จากงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Environmental Research and Public Health ปี พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ดีขึ้นด้วยมะระขี้นกในผู้ป่วยที่มีภาวะดื้ออินซูลินและภาวะก่อนเบาหวาน พบว่า ในมะระขี้นกมีสารประกอบทางยามากกว่า 228 ชนิด โดยเฉพาะสารซาแรนติน (Charantin) โพลีเปปไทด์ พี สารวิซีน (Vicine) โมมอร์ดิน (Momordin) และอนุพันธ์ที่คล้ายกัน เช่น โมมอร์ดินอล (Momordinol) โมมอร์ดิซิลิน (Momordicilin) โมโมชาริน (Momorcharin) มีคุณสมบัติช่วยปรับปรุงและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ โพลีเปปไทด์ พี เป็นสารสกัดที่พบในมะระขี้นก มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนอินซูลินที่สามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Complementary Therapies in Medicine ปี พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการลดน้ำตาลในเลือดและความปลอดภัยของมะระขี้นกในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยมีผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 90 คน รับประทานมะระขี้นกเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า หลังจากรับประทานมะระขี้นก ระดับฮีโมโกลบินในเลือดไม่เปลี่ยนแปลง แต่ระดับกลูโคสในเลือดหลังอดอาหารลดลง ซึ่งอาจมีผลต่อการลดระดับกลูโคสในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
-
โสม
สารสกัดจากโสมอย่างเอทานอล (Ethanol) และจินเซโนไซด์ (Ginsenoside) อาจมีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงลดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในเกิดโรคเบาหวานได้
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2551 ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโสมและน้ำตาลในเลือด พบว่า การรับประทานโสมสามารถต่อต้านและยับยั้งภาวะดื้อต่ออินซูลิน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และสารสกัดจากเอทานอลของรากโสมช่วยป้องกันการเพิ่มของน้ำหนัก ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ไตรกลีเซอไรด์ และระดับกรดไขมันอิสระสูง นอกจากนี้ จินเซโนไซด์ซึ่งเป็นสารสกัดที่ได้จากโสมสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ รวมทั้งลดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากอนุมูลอิสระในดวงตาและไตได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน การรับประทานโสมจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารให้คงที่ ซึ่งอาจช่วยให้สุขภาพดียิ่งขึ้น
-
กระเทียม
สารต้านอนุมูลอิสระในกระเทียม เช่น อัลลิซิน (Allixin) ซีลีเนียม (Selenium) ซัลลิลซิสเทอีน (Sallylcysteine) อาจช่วยปรับปรุงภาวะดื้อต่ออินซูลินที่ดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้
จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food & Nutrition Research ปี พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กระเทียมและการจัดการเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า กระเทียมมีสารประกอบที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เช่น อัลลิซิน ซีลีเนียม ซัลลิลซิสเทอีน ที่อาจช่วยปรับปรุงและบรรเทาภาวะดื้อต่ออินซูลิน ช่วยให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ และช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมคอเลสเตอรอลโดยรวมให้สมดุลอีกด้วย
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร แก้เบาหวาน
- การใช้สมุนไพรควรได้รับคำแนะนำหรืออยู่ในการควบคุมจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากสมุนไพรต้องใช้ในสัดส่วนที่เหมาะสมและถูกวิธี หากใช้สมุนไพรในปริมาณที่มากเกินไปหรือผิดวิธี นอกจากอาการจะไม่ดีขึ้นแล้ว ยังอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ ตามัว ลิ้นชา ใจสั่น ใจเต้นแรง ความดันสูง หรืออาจหลอดเลือดบวม
- ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่ควรรักษาด้วยสมุนไพร หากมีอาการหมดสติ ท้องเดินอย่างรุนแรง ไข้สูง อาเจียนเป็นเลือด ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็กและสตรีมีครรภ์
- ไม่ควรใช้สมุนไพรในการรักษาเบาหวานติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจมีสารตกค้างที่สะสมในร่างกายได้
- ไม่ควรใช้สมุนไพรที่ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์ หรือไม่มีมีงานวิจัยที่เชื่อถือรองรับ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย