ตรวจเบาหวาน ทำอย่างไร
การตรวจเบาหวานเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด อาจทำได้ดังนี้
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Hemoglobin A1C) เป็นการตรวจฮีโมโกลบินในเลือดที่เป็นโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งสามารถบอกระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้ หากพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอาจแสดงว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน
การอ่านค่าการทดสอบระดับน้ำตาลในเลือด หากต่ำกว่า 5.7% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ หากอยู่ระหว่าง 5.7-6.4 % หมายความว่า เป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน และหากค่าอยู่ที่ 6.5% หรือสูงกว่า หมายความว่าเป็นโรคเบาหวาน
สำหรับบางคนที่คุณหมอวินิจฉัยว่าอาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน แต่ผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดไม่สอดคล้องกับการวินิจฉัย หรือมีเงื่อนไขบางประการที่อาจทำให้การทดสอบคลาดเคลื่อน เช่น การตั้งครรภ์ที่อาจส่งผลต่อระดับฮีโมโกลบิน คุณหมออาจพิจารณาให้ตรวจเบาหวานด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม ดังนี้
- สุ่มตรวจน้ำตาลในเลือด เป็นการสุ่มตรวจเลือดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยหากตรวจตอนเช้าซึ่งเป็นการอดอาหารข้ามคืน ค่าน้ำตาลในเลือดควรต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากตรวจในระหว่างวันไม่ว่าจะรับประทานอาหารครั้งสุดท้ายเมื่อใด ค่าน้ำตาลในเลือดไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากสูงกว่าจะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
- การทดสอบน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร คุณหมอจะเก็บตัวอย่างเลือดหลังจากอดอาหารข้ามคืน ซึ่งระดับปกติของน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหารควรต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากมีค่าตั้งแต่ 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายความว่าเป็นภาวะก่อนเบาหวาน แต่หากมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายความว่าเป็นโรคเบาหวาน
- การตรวจเบาหวานโดยใช้สารละลายกลูโคส (Oral Glucose Tolerance Test) เป็นการทดสอบระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหารข้ามคืน จากนั้นคุณหมอจะให้ดื่มสารละลายกลูโคส เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยจะทำการทดสอบซ้ำ ๆ และเว้นระยะห่างครั้งละ 2-3 ชั่วโมง หากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายความว่าเป็นภาวะก่อนเบาหวาน และระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมง หมายความว่าเป็นโรคเบาหวาน
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย