backup og meta

ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ อาการและรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 11/07/2022

    ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ อาการและรักษา

    ซิฟิลิส คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) โดยทั่วไปแบคทีเรียจะอยู่บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก และปากหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นซิฟิลิสอาจส่งต่อเชื้อไปยังทารกในครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกได้รับเชื้อ ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการตรวจร่างกายจากคุณหมอเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียและรีบรักษา

    ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้หรือไม่

    ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เป็นโรคซิฟิลิสได้ และอาจส่งผลต่อสุขภาพทารกแรกเกิด ทำให้ได้รับผลกระทบต่อหู ตา ตับ ไขกระดูก ผิวหนัง กระดูก เสี่ยงเป็นภาวะโลหิตจาง ม้ามโต เส้นประสาทเสียหาย ตาบอด หูหนวก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผื่นผิวหนัง หากเจอเชื้อซิฟิลิสระหว่างตั้งครรภ์ ทารกอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากทารกรอดชีวิตก็อาจคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจทำให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักและพัฒนาการไม่ดี และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

    อาการของ ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์

    อาการของซิฟิลิสอาจแตกต่างตามระยะ โดยสังเกตได้จากอาการ ดังนี้

    • ซิฟิลิสปฐมภูมิ เป็นการติดเชื้อในระยะแรกที่อาจก่อให้เกิดแผลริมอ่อน และมีอาการเจ็บบริเวณที่ติดเชื้อแบคทีเรีย  เช่น ภายในช่องคลอด หรือทวารหนัก โดยแผลริมอ่อนอาจเกิดขึ้นภายใน 3 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อและอาจหายได้เองภายใน 6 สัปดาห์
    • ซิฟิลิสทุติยภูมิ หลังจากแผลริมอ่อนหายประมาณ 2-10 สัปดาห์ ผื่นอาจปรากฏทั่วทั้งร่างกาย และอาจมีแผลคล้ายหูดในช่องปาก อวัยวะเพศ บางคนอาจผมร่วง ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองบวม ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถหายไปได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์แต่อาจกลับมาเป็นซ้ำ ๆ ได้นานถึง 1 ปี
    • ซิฟิลิสตะติยภูมิ เป็นการติดเชื้อระดับรุนแรงหากไม่เร่งรักษาทันทีที่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทำลายเส้นประสาท ดวงตา หัวใจ หลอดเลือด สมอง ตับ กระดูกและข้อต่อ

    การวินิจฉัยซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์

    คุณหมออาจวินิจฉัยด้วยการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อหาแอนติบอดีในร่างกายที่ต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียซิฟิลิส หรืออาจเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลังผ่านการเจาะเอว เพื่อนำเข้าห้องปฏิบัติการหาเชื้อ นอกจากนี้ คุณหมออาจตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ด้วยโซโนแกรม (Sonograms) เพื่อเช็กว่าทารกติดเชื้อซิฟิลิสหรือมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือไม่ ที่สำคัญคุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจครรภ์สม่ำเสมอ หากคุณหมอสังเกตว่าเชื้อซิฟิลิสอยู่ในระยะอันตรายอาจจำเป็นต้องนำทารกออกก่อนกำหนด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

    การรักษาซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์

    โรคซิฟิลิสนั้นสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม ดังนั้น ผู้หญิงตั้งครรภ์จึงควรสังเกตอาการหลังจากมีเพศสัมพันธ์หรือหากมีความกังวลควรรีบเข้ารับการตรวจหาเชื้อซิฟิลิสและรักษาโดยไวที่สุด เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา โอกาสที่เชื้อซิฟิลิสจะไปติดทารกในครรภ์อาจมากขึ้นถึง 100% และโอกาสที่ทารกจะเสียชีวิตอาจมีมากถึง 40% ส่วนทารกที่รอดชีวิตมาได้ ก็อาจมีสัญญาณของโรคซิฟิลิสเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีแรก แต่หากรีบทำการรักษา ดูแลตนเอง และรับประทานยาตามคำแนะนำของคุณหมอ ก็จะสามารถตั้งครรภ์และคลอดทารกได้อย่างปลอดภัย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 11/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา