นอกจากนี้ ยังมีธัญพืชทางเลือกอื่น ๆ ที่มีเส้นใยอาหารสูงและน้ำตาลต่ำ ที่สามารถรับประทานเป็นอาหารหลักแทนข้าวได้ เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง ควินัว บัควีท
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Internal Medicine เมื่อ พ.ศ. 2553 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการรับประทานข้าวขาวและข้าวกล้องกับความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ชายและผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา พบว่า การเปลี่ยนมารับประทานธัญพืชไม่ขัดสีและข้าวกล้อง อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในขณะที่การรับประทานข้าวขาวมากขึ้นอาจมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ อีกหนึ่งงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition Diabetes เมื่อ พ.ศ. 2560 ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับการกินข้าวกล้องและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ชาวญี่ปุ่น จำนวน 16 คน ทดลองรับประทานข้าวกล้องและข้าวขาววันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานลดลง และหากรับประทานข้าวกล้องอย่างต่อเนื่องอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
การรับประทานข้าวไม่ขัดสีอย่างข้าวกล้องเป็นประจำยังอาจช่วยลดน้ำหนัก ป้องกันการอักเสบของร่างกายจากโรคอ้วน และอาจช่วยป้องกันโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Preventive Medicine เมื่อ พ.ศ. 2557 ซึ่งทำการวิจัยถึงผลของการบริโภคข้าวกล้องต่อการอักเสบและปัจจัยเสี่ยงต่อหัวใจและหลอดเลือดในผู้หญิงที่น้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน โดยทดลองในผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนจำนวน 35 คน รับประทานข้าวกล้องและข้าวขาว 150 กรัม/วัน เป็นเวลา 14 สัปดาห์ พบว่า ผู้ที่รับประทานข้าวกล้องมีน้ำหนัก รอบเอว และดัชนีมวลกายที่ลดลง และมีแนวโน้มลดลงต่อเกิดการอักเสบที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเมตาบอลิซึม เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด
ข้าวที่คนเป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยง
ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงข้าวขาวหรือธัญพืชที่ผ่านการขัดสี เช่น ซีเรียล แครกเกอร์ ขนมปังขาว เนื่องจากอาจมีแป้งและน้ำตาลสูง และมีไฟเบอร์น้อย เพราะกระบวนการขัดสีเอาเส้นใยออกในปริมาณมากเพื่อให้ข้าวรับประทานได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การรับประทานข้าวขาวหรือธัญพืชขัดสีในปริมาณมากจึงอาจเพิ่มความเสี่ยงน้ำตาลในเลือดสูง หรือเกิดโรคเบาหวานได้
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The BMJ เมื่อ พ.ศ. 2555 ทำการวิจัยถึงความสัมพันธ์ของการบริโภคข้าวขาวและความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยศึกษาบทความ 4 บทความที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานข้าวและโรคเบาหวาน ซึ่งในกลุ่มประชากรเอเชียและตะวันตกพบผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 13,284 ราย จากผู้เข้าร่วม 352,384 ราย โดยมีระยะเวลาติดตามผลตั้งแต่ 4-22 ปี พบว่า ประชากรเอเชียมีระดับการบริโภคข้าวขาวสูงกว่าประชากรตะวันตก ซึ่งการรับประทานข้าวขาวในปริมาณมากขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานประเภท 2 โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเอเชีย
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย