หนึ่งในวิธีการรักษาผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้ด้วยการควบคุมอาหาร จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกายเพื่อทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ
ชนิดของอินซูลินที่ใช้ฉีด
อินซูลินที่ผู้ป่วยเบาหวานใช้ฉีดเข้าร่างกายเพื่อทดแทนอินซูลินจากตับอ่อน จำแนกเป็นชนิดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- อินซูลินออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-acting Insulin) ออกฤทธิ์ภายใน 15 นาทีหลังฉีดเข้าร่างกาย และจะมีประสิทธิภาพสูงสุดประมาณ 1-3 ชั่วโมงหลังฉีด ทั้งนี้ อินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็ว มักใช้ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวานที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่ได้เลย
- อินซูลินออกฤทธิ์สั้น (Regular or Short-acting Insulin) ออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังฉีดเข้าร่างกาย และออกฤทธิ์เต็มที่ภายใน 2-3 ชั่วโมง โดยมีระยะเวลาออกฤทธิ์ประมาณ 3-6 ชั่วโมง โดยทั่วไป อินซูลินออกฤทธิ์สั้น จะฉีดเข้าสู่ร่างกายภายในระยะเวลา 30 นาทีหลังมื้ออาหาร
- อินซูลินออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting Insulin) เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังฉีดเข้าร่างกาย และจะออกฤทธิ์เป็นเวลา 12-18 ชั่วโมง
- อินซูลินออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Insulin) เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังฉีดเข้าร่างกาย และออกฤทธิ์ 24 ชั่วโมงหรือยาวนานกว่านั้น บางครั้ง อินซูลินออกฤทธิ์ยาวจะใช้ร่วมกับอินซูลินออกฤทธิ์สั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
- อินซูลินแบบผสม (Premixed Insulin) เป็นอินซูลินที่ผสมระหว่างอินซูลิน 2 ชนิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งหลังมื้ออาหารและระหว่างวัน
นอกจากนี้ อินซูลินทดแทนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ยังมีแบบสูดพ่นทางจมูก (Inhaled insulin) ซึ่งจะออกฤทธิ์ภายใน 15 นาทีหลังพ่นเข้าสู่ร่างกาย และมักใช้ก่อนมื้ออาหาร
ทั้งนี้ คุณหมอจะพิจารณาเลือกชนิดของอินซูลินในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานโดยดูจากปัจจัยต่อไปนี้
- อายุของผู้ป่วยเบาหวาน
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเบาหวาน เช่น ปริมาณอาหารที่รับประทาน ความถี่ในการออกกำลังกาย
- จำนวนครั้งในการฉีดอินซูลินที่ผู้ป่วยเบาหวานรับได้
- ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน
- การตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยเบาหวานต่อฤทธิ์ของอินซูลินทดแทน
การฉีดอินซูลิน มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง
การฉีดอินซูลิน เพื่อใช้ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ดังต่อไปนี้
- เกิดอาการคัน บวม หรือรอยแดงตามบริเวณที่ฉีดอินซูลิน
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากอินซูลินกระตุ้นให้ร่างกายกักเก็บน้ำตาลส่วนเกินในรูปแบบของไขมัน และเมื่อไขมันเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวโดยรวมมักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- อาการแพ้อินซูลิน เช่น ผื่นแดง อาการคันตามร่างกาย หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียน ใบหน้า ลิ้น หรือคางบวม
- ภาวะโพแทสเซียมต่ำ (Hypokalemia) สัญญาณของภาวะนี้ ได้แก่ เป็นตะคริว ไม่มีแรง หัวใจเต้นผิดปกติ และท้องผูก
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เกิดจากการใช้อินซูลินเกินกว่าที่คุณหมอแนะนำ หรือการใช้อินซูลินในปริมาณที่ไม่สมดุลกับคาร์โบไฮเดรตที่บริโภคเข้าสู่ร่างกายหรือพลังงานที่ใช้ไป โดยทั่วไป อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือ อารมณ์แปรปรวน มือสั่น เวียนศีรษะ สับสน สายตาพร่าเบลอ หรืออยากอาหารเป็นพิเศษ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย