การรับประทานไขมันที่ดี
ไขมันเป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการ แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 30% ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน คือ ผู้ชาย 2,000 กิโลแคลอรี่/วัน และผู้หญิง 1,600 กิโลแคลอรี่/วัน หรือไม่ควรรับประทานไขมันเกิน 70 กรัม/วัน และควรได้รับจากแหล่งไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เพื่อช่วยในการจัดการกับน้ำหนัก โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Progress in Lipid Research เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับไขมันในอาหารและการป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า กรดไขมันไม่อิ่มตัวมีผลดีต่อการเผาผลาญน้ำตาลในกระแสเลือด โดยการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเยื่อหุ้มเซลล์ การทำงานของเอนไซม์ ส่งเสริมการทำงานของอินซูลิน เพิ่มความไวของอินซูลินและการทำงานของของยีนที่อาจมีส่วนช่วยป้องกันโรคเบาหวาน
ไขมันไม่อิ่มตัวเป็นแหล่งไขมันดีที่อาจช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน รวมทั้งสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด โดยแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันดีอาจมีดังนี้
- น้ำมันมะกอก น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเมล็ดฝ้าย น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนลา
- พืชตระกูลถั่วและเมล็ดพืช เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง
- ปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาค็อด
การจัดอาหารในปริมาณที่พอเหมาะและหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด
นอกจากการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพแล้ว การจัดมื้ออาหารในปริมาณที่พอเหมาะก็เป็นสิ่งสำคัญ จึงควรแบ่งสัดส่วนการรับประทานอาหารใน 1 มื้อ ให้ได้ 3 ส่วนหลัก เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม ดังนี้
- 1 ใน 4 ส่วนของจานควรเป็นธัญพืชไม่ขัดสี
- 1 ใน 4 ส่วนของจานควรเป็นอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน เช่น พืชตระกูลถั่ว ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
- ครึ่งหนึ่งของจานควรเป็นผลไม้และผัก เช่น คะน้า ผักกาด แตงกวา ลูกแพร์ ลูกพรุน แอปเปิ้ล เพื่อให้ร่างกายได้รับใยอาหารมากขึ้น
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น รวมทั้งอาหารไขมันสูง ไขมันไม่ดีและไขมันทรานส์ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น
- คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว ธัญพืชขัดสี เค้ก คุกกี้
- ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เช่น อาหารแปรรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไส้กรอก เบค่อน เนื้อสัตว์ติดมันและติดหนัง ขนมกรุบกรอบ
การออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น
การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ดีในการลดและควบคุมน้ำหนัก ทั้งยังช่วยส่งเสริมสุขภาพในด้านอื่น ๆ เช่น เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่น เพิ่มการไหลเวียนเลือด นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังดีต่อการป้องกันโรคเบาหวาน เนื่องจากช่วยลดน้ำหนัก ลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มความไวของอินซูลินในการเผาผลาญน้ำตาลให้เป็นพลังงาน ทั้งยังช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ดังนั้น ควรขยับร่างกายและออกกำลังกายให้มากขึ้นอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์
การออกกำลังกายเพื่อควบคุมน้ำหนักและป้องกันโรคเบาหวานอาจมีดังนี้
- การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เป็นการออกกำลังกายความเข้มข้นปานกลางถึงสูง อย่างน้อย 30 นาที/วัน ประมาณ 5 วัน/สัปดาห์ เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน วิ่ง เพื่อช่วยเผาผลาญไขมัน ควบคุมน้ำหนักและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- การออกกำลังกายแบบแรงต้าน จะช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อซึ่งมีหน้าที่เป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกาย ช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความสมดุล ความสดชื่นและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยการออกกำลังกายแบบแรงต้าน เช่น ยกน้ำหนัก โยคะ ซิทอัพ วิดพื้น อย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที
- การขยับร่างกายให้มากขึ้น สำหรับผู้ที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน ๆ การขยับร่างกายให้มากขึ้น อย่างน้อย 2-3 นาทีในทุก ๆ 30 นาที อาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดและอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เช่น การเดินไปรอบ ๆ ห้องทำงาน การแกว่งแขน การยืน การยืดกล้ามเนื้อ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย