backup og meta

วัดอุณหภูมิลูกได้ 36.7 องศา ถือว่า มีไข้ไหม ?

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/03/2022

    วัดอุณหภูมิลูกได้ 36.7 องศา ถือว่า มีไข้ไหม ?

    การวัดอุณหภูมิร่างกายของลูกได้ 36.7 องศา อาจหมายความว่าไม่มีไข้ เนื่องจากอุณหภูมิร่างกายของเด็กโดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 36.5-37.5 องศา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอาจส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิร่างกายได้ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ของลูกร่วมด้วย เช่น งอแง ร้องไห้ไม่หยุด อาเจียน กินนมน้อย ท้องเสีย ซึม

    วิธีวัดอุณหภูมิร่างกายลูก

    การวัดอุณหภูมิร่างกายลูกควรวัดในอุณหภูมิห้องปกติ และไม่ควรวัดหลังจากลูกอาบน้ำ หรือออกกำลังกายเสร็จ เพราะอุณหภูมิร่างกายอาจเปลี่ยนแปลงจนทำให้ผลคลาดเคลื่อน อีกทั้งยังควรทำความสะอาดเทอร์โมมิเตอร์ก่อนและหลังใช้งาน และไม่ควรใช้เทอร์โมมิเตอร์เดียวกันวัดอุณหภูมิร่างกายส่วนอื่น เช่น ไม่ควรใช้เทอร์โมมมิเตอร์ที่อมในปากมาหนีบรักแร้ ถึงแม้ว่าจะทำความสะอาดแล้วก็ตาม

    วิธีวัดอุณหภูมิร่างกายลูกสามารถวัดได้ 5 วิธี ดังนี้

    • การวัดอุณหภูมิบนหน้าผาก เครื่องเทอร์โมมิเตอร์ส่วนใหญ่จะเป็นแบบดิจิตอล โดยสามารถนำเครื่องไปจ่อไปยังบริเวณหน้าผากของลูก จากนั้นกดปุ่มเพื่อให้เครื่องวัดและแสดงผลบนหน้าจอ
    • การวัดอุณหภูมิทางช่องปาก เครื่องเทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิตอลที่มีลักษณะเป็นแท่งยาว วางไว้ใต้ลิ้นของลูก และให้ลูกอมไว้จนกว่าสัญญาณเตือนของเครื่องจะดัง สำหรับแบบปรอทแก้ววัดไข้อาจเหมาะสำหรับใช้ในเด็กที่อายุ 5 ปีขึ้นไป ไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก โดยให้ลูกอมไว้ใต้ลิ้นประมาณ 3 นาที แล้วอ่านผล แต่ไม่ควรใช้กับเด็กเล็กอาจทำให้เด็กเคี้ยวกัดจนปรอทแตกได้ และไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มก่อนวัดอุณหภูมิอย่างน้อย 15 นาที เพื่อป้องกันผลคลาดเคลื่อน
    • การวัดอุณหภูมิบริเวณรักแร้ โดยใช้เทอร์โมมิเตอร์ได้ในรูปแบบดิจิตอลหรือแบบปรอทแก้วธรรมดาวางไว้ใต้รักแร้แนบหนังผิวหนัง หนีบไว้ 2-3 นาที หรือจนกว่าเครื่องจะส่งสัญญาณเตือน ไม่ควรตรวจผ่านเสื้อผ้าเพราะอาจทำให้ผลคลาดเคลื่อนได้
    • การวัดอุณหภูมิทางช่องหู คุณพ่อคุณแม่สามารถหาซื้อเทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิตอลที่ใช้วัดทางช่องหูโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเครื่องคล้ายรีโมตและมีอุปกรณ์ส่วนปลายยืดออกมาเพื่อสอดเข้าช่องหู ระวังอย่าให้ลึกเกินไปเพื่อป้องกันลูกบาดเจ็บ จากนั้นถือค้างไว้จนกว่าจะมีสัญญาณเตือนจากอุปกรณ์ และนำออกมาอ่านค่าตัวเลขที่แสดงผลบนหน้าจอ
    • การวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก ควรเลือกเทอร์โมมิเตอร์ดิจิตอล โดยทาปิโตรเลียมเจลลี่ไว้ปลายเทอร์โมมิเตอร์เพื่อเพิ่มความหล่อลื่นป้องกันการบาดเจ็บ และให้ลูกนอนหงายยกขาขึ้นทั้ง 2 ข้าง แล้วค่อย ๆ สอดเทอร์โมมิเตอร์เข้าทางทวารหนักลึกประมาณ 1 นิ้ว รอจนกว่าอุปกรณ์จะส่งสัญญาณเตือนดัง และนำออกมาอ่านค่าตัวเลขจะปรากฏบนเทอร์โมมิเตอร์ แต่ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้เองที่บ้าน ส่วนใหญ่มักจะใช้ที่โรงพยาบาล

    วัดอุณหภูมิลูกได้ 36.7 องศา มีไข้ไหม

    ปกติแล้วทารกและเด็ก จะมีอุณหภูมิร่างกายอยู่ที่ 36.5-37.5 องศา ดังนั้น หากวัดอุณหภูมิลูกได้ 36.7 องศา อาจหมายความว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีไข้  หากมีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศา ขึ้นไป ก็จะถือว่ามีไข้ แต่อาจขึ้นอยู่กับว่าวัดทางไหนด้วย

    การเป็นไข้นาน 2-3 วัน เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันที่กำลังต่อต้านเชื้อโรค ไวรัส หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจควรพาลูกพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจรักษาและขอคำแนะนำในการดูแลลูกเพื่อบรรเทาอาการไข้อย่างถูกวิธี

    ลูกเป็นไข้ ควรทำอย่างไร

    เมื่อลูกเป็นไข้ คุณพ่อคุณแม่อาจลดไข้ให้ลูกเบื้องต้นด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
    • รีบเช็ดตัวลดไข้ โดยใช้น้ำธรรมดาเช็ดตัว
    • ให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หรือห่มผ้าห่มบาง ๆ หากลูกหนาวสั่น
    • ไม่ควรให้ลูกรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจเสี่ยงต่อโรคไรยน์ซินโดรม (Reye’s syndrome) อาการชัก เกิดปัญหาเกี่ยวกับสมอง และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ สำหรับทารกที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจให้ยาอะเซตามิโนเฟนหรือพาราเซตตามอล (Acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวดลดไข้ และควรอ่านฉลากทุกครั้งก่อนใช้ยา เพื่อให้ลูกรับประทานยาในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากลูกมีไข้สูงกว่า 38 องศานานกว่า 72 ชั่วโมง ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บคอ ชัก ควรพาลูกพบไปคุณหมอทันที

    สำหรับทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 38 องศา ขึ้นไป และมีอาการหายใจลำบาก ผื่นขึ้น ดื่มน้ำน้อย ปากแห้ง อาเจียน ท้องร่วง ร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา และร้องไห้เป็นเวลานาน ควรเข้ารับการรักษาโดยคุณหมอในทันที อีกทั้งยังควรให้ลูกได้รับวัคซีนตามกำหนด เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ สเตรปโตคอกคัส นิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae)

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา