backup og meta

อาการปวดท้องคลอด สัญญาณที่ควรสังเกต

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    อาการปวดท้องคลอด สัญญาณที่ควรสังเกต

    อาการปวดท้องคลอด เป็นสัญญาณของการคลอดบุตรซึ่งว่าที่คุณแม่แต่ละคนอาจมีอาการที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจเจ็บปวดท้องส่วนล่าง ปวดหลัง เป็นตะคริวรุนแรง แต่บางคนอาจมีอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการ ทั้งนี้ ควรสังเกตสัญญาณโดยรวมเพื่อเข้าพบคุณหมอและเตรียมคลอดได้ทัน เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย

    อาการปวดท้องคลอด เป็นอย่างไร

    อาการปวดท้องคลอดอาจแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ อาการปวดท้องเตือนและอาการปวดท้องคลอด ดังนี้

    อาการปวดท้องเตือน

    อาการปวดท้องเตือนมักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2-3 หรือประมาณเดือนที่ 6 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกตามปกติระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้หน้าท้องอาจเริ่มหดรัดเกร็งมากขึ้น ความเจ็บปวดและความไม่สบายตัวเริ่มแผ่ไปด้านบนของกล้ามเนื้อมดลูกและด้านหลัง อาการปวดท้องเตือนอาจเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง มีอาการปวดคงที่ ไม่รุนแรง และมักจะปวดทั่วทั้งบริเวณท้องน้อย

    อาการปวดท้องคลอด

    อาการปวดท้องคลอดมักเกิดขึ้นประมาณสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ เป็นอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเมื่อมดลูกหดรัดตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเมื่อถึงกำหนดคลอด ผู้หญิงบางคนอาจมีสัญญาณชัดเจนแต่บางคนอาจไม่แสดงอาการ โดยอาการปวดท้องคลอดสามารถสังเกตได้ ดังนี้

    ท้องลดระดับลง เป็นช่วงที่ทารกจะเริ่มกลับหัวและเคลื่อนตัวไปอยู่ในบริเวณกระดูกเชิงกราน โดยระดับท้องที่เคยสูงถึงระดับลิ้นปี่จะลดระดับลง จนทำให้ท้องดูต่ำลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์หรือ 2-3 ชั่วโมงก่อนคลอด อาจทำให้คุณแม่มีอาการเหล่านี้

    • รู้สึกปวดปัสสาวะมากขึ้นเนื่องจากมดลูกกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ
    • คุณแม่อาจหายใจสะดวกขึ้นและอาการเสียดท้องลดลง เนื่องจากมีพื้นที่ว่างในท้องส่วนบนจากการที่มดลูกลดต่ำลง
    • อาจมีเมือกใส สีชมพู หรือมีเลือดปนเล็กน้อยไหลออกมาทางปากมดลูก จากนั้นภายใน 1-2 สัปดาห์ต่อมาอาจพร้อมคลอดทันที

    การหดตัวของมดลูก มดลูกจะเริ่มหดและขยายตัวรุนแรงขึ้นทำให้คุณแม่อาจรู้สึกว่าท้องแข็งขึ้น ซึ่งอาการของมดลูกหดตัวอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังนี้

    • อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ปวดหลัง ปวดหน้าท้องส่วนล่าง รู้สึกถึงแรงกดในกระดูกเชิงกราน
    • อาจทำให้รู้สึกถึงการหดตัวของมดลูกส่วนล่างอย่างเป็นจังหวะ
    • อาจทำให้รู้สึกถึงการหดตัวที่รุนแรงมากจนเป็นตะคริว
    • อาจไม่รู้สึกถึงการหดตัวของมดลูกมากนักและหายไปเองเมื่อขยับตัวหรือเปลี่ยนอิริยาบถ

    เป็นตะคริวและปวดหลัง บางคนอาจมีอาการเป็นตะคริวที่ท้องน้อย อาการอาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือเป็น ๆ หาย ๆ รวมทั้งอาจมีอาการปวดหลังส่วนล่างร่วมด้วย

    ข้อต่อหลวม ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนรีแลกซิน (Relaxin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยรังไข่และรก ช่วยในการคลายเอ็นและกล้ามเนื้อรอบกระดูกเชิงกราน เพื่อให้ทารกสามารถผ่านออกมาในขณะคลอดได้ง่ายขึ้น

    ท้องเสีย อุจจาระอาจมีลักษณะนิ่มและมีน้ำมาก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่เกิดขึ้นภายใน 1-2 วันของการเริ่มต้นระยะคลอด

    น้ำหนักลดลง คุณแม่บางคนอาจมีน้ำหนักลดลงเล็กน้อยเมื่อเข้าสู่ระยะคลอดบุตร

    การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ เมื่อเข้าใกล้ระยะคลอด ทารกอาจเคลื่อนไหวน้อยลง เนื่องจากขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น หรือทารกอาจเริ่มกลับหัวและเคลื่อนที่ไปยังบริเวณกระดูกเชิงกราน

    น้ำคร่ำแตก น้ำคร่ำมักไม่มีกลิ่นและเป็นของเหลวสีใส เป็นถุงน้ำที่ล้อมรอบทารกในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่อาจรู้สึกถึงของเหลวที่ไหลออกมาอย่างกะทันหัน

    ปากมดลูกขยาย โดยปากมดลูกจะขยายออกเรื่อย ๆ เต็มที่คือ 10 เซนติเมตร ซึ่งเป็นสัญญาณว่าทารกพร้อมคลอดแล้ว

    วิธีจัดการกับอาการปวดท้องคลอด

    เมื่อมดลูกเริ่มหดตัวและมีอาการเจ็บปวดหรือเป็นตะคริว คุณแม่อาจบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ด้วยการผ่อนคลายร่างกาย ดังนี้

    • พยายามหากิจกรรมทำ เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เพื่อดึงความสนใจจากอาการเจ็บปวด
    • แช่ตัวในอ่างน้ำอุ่นเพื่อบรรเทาอาการตึงเครียดของร่างกาย
    • พักผ่อนด้วยการนอนหลับหรืองีบหลับ เพื่อเก็บพลังงานไว้ในช่วงเวลาที่มดลูกบีบรัดตัวรุนแรงมากขึ้นจนพร้อมคลอด
    • ให้คนรอบข้างช่วยนวดหลังหรือเท้าเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
    • ฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ เป็นจังหวะเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น
    • จินตนาการภาพ เช่น จินตนาการถึงธรรมชาติ ป่า ทะเล หรือเรื่องสนุกสนาน ซึ่งอาจช่วยดึงดูดความสนใจและลดอาการเจ็บปวดได้

    การบรรเทาอาการปวดท้องคลอดสำหรับคุณแม่ที่มีอาการเจ็บปวดมาก คุณหมออาจใช้วิธีเหล่านี้

    • ยาแก้ปวด คุณหมอจะให้ยาผ่านท่อเล็ก ๆ เข้าไปที่ส่วนล่างของหลัง จะทำให้เกิดอาการชาเฉพาะที่ และช่วยให้คุณแม่ตื่นตัวตลอดการคลอด นอกจากนี้ ยังมียาแก้ปวดชนิดอื่นอีก เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดอาการปวดหลัง ยาลดอาการปวดหัว
    • การบล็อกกระดูกสันหลัง คุณหมอจะให้ยาผ่านเข็มที่สอดเข้าไปในช่องกระดูกสันหลังบริเวณหลังส่วนล่างเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด
    • ยาชาทั่วไป เป็นยาแก้ปวดที่ใช้ในระหว่างคลอดจะทำให้คุณแม่หมดสติ มักใช้ในกรณีผ่าคลอด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา