backup og meta

ไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

    ไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุ อาการ การรักษา

    ไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) หมายถึง การที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนจนมีปริมาณมากเกินไป ซึ่งมักส่งผลให้มีอาการหัวใจเต้นเร็ว น้ำหนักลดลง หรือรู้สึกร้อนกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ไทรอยด์เป็นพิษรักษาให้หายได้จากการรับประทานยาและการผ่าตัด

    คำจำกัดความ

    ไทรอยด์เป็นพิษคืออะไร

    ไทรอยด์เป็นพิษหมายถึงภาวะที่ร่างกายมีฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากเกินไป ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพหรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา จนก่อให้เกิดอาการป่วยต่าง ๆ ตามมา

    ทั้งนี้ ภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism) หรือการที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากผิดปกติ จัดเป็นรูปแบบหนึ่งของไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งมักพบในเพศหญิงประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ และพบในเพศชายประมาณ 0.2 เปอร์เซ็นต์

    อาการ

    อาการ ไทรอยด์เป็นพิษ

    อาการที่พบได้ เมื่อมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ มีดังนี้

    อาการในระดับเบาหรือปานกลาง

    • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • หัวใจเต้นเร็ว มักเกิน 100 ครั้ง/นาที
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • ตัวสั่น
    • ประหม่า วิตกกังวล ขี้หงุดหงิด
    • รู้สึกร้อนกว่าปกติ เหงื่อออก
    • ประจำเดือนมาไม่ปกติ

    อาการในระดับรุนแรง

    • หัวใจเต้นเร็วมาก
    • ไข้สูง
    • รู้สึกมึนงง ปั่นป่วน
    • ท้องร่วง
    • หมดสติ

    สาเหตุ

    สาเหตุของ ไทรอยด์เป็นพิษ

    ไทรอยด์เป็นพิษมักเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • โรคเกรฟส์ (Graves’ Disease) เป็นโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง ซึ่งกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากกว่าปกติ หรือมีภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
    • ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เมื่อมีก้อนบวมที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจมีทั้งแบบก้อนเดียวหรือหลายก้อน จะส่งผลให้ต่อมไทรอยด์จะผลิตฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติ
    • ต่อมไทรอยด์อักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อ การใช้ยาบางชนิด รวมถึงโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง ซึ่งส่งผลให้ต่อมไทรอยด์บวมและผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินไป
    • การรับประทานยาไทรอยด์หรือฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์มากเกินไป มักเกิดกับผู้ที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยเกินไป ซึ่งต้องบริโภคยาไทรอยด์อยู่เสมอ

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษควรไปพบคุณหมอ หากน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุหรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากไทรอยด์เป็นพิษ

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยไทรอยด์เป็นพิษ

    โดยทั่วไป คุณหมอจะวินิจฉัยไทรอยด์เป็นพิษ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ตรวจร่างกาย อย่างการฟังอัตราการเต้นของหัวใจด้วยหูฟังทางการแพทย์ การสัมผัสมือว่าสั่นหรือไม่ รวมถึงการตรวจดูต่อมไทรอยด์ว่ามีลักษณะบวมหรือไม่
    • ตรวจเลือด หรือการเจาะเลือด เพื่อนำตัวอย่างเลือดไปตรวจดูว่ามีฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์สูงเกินเกณฑ์หรือไม่
    • ตรวจการดูดซึมไอโอดีนกัมมันตภาพรังสี เป็นการให้รับประทานไอโอดีนกัมมันตภาพรังสี แล้วใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า แกมมา โพรบ (Gamma Probe) ตรวจการดูดซึมไอโอดีนกัมมันตภาพรังสีของต่อมไทรอยด์ หากต่อมไทรอยด์ดูดซึมไอโอดีนกัมมันตภาพรังสีในปริมาณมาก จะหมายความว่า ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากกว่าปกติ
    • ไทรอยด์ สแกน เป็นการให้ดื่มเครื่องดื่มกัมมันตภาพรังสี แล้วใช้กล้องทางการแพทย์ถ่ายภาพบริเวณต่อมไทรอยด์ เพื่อตรวจดูว่าต่อมไทรอยด์มีก้อนบวม อักเสบ หรือกำลังเป็นมะเร็งหรือไม่
    • อัลตราซาวด์ เป็นการตรวจหาก้อนบวมบริเวณต่อมไทรอยด์ ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง

    การรักษาไทรอยด์เป็นพิษ

    ไทรอยด์เป็นพิษ อาจรักษาได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

    • การให้ยาต้านไทรอยด์ เช่น เมไทมาโซล (Methimazole) โพรพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil หรือ PTU) เพื่อทำให้ต่อมไทรอยด์ของผู้ป่วยผลิตฮอร์โมนน้อยลง
    • การให้ไอโอดีนกัมมันตภาพรังสี เพื่อทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ แล้วทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลงและผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง
    • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หรือการนำต่อมไทรอยด์บางส่วนหรือทั้งหมดออกจากร่างกาย วิธีการรักษาแบบนี้จะทำให้ต่อมไทรอย์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลงจนต่ำกว่าระดับที่ร่างกายต้องการ และทำให้ต้องรับฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนตลอดชีวิต
    • เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) เป็นยาซึ่งลดการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ทำให้อาการไทรอยด์เป็นพิษทุเลาลง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    ไทรอยด์เป็นพิษไม่สามารถป้องกันได้ ยกเว้นในกรณีที่เกิดจากการกินยาไทรอยด์เกินขนาด ซึ่งอาจป้องกันได้ด้วยการกินยาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา