การวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่2
การวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่2 อาจทำได้ด้วยการตรวจเลือด รวมถึงอาจวินิจฉัยได้ด้วยการทดสอบต่าง ๆ เหล่านี้
- Glycated hemoglobin (A1C) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องอดอาหาร อาจระบุน้ำตาลในเลือดเป็นเปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หากระดับน้ำตาลในเลือดสูง นั่นอาจหมายความว่า ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นตัวพาออกซิเจนในเซลล์เม็ดเลือดแดง มีน้ำตาลเกาะอยู่มาก ค่า A1C อาจแบ่งออกได้ดังนี้
- ค่า A1C ต่ำกว่า 5.7% ถือว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ค่า A1C ระหว่าง 5.7%-6.4% อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน
- ค่า A1C 6.5% ขึ้นไป แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
- Oral Glucose Tolerance Test (OGTT) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากที่อดอาหารข้ามคืน จากนั้นคุณหมอจะให้ดื่มสารละลายกลูโคส แล้วรอเวลาอีก 2 ชั่วโมง จึงวัดระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าปกติ
- ระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
Fasting Plasma Glucose (FPG) เป็นการวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่ต้องอดอาหาร โดยต้องไม่รับประทานอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนการวัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งการวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยวิธีนี้อาจจะทำในตอนเช้า ก่อนรับประทานอาหารเช้า สำหรับค่าของการวัดระดับน้ำตาลในเลือดอาจแบ่งได้ดังนี้ - ระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่อดอาหารน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าปกติ
- ระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่อดอาหารตั้งแต่ 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดขณะที่อดอาหาร 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือมากกว่า แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
การรักษาเบาหวานชนิดที่2
การรักษาเบาหวานชนิดที่2 อาจเกี่ยวข้องกับการจัดการระดับน้ำตาลในเลือด หลายคนอาจรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร และจัดการความเครียด ให้สุขภาพดีขึ้น หรือบางคนอาจต้องรับประทานยาร่วมด้วย ซึ่งวิธีการรักษาเบาหวานอาจทำได้ดังนี้
การดูแลตัวเอง
แม้เบาหวานชนิดที่2 อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การดูแลตัวเองเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ซึ่งการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากเบาหวานชนิดที่2 อาจทำได้ดังนี้
- วางแผนการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่อาหารที่มีไฟเบอร์ เพิ่มผักและผลไม้ลงในอาหาร การเลือกอาหารที่มีไขมันน้อยเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดแคลอรี่ และควรงดคาร์โบไฮเดรตที่ขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว รวมถึงของหวาน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ ประมาณ 30-60 นาที/วัน เช่น เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ควบคู่กับการฝึกความแข็งแรง เช่น โยคะ ยกน้ำหนัก อาจช่วยลดปริมาณแคลอรี่ที่รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน ทั้งยังช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ สำหรับผู้ที่ใช้ยาที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือด อาจต้องรับประทานอาหารว่างก่อนออกกำลังกาย
- ลดน้ำหนัก การลดน้ำหนักส่วนเกิน 7% และควบคุมน้ำหนัก อาจช่วยให้ควบคุมเบาหวานชนิดที่2 ได้
- ทดสอบระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับการรักษา หากผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่2 ใช้อินซูลิน คุณหมออาจให้ต้องทดสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
การรักษาด้วยยา
คุณหมออาจให้รับประทานยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ซึ่งอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แม้เมทฟอร์มินอาจเป็นยาทางเลือกแรกสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่2 แต่มียารักษาเบาหวานอีกหลายกลุ่ม โดยคุณหมออาจสั่งจ่ายยาอื่น ๆ ซึ่งได้แก่
- Alpha-Glucosidase Inhibitors ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลในทางเดินอาหาร เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นหลังจากที่เพิ่งรับประทานอาหาร
- GLP1 RA ฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มการหลั่งอินซูลิน เพื่อตอบสนองต่อกลูโคสและชะลอการดูดซึมกลูโคสในลำไส้
- DPP-4 Inhibitors กลุ่มฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาล โดยยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) จากตับอ่อน และกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน
- SGLT-2 Inhibitors ช่วยยับยั้งการปล่อยกลูโคสผ่านทางปัสสาวะ โดยชะลอการดูดซึมกลูโคสของไต
- Sulfonylureas และ Meglitinides ช่วยกระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินมากขึ้น
- Thiazolidinediones ช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลิน และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่
ผ่าตัดลดน้ำหนัก
การผ่าตัดลดน้ำหนัก อาจช่วยเปลี่ยนรูปร่างและการทำงานของระบบย่อยอาหาร การผ่าตัดนี้อาจช่วยลดน้ำหนัก จัดการกับโรคเบาหวานชนิดที่2 และภาวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 35 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคเบาหวานหรือโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่การผ่าตัดชนิดนี้อาจต้องอาศัยความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงระยะยาว เช่น ภาวะขาดสารอาหาร โรคกระดูกพรุน
การรักษาด้วยอินซูลิน
การรักษาด้วยอินซูลินอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่2 หากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การใช้ยา หรือการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยคุณหมอจะเป็นผู้กำหนดว่า ควรใช้การรักษาด้วยอินซูลินเมื่อใด รวมถึงกำหนดประเภทของอินซูลิน ซึ่งปริมาณและตารางเวลาในการฉีดอินซูลินอาจเปลี่ยนแปลงตามระดับน้ำตาลในเลือด ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยอินซูลิน ได้แก่ ไตรกรีเซอไรด์สูง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย