การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยมะเร็ง
คุณหมออาจทำการวินิจฉัยหาโรคมะเร็งด้วยวิธีเหล่านี้
- การตรวจร่างกาย คุณหมออาจตรวจสอบความผิดปกติบนร่างกายที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็ง เช่น ก้อนเนื้อใต้ผิวหนัง การเปลี่ยนแปลงของสีผิว การขยายตัวของอวัยวะ
- การทดสอบ การเก็บตัวอย่างปัสสาวะหรือเลือดเพื่อตรวจในห้องปฏิบัติการอาจช่วยให้คุณหมอระบุความผิดปกติที่อาจเกิดจากมะเร็งได้
- การตรวจชิ้นเนื้อ การเก็บตัวอย่างเซลล์เพื่อทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง
- การสแกนร่างกาย เช่น การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) การสแกนกระดูก การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) การสแกนด้วยเอกซเรย์ปล่อยโพซิตรอน (PET) อัลตราซาวนด์และการเอ็กซ์เรย์ เพื่อช่วยฉายภาพอวัยวะภายในร่างกายที่อาจได้รับผลกระทบ และทำให้คุณหมอสามารถตรวจตรวจกระดูกและอวัยวะภายในเพื่อหาความผิดปกติ
เมื่อตรวจพบมะเร็งคุณหมอจะกำหนดระยะของมะเร็งจาก 0-4 คือ ระยะ 0 มะเร็งยังอยู่เพียงผิวของอวัยวะ ระยะ 1-2 มะเร็งระยะต้นที่สามารถตรวจพบความผิดปกติและรักษาได้ ระยะ 3 มะเร็งระยะลุกลามเฉพาะที่ ระยะ 4 มะเร็งระยะลุกลามมากเฉพาะที่หรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ โดยระยะของมะเร็งจะช่วยกำหนดทางเลือกในการรักษาและโอกาสในการรักษา
เป้าหมายในการรักษา
เป้าหมายของการรักษามะเร็งอาจแตกต่างกันตามชนิดของมะเร็งและความรุนแรงของโรค โดยอาจทำการรักษาเพื่อให้มะเร็งหายขาด หรือเพื่อประทังชีวิต ซึ่งเป้าหมายการรักษามีดังนี้
- การรักษาเบื้องต้น มีเป้าหมายเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกจากร่างกายหรือฆ่าเซลล์มะเร็งทั้งหมด การรักษาเบื้องต้นที่พบบ่อย เช่น การผ่าตัด แต่หากมะเร็งตอบสนองได้ดีต่อเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี คุณหมออาจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อใช้เป็นการรักษาหลัก
- การรักษาแบบเสริม มีเป้าหมายเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่ยังอาจหลงเหลืออยู่หลังจากการรักษาเบื้องต้น เพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ การรักษาแบบเสริมที่พบบ่อย เช่น เคมีบำบัด การฉายรังสี และการรักษาด้วยฮอร์โมน
- การรักษาแบบประคับประคอง เช่น การผ่าตัด เคมีบำบัด การฉายรังสี และการรักษาด้วยฮอร์โมน มีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาอาการของมะเร็งหรือผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง และยังสามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการและควบคุมการแพร่กระจายของมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
การรักษามะเร็ง
การักษามะเร็งมีหลายวิธีโดยอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ชนิดและระยะของมะเร็ง สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ความเต็มใจในวิธีรักษา โดยคุณหมออาจใช้วิธีรักษา ดังนี้
- เคมีบำบัด เป็นวิธีการใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง เช่น เคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำ เคมีบำบัดแบบฉีดเข้าทางผิวหนัง เคมีบำบัดแบบรับประทาน ช่วยป้องกันการแพร่กระจายและการเจริญเติบโตของมะเร็ง กำจัดมะเร็ง และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
- การฉายรังสี เป็นการบำบัดโดยใช้ลำแสงพลังงานสูง เช่น เอ็กซ์เรย์และโปรตอน เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
- การผ่าตัด เป้าหมายของการผ่าตัดคือการกำจัดมะเร็งให้หมดหรือกำจัดมะเร็งให้ได้มากที่สุด
- การปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นวิธีที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดในร่างกาย สำหรับผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไขกระดูก นอกจากนี้ การปลูกถ่ายไขกระดูกอาจช่วยให้คุณหมอสามารถใช้ยาที่แรงขึ้นเพื่อรักษามะเร็งได้
- ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการใช้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง โดยอาจใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies) วัคซีนโรคมะเร็ง (Cancer Vaccines) หรือการยับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ (Immune Checkpoint Inhibitors) เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงาน และเข้าทำลายมะเร็ง
- การรักษาด้วยฮอร์โมน มะเร็งบางชนิดอาจเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก การกำจัดฮอร์โมนบางชนิดออกจากร่างกายหรือป้องกันผลกระทบจากฮอร์โมนอาจทำให้เซลล์มะเร็งหยุดเติบโตได้
การรักษาทางเลือก
อาจไม่มีการรักษาแบบอื่นที่พิสูจน์ว่าช่วยรักษามะเร็งได้ แต่การรักษาทางเลือกอาจช่วยบรรเทาผลข้างเคียงจากมะเร็งหรือจากการรักษามะเร็งได้ ดังนี้
- โยคะ นวด
- การทำสมาธิ
- การฝังเข็ม
อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับการรักษาทางเลือกเพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจรบกวนการรักษามะเร็ง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็ง
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันมะเร็งอาจสามารถทำได้ ดังนี้
- งดสูบบุหรี่ สารพิษในบุหรี่อาจกระตุ้นความผิดปกติของเซลล์ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งปอด
- ควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ โดยผู้หญิงควรดื่มวันละไม่เกิน 1 แก้ว และผู้ชายควรดื่มวันละไม่เกิน 2 แก้ว
- หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดมากเกินไป เพราะรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้
- กินอาหารเพื่อสุขภาพ เลือกอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสีและโปรตีน จำกัดการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป หรืออาหารแปรรูปทุกชนิด เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงขงมะเร็งได้ โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์
- ควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากการมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้
- ตรวจคัดกรองมะเร็ง พิจารณาจากปัจจัยเสี่ยง รูปแบบการใช้ชีวิตของตนเองและเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง อย่างน้อยทุก ๆ 1 หรือ 2 ปี เพราะหากเป็นมะเร็งจะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
- การฉีดวัคซีน เนื่องจากไวรัสบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง เช่น ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมาไวรัส (Human papillomavirus: HPV) การฉีดวัคซีนอาจช่วยป้องกันไวรัสและลดความเสี่ยงมะเร็งบางชนิดได้
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย