มดลูกแตก หมายถึง ภาวะที่มดลูกขณะตั้งครรภ์มีการฉีดขาด หรือปริออก ทำให้มีการตกเลือดในช่องท้องจำนวนมาก และอาจทำให้ทารกในครรภ์และน้ำคร่ำหลุดออกจากมดลูกเข้าไปในช่องท้อง จนทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ ซึ่งภาวะมดลูกแตกนี้พบมากในช่วงระหว่างคลอด แต่บางครั้งก็อาจเกิดในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
[embed-health-tool-due-date]
อาการของภาวะมดลูกแตก
อาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะมดลูกแตก
- มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ
- กดหน้าท้องแล้วรู้สึกเจ็บ
- ปวดบริเวณเหนือหัวหน่าว (ส่วนของร่างกายที่อยู่ระหว่างท้องน้อย กับอวัยวะสืบพันธุ์)
- มดลูกหดรัดตัวไม่สัมพันธ์กัน ทำให้การคลอดแบบธรรมชาติเป็นไปได้ลำบากขึ้น
- ศีรษะของลูกน้อยถดถอยเข้าสู่ช่องคลอด
- ปวดรุนแรงอย่างฉับพลันเมื่อมดลูกบีบรัดตัว
- อัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ผิดปกติ
หากพบว่าผนังมดลูกผิดปกติ คุณหมออาจวินิจฉัยให้ผ่าตัดคลอดแทนการคลอดธรรมชาติ
สาเหตุของมดลูกแตก
มดลูกแตก อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้
- การบีบรัดตัวของมดลูกในขณะคลอดอาจทำให้มดลูกแตกได้
- การใช้มดลูกมากเกินไป เช่น การมีลูกมากกว่า 3 คนขึ้นไป
- การผ่าตัดผนังมดลูก หรือเคยขูดมดลูกมาก่อน
- ทารกในครรภ์ตัวใหญ่เกินไป เมื่อเทียบกับความกว้างของอุ้งเชิงกราน
- ทารกอยู่ในท่านอนขวาง หรือที่เรียกว่า “ลูกน้อยไม่ยอมกลับหัว”
- อายุของคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ตอนมีอายุมาก ตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
- เคยประสบอุบัติเหตุ และมดลูกได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
- ผนังมดลูกอ่อนแอ หรือบางผิดปกติ
- เคยมีการผ่าคลอดมาก่อน
- ใช้ยาบางชนิดที่ทำให้มดลูกบีบตัวผิดปกติ หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับปริมาณยาชนิดนั้นมากเกินไป
วิธีรักษาและป้องกันมดลูกแตก
หากเกิดภาวะที่เสี่ยงมดลูกแตก คุณหมอจะทำการผ่าตัดคลอด เนื่องจากหากคลอดเองตามธรรมชาติอาจพบปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ตามมาได้ อย่างไรก็ตาม ควรพูดคุยเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาที่เป็นไปได้ทั้งหมดกับคุณหมอ เพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม และปลอดภัยสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์มากที่สุด
นอกจากนั้น มดลูกแตก อาจป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการทำแท้ง
- วางแผนที่จะตั้งครรภ์ก่อนอายุ 30 ปี
- หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ภายใน 2 ปี หลังจากได้รับการผ่าตัดคลอด
- ขณะตั้งครรภ์ ควรพบคุณหมอตามนัดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสสุดท้าย
- หากรู้สึกผิดปกติอย่าลังเลที่จะปรึกษาคุณหมอ เช่น ปวดท้องกะทันหัน ลูกดิ้นน้อยลง
- เข้าพบคุณหมอทันทีหากเลยกำหนดการคลอดแล้วแต่ยังไม่มีสัญญาณเตือนคลอด