริ่มได้ตั้งแต่วัยทารก
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่โดยเฉพาะหลังจากเข้าห้องน้ำและจับสิ่งของหรือวัตถุที่ต่าง ๆ รอบด้วยที่ใช้รวมกัน 
  • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้านหรืออยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
  • ควรอยู่ในห่างจากคนป่วย
  • ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกันโดยเฉพาะสิ่งของที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งโดยตรง เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม ผ้าเช็ดหน้า หลอดดูดน้ำ
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เพราะเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารและวิตามินต่าง ๆ ที่อาจช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมประสิทธิภาพการทำงานให้ระบบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นช่วยต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน เดินเร็ว ว่ายน้ำ โยคะ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีและกระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการระบบภูมิคุ้มกันในการช่วยต้านสิ่งแปลกปลอมเมื่อเข้าสู่ร่างกาย

สำหรับเด็กผู้ปกครองควรสอนให้เด็กรู้จักการรักษาสุขอนามัย เช่น การล้างมือ การไม่ใช่สิ่งของร่วมกันกับเพื่อนในโรงเรียน การอยู่ให้ห่างจากเพื่อนที่ป่วย การสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากเมื่อไอหรือจาม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นไข้ โรคร้ายแรง และลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่น ๆ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา