backup og meta

ผื่นแพ้อากาศ เกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 05/05/2022

    ผื่นแพ้อากาศ เกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไร

    ผื่นแพ้อากาศ อาจเป็นตุ่มแดงบนผิวหนัง มักเกิดพร้อมกับอาการแพ้อากาศ โดยเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ ละอองรา ฝุ่นผงในอากาศ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มลภาวะทางอากาศรุนแรงขึ้น อย่าง PM 2.5 ทั้งนี้ เมื่อพบผื่นแพ้อากาศ แม้จะคัน ก็ควรหลีกเลี่ยงการเกา เพราะอาจทำให้ผื่นอักเสบยิ่งกว่าเดิม หรือเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อบริเวณผิวหนังได้

    แพ้อากาศ คืออะไร

    แพ้อากาศ เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการ ของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) หรือไข้ละอองฟาง โดยผู้ป่วยโรคนี้ จะมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ในอากาศ เช่น เกสรของพืช ฝุ่น ไรฝุ่น ฝุ่น PM2.5 รังแคของสัตว์ ละอองเชื้อรา โดยอาการป่วยที่พบ อาจมีดังนี้

    • คัดจมูก น้ำมูกไหล
    • ไอ จาม
    • น้ำตาไหล ตาแดง เคืองตา
    • ระคายเคืองบริเวณจมูก ปาก หรือลำคอ
    • มีผื่นแพ้อากาศ ผิวหนังเป็นตุ่มแดง ปื้นแดง หรือลมพิษขึ้นในบางราย

    ผื่นแพ้อากาศ กับโรคแพ้อากาศ

    ผื่นแพ้อากาศเป็นอาการที่พบได้เมื่อแพ้อากาศ  อาจพบตุ่มนูนแดง ปื้นแดง ตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย พร้อมทั้งอาจมีอาการคันร่วมด้วย

    ในทางการแพทย์ ผื่นแพ้อากาศ เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ในอากาศ โดยเฉพาะมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น ควันพิษ เช่นเดียวกับอาการแพ้อื่น ๆ

    เมื่อผู้ที่แพ้อากาศสูดสารก่อภูมิแพ้เข้าร่างกาย หรือสัมผัสโดนผิวหนังเกิดการระคายเคือง ระบบภูมิคุ้มกันจะกระตุ้นให้มาสต์เซลล์ (Mast Cell) อันเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง หลั่งสารฮิสทามีน (Histamine) เข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดอาการแพ้ตามมา ถ้าฮิสทามีนกระจายไปยังชั้นผิวหนังแท้ จะทำให้เป็นผื่นแพ้อากาศ

    ผื่นแพ้อากาศ กับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

    เมื่อแพ้อากาศ ผื่นแดงตามร่างกายมักเป็นอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis หรือ Eczema) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เนื่องจากการแปรผันทางพันธุกรรม ซึ่งพบได้ในคนทุกวัย โดยเฉพาะเด็ก ๆ

    ผิวหนังของผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะไวต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสารก่อภูมิแพ้อย่างฝุ่น PM2.5 ในอากาศ สารอาหารต่าง ๆ ที่อยู่ในอาหาร หรือส่วนประกอบในยารักษาโรค หรือส่วนผสมหรือสารเคมีในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังประกอบด้วย การเกิดตุ่มนูนแดงบนร่างกาย มีอาการคล้ายลมพิษ รู้สึกคันซึ่งจะรุนแรงตอนกลางคืน และผิวที่แห้ง แข็ง แตก หรือเป็นขุย

    ทั้งนี้ ผู้ป่วยผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีโอกาสสูงที่จะป่วยเป็นโรคแพ้อากาศร่วมด้วย และเกิดผื่นแพ้อากาศขึ้นง่ายกว่าคนทั่วไป

    รักษาและดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเป็นผื่นแพ้อากาศ  

    เมื่อเป็นผื่นแพ้อากาศควรทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ไม่เกาบริเวณที่เป็นผื่น เพราะการเกาจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮิสทามีนออกมามากกว่าเดิม และทำให้ผื่นอักเสบมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อบริเวณผิวหนังด้วย
    • ดูแลผิวอย่างเหมาะสม หรือทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำเปล่าและสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวหนังและปราศจากน้ำหอม เพื่อป้องกันผิวหนังเกิดการระคายเคืองหรืออักเสบ
    • รับประทานยาแก้แพ้ เพื่อยับยั้งอาการคัน รวมถึงอาการอื่น ๆ เนื่องจากการหลั่งฮิสทามีน โดยในกรณีของผู้ที่แพ้อากาศ เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมออาจเลือกจ่ายยาแก้แพ้ให้ในรูปแบบของยาพ่นจมูก หรือยาหยอดตา
    • ทาครีม ที่มียาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นส่วนผสม เพื่อบรรเทาอาการคันและแก้อักเสบ
    • ไปพบคุณหมอ หากดูแลตัวเองในเบื้องต้น อาการคัน หรือผื่นแพ้อากาศไม่หายไปในระยะเวลา 3-5 วันควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุ

    ผื่นแพ้อากาศ ป้องกันอย่างไรดี

    ผื่นแพ้อากาศรวมถึงอาการอื่น ๆ ของโรคแพ้อากาศ อาจป้องกันได้ โดยการเลี่ยงเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้ และดูแลตนเองด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน
  • ปิดหน้าต่างอยู่เสมอ เพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้จากภายนอกกระจายเข้ามาในบ้าน หรือห้องที่อาศัยอยู่
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ เครื่องสำอาง น้ำยาปรับผ้านุ่ม ที่ปราศจากน้ำหอมหรือสีสังเคราะห์
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนผสมของสารก่อภูมิคุ้มกัน เช่น วิตามินซี วิตามินดี โคเอนไซส์ คิวเท็น (Coenzyme Q10)
  • ทำความสะอาดเครื่องนอนสม่ำเสมอ โดยการแช่เครื่องนอนในน้ำร้อน อุณหภูมิสูงกว่า 55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15-30 นาที เพื่อกำจัดไรฝุ่นที่มักแฝงอยู่ตามเครื่องนอน
  • หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น รวมถึงการเข้าไปในสถานที่ที่มีฝุ่นเยอะ
  • รับประทานผักและผลไม้หลากสีเพื่อให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันที่เพียงพอเพื่อต่อสู้กับผลกระทบที่อาจเกิดจากมลพิษทางอากาศ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 05/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา