โปรตีนเป็นแหล่งอาหารที่ช่วยเพิ่มพลังงานและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย การรับประทานโปรตีนจึงสำคัญต่อสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานเช่นกัน แต่ควรเลือกแหล่งโปรตีนที่มีประโยชน์ เช่น ถั่ว เมล็ดพืช ธัญพืช ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมันและไม่ติดหนัง หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดง เช่น หมู ไก่ วัว โดยเฉพาะเนื้อสัตว์แปรรูป เพราะอาจมีโซเดียมและไขมันทรานส์ในปริมาณมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเสี่ยงโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Diabetes เมื่อปี พ.ศ. 2557 ทำการวิจัยเกี่ยวกับการบริโภคโซเดียมในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่บริโภคโซเดียมมากเกินกำหนดมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มขึ้น ยิ่งหากมีความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก
ไขมันดี
ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานอาหารที่มีไขมันได้ แต่ไม่ควรเกินร้อยละ 25-30 ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน หรือควรน้อยกว่า 70 กรัม/วัน และควรเลือกแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันดี เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า อะโวคาโด น้ำมันมะกอก หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น เค้ก คุกกี้ เบคอน ไส้กรอก เนื้อสัตว์ติดมันหรือติดหนัง เนื่องจากไขมันทรานส์อาจทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition Reviews เมื่อปี พ.ศ. 2549 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกรดไขมันทรานส์กับภาวะดื้ออินซูลินและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า การบริโภคไขมันทรานส์ในปริมาณมาก อาจทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้น ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย
เครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ
การดื่มเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ คาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลต่ำ โดยเฉพาะน้ำเปล่า เป็นทางเลือกที่ดีในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งยังอาจช่วยลดความอยากอาหารได้ด้วย แต่หากอยากดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นบ้าง อาจสามารถดื่มน้ำผักหรือผลไม้คั้นสด ชาร้อน ชาเย็น แบบไม่เติมน้ำตาลแทน หรืออาจใส่มะนาวลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติก็ได้
เคล็ดลับอื่น ๆ ที่อาจช่วยลดเบาหวาน
เคล็ดลับอื่น ๆ ที่อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุลและอาจช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน มีดังนี้
- รับประทานอาหารให้หลากหลาย ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานอาหารได้เกือบทุกชนิด แต่อาจจำเป็นต้องจำกัดปริมาณให้เหมาะสมเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงควรจัดอาหารในแต่ละมื้อให้หลากหลายและครบถ้วนทั้งผักผลไม้ โปรตีน คาร์โบไฮเดรตหรือแป้งชนิดไม่ขัดสี ธัญพืชเต็มเมล็ด และอาหารไฟเบอร์สูง รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อทั้งเช้า กลางวัน และเย็น และควรจำกัดการรับประทานอาหารจำพวกน้ำตาล ไขมัน และเกลือ เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น จนเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยเผาผลาญพลังงาน ลดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในร่างกายได้ ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ด้วยการเดินเร็ว ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค หรือขยับร่างกายด้วยการเดินขึ้นบันได ทำสวน ทำงานบ้าน เป็นต้น
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี การลดและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจะช่วยให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยควบคุมความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลด้วย
- ตรวจน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยทุก ๆ 3 เดือนด้วยวิธี HbA1C test ซึ่งเป็นการตรวจระดับน้ำตาลที่สะสมในเลือดตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผลตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยวิธีนี้อาจช่วยให้ทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมการรับประทานอาหารให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย