backup og meta

ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน สาเหตุ วิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 23/02/2022

    ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน สาเหตุ วิธีป้องกัน

    โรคเบาหวานเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อกลไกการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกาย หากปล่อยไว้ไม่รักษาหรือควบคุมอาการให้ดี หรือหากมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ก็จะยิ่งทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดมีปัญหา จนนำไปสู่ ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน

    ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน

    ยิ่งเป็นเบาหวานเป็นเวลานาน ความสามารถในการควบคุมน้ำตาลในเลือดของร่างกายก็จะยิ่งลดลง และความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น และหากปล่อยไว้ไม่รักษา ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานก็จะรุนแรงขึ้น จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่พบได้บ่อย มีดังนี้

    ภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน

    • ภาวะคีโตซิส

    ภาวะคีโตซิส (Diabetic Ketoacidosis : DKA) คือ ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งบางครั้งแค่การกินยาหรือฉีดยาอินซูลิน (Insulin) ก็ไม่สามารถช่วยให้หายเป็นปกติได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และหากเป็นภาวะฉุกเฉิน อาจต้องเข้ารักษาในแผนกผู้ป่วยหนัก หรือไอซียู เพื่อให้น้ำเกลือและอินซูลินอย่างระมัดระวัง อย่างน้อย 12-24 ชั่วโมง  และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งจะซ้ำเติมให้อาการแย่ลงได้

  • ภาวะเลือดมีความเข้มข้นสูงจากภาวะน้ำตาลในเลือดเกิน
  • ภาวะเลือดมีความเข้มข้นสูงจากภาวะน้ำตาลในเลือดเกิน (Hyperosmolar Hyperglycaemic State : HHS) พบได้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักมีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อ ภาวะขาดน้ำ หรือหากหยุดยาเบาหวานก็สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนนี้จะมีอาการปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ ผิวแห้ง สับสนงุนงง เป็นต้น และหากปล่อยไว้ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

    ภาวะแทรกซ้อนแบบเรื้อรัง

    • โรคหัวใจและหลอดเลือด

    เบาหวานสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) ได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจวาย ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง

    • โรคเส้นประสาท

    เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดมากเกินไป อาจทำให้ผนังของหลอดเลือดฝอยที่คอยลำเลียงสารต่าง ๆ เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงสารอาหารและของเสียต่าง ๆ เสียหายได้ โดยเฉพาะที่หลอดเลือดฝอยบริเวณขา เมื่อหลอดเลือดฝอยเสียหายจึงอาจทำให้เป็นเหน็บชา เป็นตะคริว รู้สึกปวดหรือแสบร้อน ขาบวมเท้าบวม โดยส่วนใหญ่อาการจะเริ่มจากปลายนิ้วมือนิ้วเท้า แล้วค่อย ๆ ไล่ขึ้นไปเรื่อย ๆ

    หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจทำให้มือ เท้า หรืออวัยวะส่วนที่หลอดเลือดฝอยเสียหายสูญเสียการรับรู้ถาวร หากเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหารถูกทำลาย ก็อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก หรือในผู้ชาย โรคเส้นประสาทที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานนี้อาจทำให้มีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย

    • โรคไต

    ไตมีกระจุกหลอดเลือดฝอย ที่เรียกว่า โกลเมอรูลัส (Glomerulus) ที่ทำหน้าที่กรองของเสียจากเลือด แต่หากเป็นโรคเบาหวาน ก็อาจทำให้กระจุกหลอดเลือดฝอยนี้เสียหายจนระบบกรองการกำจัดของเสียบกพร่อง และหากเสียหายรุนแรงก็อาจนำไปสู่ภาวะไตวาย หรือเป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่รักษาไม่ได้ และอาจต้องฟอกไต หรือปลูกถ่ายไต

    • การสูญเสียการได้ยิน

    การสูญเสียการได้ยินในผู้ป่วยเบาหวานเป็นภาวะที่พบได้มากกว่าร้อยละ 70 เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จะทำให้หลอดเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงหูชั้นในและเส้นประสาทหูเสียหาย จนทำงานผิดปกติ และนำไปสู่การสูญเสียการได้ยินได้ในที่สุด

    • ปัญหาผิวหนัง

    ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่พบได้บ่อยมากอย่างหนึ่งก็คือ ปัญหาผิวหนัง เช่น ผิวหนังติดเชื้อรา ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย อาการคันตามผิวหนัง ตุ่มนูนแดงหรือปื้นสีแดง ตุ่มนูนแข็งที่ทำให้คันมาก ภาวะด่างขาว

  • โรคเบาหวานขึ้นจอตา
  • โรคเบาหวานสามารถทำลายหลอดเลือดฝอยของจอประสาทตา ทำให้หลอดเลือดอุดตันจนจอตาขาดเลือด ตามัว มองไม่ชัด และหากเข้าขั้นรุนแรง ก็อาจทำให้ตาบอดได้ นอกจากนี้ โรคเบาหวานยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคตาอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก

    • โรคเท้าเบาหวาน

    โรคเท้าเบาหวาน (Diabetic Foot) คือ ภาวะของเท้าที่เกิดจากปลายประสาทเสื่อม หรือหลอดเลือดส่วนปลายตีบตันจนเลือดไหลเวียนได้ไม่ดี หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา เมื่อเกิดบาดแผล เช่น มีดบาด ตะปูตำ หรือเกิดแผลพุพอง ก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อขั้นรุนแรง และรักษาได้ยาก จนสุดท้ายอาจต้องตัดนิ้ว ตัดเท้า หรือตัดขา

    • โรคอัลไซเมอร์

    โรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ยิ่งหากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ความเสี่ยงในการเกิดปัญหานี้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

    สาเหตุของภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน

    เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้หลอดเลือดเสียหายอย่างรุนแรงและทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ได้ เมื่อไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงอย่างที่ควรจะเป็น เส้นประสาทในอวัยวะส่วนต่าง ๆ อาจทำงานได้ไม่ดี จนทำให้สูญเสียความรู้สึกหรือประสาทรับรู้ในบริเวณนั้นไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักส่งผลลุกลามต่อไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นโรคเท้าเบาหวาน ก็อาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรงตามมาได้

    อย่างไรก็ตาม ปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดสูงก็ไม่ใช่สาเหตุเดียวของภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน เพราะหากมีปัญหาความดันโลหิตสูง มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่ ก็สามารถทำให้หลอดเลือดถูกทำลาย และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานได้มากยิ่งขึ้น

    วิธีป้องกันภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน

    การควบคุมอาการของโรคเบาหวานให้ดี ทั้งใช้ยาตามแพทย์สั่ง และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้นด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ อาจช่วยชะลอและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังได้

    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
    • เลิกบุหรี่
    • รับประทานผักผลไม้และธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง
    • รับประทานเนื้อสัตว์แบบไม่ติดหนังและไม่มีมัน หรือแบบไขมันน้อย เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่
    • หลีกเลี่ยงขนมหวาน ชา กาแฟ อาหารมัน ๆ

    การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมข้างต้น อาจช่วยให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดัน และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานอาจลดลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 23/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา