backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

คัดจมูก สาเหตุ และวิธีการบรรเทาอาการ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 27/01/2022

คัดจมูก สาเหตุ และวิธีการบรรเทาอาการ

คัดจมูก หมายถึงอาการแน่นจมูก หายใจไม่สะดวก และอาจมีน้ำมูก เนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อไวรัส การอักเสบ โรคภูมิแพ้ การเรียนรู้เกี่ยวกับสาเหตุและวิธีการบรรเทาอาการ จะช่วยให้สามารถจัดการกับอาการคัดจมูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น มีอาการนานกว่า 10 วัน มีไข้สูง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม

คัดจมูก เป็นอย่างไร

อาการคัดจมูก คืออาการที่รู้สึกหายใจไม่ออก หรือหายใจไม่สะดวก หรือหายใจได้ไม่เต็มอิ่ม บางครั้งอาจเกิดอาการอักเสบจนทำให้จมูกแดง และบวม ทำให้รูจมูกที่ทำหน้าที่สำหรับถ่ายเทและไหลเวียนอากาศแคบลงจนรู้สึกหายใจทางจมูกลำบาก มากไปกว่านั้นอาการอักเสบยังทำให้เกิดน้ำมูกภายในจมูกมากขึ้นจนอุดตันและไหลออกมาได้ยาก ทำให้รู้สึกอึดอัด คัดจมูก และหายใจไม่ออกมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาการคัดจมูกมักจะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เมื่อเป็นหวัด หรือเป็นไข้หวัดใหญ่

สาเหตุของอาการคัดจมูก

สาเหตุของ อาการคัดจมูก มีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ ดังนี้

การติดเชื้อไวรัส

โรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้มี อาการคัดจมูก โดยกลุ่มเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นหวัดและมีอาการคัดจมูกมากที่สุดคือกลุ่มเชื้อไวรัสที่ชื่อ ไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งจะทำให้มีอาการไอ จาม และเจ็บคอร่วมด้วย

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ 

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายตอบสนองต่อสิ่งที่ไม่มีอันตราย เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่น ขนสัตว์ เมื่อระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอันตราย ร่างกายจึงตอบสนองต่อสิ่งเร้าเหล่านั้น ส่งผลให้เกิด อาการคัดจมูก จามอย่างรุนแรง น้ำมูกไหล หรือคันที่ดวงตา ในบางรายอาจมีอาการผื่นขึ้นตามเนื้อตัวด้วย

โรคจมูกอักเสบจากการทำงาน

โรคจมูกอักเสบจากการทำงาน (Occupational Rhinitis) มีลักษณะคล้ายกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ แต่มักจะเกิดจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เช่น ทำงานในที่ที่มีสารเคมี ฝุ่นละออง ฝุ่นผงจากไม้ เมล็ดธัญพืช และส่งผลให้เกิดอาการคัดจมูกอย่างรุนแรง มีอาการจาม คันที่ดวงตา หรือมีผื่นขึ้นตามตัว

โรคจมูกอักเสบจากการตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ส่งผลกระทบต่อร่างกายในหลาย ๆ ส่วนด้วยกัน รวมถึงบริเวณจมูกด้วย เนื่องจากเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายมีการผันผวน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) มีระดับที่สูงขึ้น ทำให้การไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น มีผลให้เยื่อเมือกในจมูกเกิดอาการบวม ทำให้รู้สึกคัดจมูก หรือจามบ่อย ซึ่งโรคจมูกอักเสบจากการตั้งครรภ์ (Pregnancy Rhinitis) สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ แต่จะหายไปเองหลังจากคลอดลูกแล้ว

โรคเยื่อจมูกอักเสบฝ่อ 

โรคเยื่อจมูกอักเสบฝ่อ (Atrophic Rhinitis) เกิดขึ้นเมื่อเยื่อเมือกในจมูกมีอาการบางและแห้ง เนื้อเยื่อที่บางลงจะทำให้เชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสสามารถเจริญเติบโตได้ดี และง่ายต่อการติดเชื้อ ทั้งยังทำให้มีน้ำมูกตกค้างอยู่ภายในจมูกจนส่งผลให้เกิด อาการคัดจมูก หายใจไม่ออก อาการเยื่อจมูกอักเสบฝ่อนี้มักจะพบได้ในผู้ที่ทำการผ่าตัดบริเวณจมูกบ่อยครั้ง

นอกจากนี้ อาการคัดจมูก ยังสามารถเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น

ทำอย่างไรเมื่อมีอาการคัดจมูก

มีอยู่ด้วยกันหลายวิธีที่มีส่วนช่วยให้ อาการคัดจมูก หรืออาการหายใจไม่สะดวกดีขึ้น ได้แก่

ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ

หนึ่งในวิธีที่ง่ายและทำได้ทันทีโดยไม่เปลืองแรงมากก็คือการใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ เพราะการหายในสภาพอากาศที่มีความชื้นเหมาะสม จะมีส่วนช่วยบรรเทาอาการอักเสบของเนื้อเยื่อในจมูก ช่วยลดอาการคัดจมูก บรรเทาอาการปวดจากไซนัส หรือบรรเทาอาการระคายเคืองที่เนื้อเยื่อและเส้นเลือดภายในจมูกด้วย

อาบน้ำอุ่น

การอาบน้ำอุ่นจะช่วยให้อาการคัดจมูกดีขึ้นได้ เนื่องจากไอน้ำจะเข้าไปทำให้น้ำมูกในจมูกเบาบางลงและช่วยลดอาการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในจมูกด้วย อย่างไรก็ตาม การอาบน้ำอุ่นอาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้นแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น

ดื่มน้ำบ่อย ๆ

ยิ่งจมูกแห้ง น้ำมูกและขี้มูกก็จะยิ่งแห้งตามไปด้วย ทำให้รู้สึกคัดจมูกและหายใจไม่ออก การดื่มน้ำบ่อย ๆ จะช่วยเพิ่มความชื้นให้แก่ร่างกายและเนื้อเยื่อภายในจมูก ทำให้สามารถสั่งน้ำมูกออกมาได้ง่ายขึ้น

มากไปกว่านั้นความชื้นยังช่วยลดอาการบวม อักเสบ หรือระคายเคืองของเนื้อเยื่อในจมูกให้ดีขึ้นด้วย แต่ถ้าหากคัดจมูกเนื่องจากเป็นหวัด ควรเลือกดื่มน้ำอุ่นหรือชาอุ่น ๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการไอและเจ็บคอให้ดีขึ้นเช่นกัน

กินอาหารอุ่น ๆ 

นอกจากการดื่มน้ำอุ่นแล้ว การกินอาหารอุ่น ๆ หรือร้อน อย่างน้ำซุปหรือต้มจืด ก็จะช่วยคลายเมือกในจมูกและลำคอให้เบาบางลง ทั้งยังช่วยลดอาการไอหรือเจ็บคออีกด้วย

สะระแหน่หรือใบมินต์

สะระแหน่หรือใบมินต์ เป็นพืชสมุนไพรที่มีสารประกอบอย่างเมนทอล ซึ่งเป็นสารที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการแน่นหน้าอก และลดอาการคัดจมูกตามธรรมชาติ  การใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีส่วนผสมของสะระแหน่หรือใบมินต์ ยาดม ยาหอม หรือชา ก็ช่วยบรรเทา อาการคัดจมูก ได้เหมือนกัน

ใช้สเปรย์น้ำเกลือ

หากการดื่มน้ำบ่อย ๆ ดื่มน้ำอุ่น หรือดื่มชาอุ่น ๆ ยังไม่ช่วยเพิ่มความชื้นภายในรูจมูกได้มากพอ การใช้สเปรย์น้ำเกลือฉีดเข้ารูจมูกบาง ๆ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ วิธีนี้จะช่วยลดอาการอักเสบของหลอดเลือดในจมูก และช่วยให้น้ำมูก ขี้มูก หลุดออกจากจมูกได้ง่ายขึ้น หรือถ้าไม่สะดวกใช้สเปรย์ สามารถใช้กาเนติ (Neti Pot) ฉีดน้ำเกลือแทนได้

ประคบอุ่น

การประคบอุ่นโดยใช้ผ้าขนหนูชุบหรือแช่น้ำอุ่น แล้วนำมาประคบไว้เหนือจมูกหรือหน้าผาก ไออุ่นจะช่วยลดอาการอักเสบ ลดอาการระคายเคือง และลดการอุดตันในจมูก ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น สามารถประคบได้บ่อยเท่าที่ต้องการ แต่ระวังอย่าใช้น้ำที่ร้อนจนเกินไป

นอนหมอนสูง

หากมี อาการคัดจมูก ในตอนนอน การนอนหมอนที่สูงขึ้น อาจช่วยให้น้ำมูกสามารถไหลออกมาได้ง่ายขึ้น ไม่อุดตันอยู่ภายในจมูกจนกระทั่งทำให้คัดจมูกหรือหายใจไม่ออก

ยาหดหลอดเลือด 

ยาหดหลอดเลือด (Decongestants) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อคือ ยาแก้คัดจมูก ยานี้จะช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง ลดอาการปวดในจมูก สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ แต่ควรรับประทานและปฏิบัติตามคำสั่งของฉลากยา หรือเภสัชกร เพื่อให้ยาสามารถแสดงประสิทธิภาพบรรเทา อาการคัดจมูก ได้อย่างเต็มที่

ยาแก้แพ้

หลายคนมี อาการคัดจมูก เนื่องจากอาการแพ้ ยาแก้แพ้เป็นอีกหนึ่งตัวยาที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการบวมในจมูก และบรรเทาอาการคัดจมูกให้ดีขึ้น แต่ควรรับประทานยาแก้แพ้และปฏิบัติตามคำสั่งของฉลากยา หรือเภสัชกร เพื่อให้ยาสามารถแสดงประสิทธิภาพบรรเทาอาการคัดจมูกได้อย่างเต็มที่

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากอาการคัดจมูกยังไม่ดีขึ้นแม้จะลองทำการรักษาด้วยตัวเองแล้ว หรือหากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

  • มีอาการคัดจมูก มานานเกินกว่า 10 วัน
  • มีอาการคัดจมูก พร้อมกับมีไข้สูง นานเกินกว่า 3 วัน
  • น้ำมูกมีสีเขียว และมีอาการปวดไซนัสกับมีไข้สูงร่วมด้วย
  • มีอาการทางสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันและระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 27/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา