backup og meta

การคลอดล่าช้า สาเหตุ อาการ และความเสี่ยง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    การคลอดล่าช้า สาเหตุ อาการ และความเสี่ยง

    การคลอดล่าช้า (Prolonged Labor) เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของการคลอด หมายถึงการคลอดที่ใช้ระยะเวลานานเกินกว่า 20 ชั่วโมงขึ้นไปนับตั้งแต่มีอาการเจ็บท้องคลอดและเข้าสู่ระยะเร่งของการคลอด (Active Phase) จากปกติที่ควรใช้เวลาแค่ประมาณ 12-18 ชั่วโมง การคลอดล่าช้าอาจเป็นอันตรายต่อทารก เนื่องจากอาจทำให้ทารกขาดออกซิเจน หัวใจเต้นผิดปกติ มีความผิดปกติในน้ำคร่ำ หรือมีการติดเชื้อได้ รวมทั้งอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในคุณแม่ด้วย เช่น ภาวะตกเลือดหลังคลอดจากการที่มดลูกหดรัดตัวไม่ดี หากคุณแม่มีภาวะคลอดล่าช้า คุณหมออาจแนะนำให้ทำการผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และเด็ก

    วิธีคำนวณวันที่ครบกำหนดวันคลอด

    อายุครรภ์จะวัดโดยการใช้วันแรกของรอบเดือนครั้งสุดท้าย 280 วันหรือ 40 สัปดาห์ นับจากระยะเวลาเฉลี่ยของการตั้งครรภ์ หากไม่รู้ว่าประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ก่อนการตั้งครรภ์ หรือเป็นบุคคลที่มีรอบเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ คุณหมออาจจะขอให้มีการอัลตราซาวด์ เพื่อกำหนดอายุครรภ์ของทารก ในช่วงไตรมาสแรก ด้วยการวัด CRL (Crown-rump Length) ซึ่งการวัด CRL นั้นสามารถประมาณอายุของทารกได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากในช่วงเวลานี้ ทารกทุกคนเติบโตด้วยความเร็วเท่ากันโดยประมาณ แต่หากอัลตราซาวน์ในอายุครรภ์ที่มากขึ้น ความแม่นยำจะน้อยลง

    สาเหตุของ การคลอดล่าช้า หรือคลอดที่อายุครรภ์เกินกำหนด

    ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า อะไรคือสาเหตุหลักให้คุณแม่มีการเจ็บครรภ์หรือตั้งครรภ์ที่นานกว่าปกติ แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการ เช่น

    • ครอบครัวมีประวัติ การคลอดทารกล่าช้า
    • เคยมีประวัติตั้งครรภ์เกินกำหนดมาก่อน
    • กระดูกเชิงกรานของคุณแม่ที่เล็กเกินไป หรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ
    • น้ำหนักตัวของคุณแม่เกินเกณฑ์ หรือโรคอ้วน
    • การตั้งครรภ์ครั้งแรก
    • ทารกตัวใหญ่มาก และไม่สามารถเคลื่อนผ่านทางช่องคลอดได้
    • ภาวะคอติดไหล่
    • การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่
    • ปากมดลูกไม่พร้อม หรือไม่ขยาย รวมไปถึงการหดรัดตัวของมดลูก
    • ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ
    • การตั้งครรภ์เกินกำหนด คือ ตั้งครรภ์เกิน 42 สัปดาห์ โดยทารกที่เกิดก่อน 37 สัปดาห์จะถือว่า “คลอดก่อนกำหนด“ และทารกที่เกิดหลังจาก 42 สัปดาห์จะเรียกว่า “คลอดเกินกำหนด”
    • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) โรคตับ และความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ
    • อายุของคุณแม่ตั้งครรภ์เกิน 35 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจเป็น 1 ในปัจจัยทำให้การตั้งครรภ์เกินกำหนด

    สัญญาณและอาการของ การคลอดล่าช้า

    สำหรับสัญญาณและอาการของการคลอดทารกล่าช้า ได้แก่

    • ใช้เวลาการคลอดนานกว่า 18 ชั่วโมง
    • คุณแม่เริ่มมีอาการอ่อนล้าและเหนื่อย
    • อาการปวดหลัง
    • อัตราชีพจรเต้นสูง
    • โรคคีโตซิส (Ketosis) เป็นภาวะแทรกซ้อนของภาวะขาดน้ำ การขาดคาร์โบไฮเดรตหรือกลูโคส สำหรับใช้เป็นพลังงานในร่างกาย

    ความเสี่ยงจาก การคลอดทารกล่าช้า

    หากคุณแม่ต้องประสบกับ การคลอดทารกล่าช้า ก็อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่าง ๆ เพิ่มขึ่้นด้วย โดยความเสี่ยงที่เกิดจาก การคลอดทารกล่าช้า มีดังนี้

    • การใช้เวลานานกว่าปกติในการคลอดแบบธรรมชาติ เพิ่มโอกาสต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์

    ทางด้านคุณแม่

    • เพิ่มโอกาสใช้วิธีการผ่าคลอดหรือหัตภารช่วยคลอดทางช่องคลอดแทน
    • เพิ่มโอกาสตกเลือดหลังคลอดจากภาวะมดลูกหดรัดตัวไม่ดี
    • เสี่ยงการติดเชื้อในโพรงมดลูกเพิ่มขึ้น

    ทางด้านทารก

    • ระดับออกซิเจนต่ำสำหรับทารก
    • จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติในทารก
    • ทารกมีการถ่ายขี้เทาในน้ำคร่ำ จากการที่ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน และอาจส่งผลให้มีการสำลักลงปอดได้
    • ลูกน้อยอาจมีพัฒนาการที่ล่าช้า
    • ทารกอาจอยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลว หรือทางเดินหายใจผิดปกติ

    ลักษณะทารกที่เกิดจากการตั้งครรภ์เกินกำหนด

    • ผิวหนังแห้งแตก เหี่ยวย่น และหลุดลอก เนื่องจากสูญเสียไขมันใต้ผิวหนัง
    • มีขี้เทาเคลือบติดตามตัว
    • รูปร่างผอม มีลักษณะขาดสารอาหาร แต่ตื่นตัว (Alert)
    • หน้าตาดูแก่กว่าเด็กทั่วไป และเล็บยาว

    หากคุณแม่คิดว่าถึงกำหนดคลอดแล้ว แต่ยังไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ควรรีบทำการปรึกษาคุณหมอทันที โดยแนะนำให้ไปรับการตรวจฝากครรภ์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการประเมินช่วงเวลาและช่องทางการคลอดที่เหมาะสมต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา