backup og meta

MIS C หรือ ภาวะอักเสบในเด็กหลังหายจากโรคโควิด-19 เป็นอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

    MIS C หรือ ภาวะอักเสบในเด็กหลังหายจากโรคโควิด-19 เป็นอย่างไร

    ภาวะมิสซี หรือ MIS C เป็นภาวะแทรกซ้อนหลังจากหายจากโรคโควิด-19 ที่พบในเด็กและวัยรุ่น เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายตอบสนองมากผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะอักเสบตามอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เด็กมีไข้ ตาแดง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง เป็นต้น แม้ภาวะมิสซีจะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตสภาวะสุขภาพของเด็กหลังหายจากโรคโควิด-19  หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรพาเด็กไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

    MIS C คืออะไร

    MIS C ย่อมาจากคำว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หรือเรียกว่า ภาวะมิสซี คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก มักพบบริเวณอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น ดวงตา หัวใจ ปอด หลอดเลือด ไต อวัยวะในระบบย่อยอาหาร สมอง ผิวหนัง ภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบหลังเด็กหายจากโรคโควิด-19 เกิดจากระบบภูมิคุุ้มกันทำงานมากเกินไปเพื่อต่อต้านไวรัสแปลกปลอมที่เข้าสู่ในร่างกาย มักเกิดขึ้นในช่วงใกล้หายจากโควิด-19 หรืออาจเกิดในช่วง 2-6 สัปดาห์หลังติดเชื้อโควิด-19

    กลุ่มเสี่ยงของภาวะมิสซี

    ภาวะมิสซี มักเกิดขึ้นกับเด็กที่เพิ่งหายจากโรคโควิด-19 โดยเฉพาะเด็กอายุ 8-9 ปี แต่กลุ่มอาการนี้ก็สามารถเกิดได้กับเด็กทารกและวัยรุ่นได้ และมักเกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ดังนั้น แม้ในบางครั้งอาการโรคโควิด-19 ในเด็กอาจไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ และบุตรหลานที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มักมีอาการดีขึ้นจนตรวจไม่พบเชื้อแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรหมั่นสังเกตอาการและภาวะสุขภาพของเด็ก หากพบอาการผิดปกติ ควรพาไปพบคุณหมอโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

    อาการของภาวะ MIS C

    อาการของภาวะมิสซี อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดการอักเสบ อาการที่พบอาจมีดังนี้

  • เป็นไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสนานเกิน 1 วัน ร่วมกับอาการอย่างน้อย 2 ระบบ ดังนี้
    • ผื่น ตาแดง หรือมีอาการอักเสบของเยื่อบุต่างๆ
    • ความดันโลหิตต่ำหรือช็อก
    • อาการระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เจ็บแน่นหน้าอก
    • ภาวะเลือดออกง่ายจากการแข้งตัวของเลือดผิดปกติ
    • อาการระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
    • อาการระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ หอบเหนื่อย
    • อาการของระบบประสาท ได้แก่ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ ชัก แขนขาอ่อนแรว
    • ปัสสาวะออกน้อย
  • เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากมีอาการต่อไปนี้ ควรพาเด็กไปพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากอาการอาจเกิดขึ้นทับซ้อนกับภาวะติดเชื้อหรือโรคอื่น ๆ ที่ทำให้อาการของเด็กแย่ลง

    • ปวดท้องรุนแรง
    • หายใจลำบาก
    • ผิวซีด หรือผิวหนัง ริมฝีปาก ฐานเล็บเปลี่ยนเป็นสีฟ้า
    • สับสน มึนงง
    • ปลุกไม่ตื่น ง่วงนอนตลอดเวลา

    วิธีรักษาของคุณหมออาจเป็นการรักษาตามอาการ ดังต่อไปนี้

    • ให้ของเหลวเพื่อรักษาภาวะขาดน้ำ
    • ให้ออกซิเจนเพื่อช่วยแก้ปัญหาการหายใจไม่สะดวก
    • ให้ยาผ่านหลอดเลือดดำ
    • จ่ายยาต้านลิ่มเลือด
    • จ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

    หรือการรักษาเพื่อลดการอักเสบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย ดังต่อไปนี้

    • จ่ายยากดการอักเสบ เช่น ยาสเตียรอย อิมมูโนโกลบูลิน

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคโควิด-19

    วิธีการสอนให้เด็กดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะมิสซี อาจทำได้ดังนี้

    • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ และหลังสัมผัสสิ่งของหรือพื้นที่สาธารณะ โดยให้เด็กล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ ถูสบู่ให้ทั่วฝ่ามือ ซอกนิ้ว เล็บ ฝ่ามือ และไล่ไปถึงแขนท่อนล่างทั้งสองข้างเล็กน้อย เป็นเวลา 20 วินาที หรือร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ 2 รอบ
    • ควรพกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์อย่างน้อย 70% ติดตัวเสมอเพื่อใช้ทำความสะอาดมือและผื้นผิวรอบตัว ในกรณีที่ไม่สะดวกล้างมือด้วยน้ำและสบู่
    • หลีกเลี่ยงการให้เด็กเข้าใกล้คนที่กำลังป่วย โดยเฉพาะคนที่ไอหรือสูดน้ำมูก
    • สอนให้เด็กรักษาระยะห่างจากบุคคลอื่นหรือคนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันอย่างน้อย 2 เมตร
    • สอนให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะเสมอ
    • หลีกเลี่ยงการให้เด็กจับจมูก ขยี้ตา หรือสัมผัสปากของตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคจากมือจะเข้าสู่ร่างกาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา