โดยปกติแล้ว คุณแม่อาจรู้สึกว่าลูกในครรภ์เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายหรือเริ่มดิ้นในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 18-20 ในท้องแรก หรือในท้องหลังจะรู้สึกในช่วงสัปดาห์ที่ 16-20 ของการตั้งครรภ์ การที่ลูกในครรภ์ขยับร่างกายหรือดิ้นอย่างสม่ำเสมออาจทำให้คุณแม่รู้สึกเบาใจว่าลูกเจริญเติบโตและแข็งแรงดี แต่หาก ลูกไม่ค่อยดิ้น หรือดิ้นน้อยลง อาจทำให้คุณแม่เริ่มกังวลว่าอาจมีความผิดปกติเกิดกับลูกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาสาเหตุของอาการลูกไม่ค่อยดิ้น ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกในครรภ์อาจผิดปกติ เช่น ตำแหน่งของลูกในท้อง น้ำหนักของคุณแม่ ความผิดปกติภายในร่างกาย อาจช่วยให้คุณแม่สังเกตเห็นความผิดปกติของลูกในครรภ์ในเบื้องต้นได้ หากพบความผิดปกติใด ๆ จะได้เข้าพบคุณหมอและรักษาได้อย่างทันท่วงที
สาเหตุที่ ลูกไม่ค่อยดิ้น
ลูกไม่ค่อยดิ้น อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- อายุครรภ์น้อยหรือมากเกินไป ช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 16-22 ของการตั้งครรภ์คุณแม่อาจยังไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นหรือขยับร่างกาย เนื่องจากลูกยังเจริญเติบโตไม่มากพอ โดยปกติแล้ว คุณแม่จะเริ่มสัมผัสได้ว่าลูกดิ้นในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 18 – 20 ในท้องแรก หรือในท้องหลังจะรู้สึกในช่วงสัปดาห์ที่ 16-20 ของการตั้งครรภ์ จากนั้นลูกจะดิ้นอย่างสม่ำเสมอ และบางครั้งอาจดิ้นแรงขึ้น แต่เมื่ออายุครรภ์มาถึงช่วงสัปดาห์ที่ 36 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ การดิ้นของลูกอาจเปลี่ยนไปหรือน้อยลง เนื่องจากลูกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นจนมีพื้นที่ในครรภ์น้อยลง ทำให้ดิ้นหรือขยับร่างกายได้ยากกว่าเดิม
- ตำแหน่งของลูกในครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นได้มากน้อยแค่ไหนนั้น อาจขึ้นอยู่กับตำแหน่งของลูกและรกด้วย รกคืออวัยวะที่มีลักษณะเป็นแผ่นกว้าง ถูกสร้างขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ มีหน้าที่ช่วยแลกเปลี่ยนสารอาหารจากแม่สู่ลูก หากรกไปอยู่บริเวณด้านหน้ามดลูกแล้วกั้นกลางระหว่างลูกกับหน้าท้อง หรือลูกในท้องกำลังหันหลังให้หน้าท้องแม่ อาจทำให้รับรู้ถึงการดิ้นของลูกได้ไม่สม่ำเสมอ แม้จะเคยตั้งครรภ์มาแล้ว แต่ก็อาจเริ่มสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ได้เร็วหรือช้ากว่าการตั้งครรภ์ครั้งก่อน และอาจรู้สึกว่าลูกไม่ได้ดิ้นอยู่จุดเดิม เนื่องจากตำแหน่งของรกอาจแตกต่างกันไปในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง
- น้ำหนักของคุณแม่ คุณแม่ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ อาจรู้สึกว่าลูกดิ้นได้น้อยกว่าคุณแม่ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ ในกรณีนี้ คุณหมออาจต้องทดสอบอัตราการเต้นของหัวใจของลูกในครรภ์เป็นรายสัปดาห์ เพื่อตรวจสอบว่าลูกในครรภ์เจริญเติบโตเป็นปกติหรือไม่
- เกิดความผิดปกติภายในครรภ์ การที่ลูกดิ้นน้อยลง อาจเกิดจากความผิดปกติภายในครรภ์ที่ต้องให้คุณหมอวินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป เช่น ปัญหาเกี่ยวกับมดลูกและรก สายสะดือพันคอลูก ภาวะน้ำคร่ำน้อยหรือมากเกินไป
ลักษณะการดิ้นและเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์
คุณแม่อาจรู้สึกว่าลูกในครรภ์เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายหรือเริ่มดิ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 18-20 ในท้องแรก หรือในท้องหลังจะรู้สึกในช่วงสัปดาห์ที่ 16-20 ของการตั้งครรภ์ โดยลักษณะการดิ้นและการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์ในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้
- ช่วงไตรมาสที่ 2 (สัปดาห์ที่ 13-28) ของการตั้งครรภ์ เป็นระยะกลางของการตั้งครรภ์ โดยลูกจะเริ่มดิ้นจนสัมผัสได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 18-20 ในท้องแรก หรือในท้องหลังจะรู้สึกในช่วงสัปดาห์ที่ 16-20 เริ่มแรกคุณแม่อาจรู้สึกคล้ายมีผีเสื้อกระพือปีกในท้อง ก่อนจะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นและหมุนตัวของลูกมากขึ้นและบ่อยขึ้น ช่วงเวลาที่สัมผัสว่าลูกดิ้นอาจเป็นตอนที่อยู่ในที่เงียบสงบ ขณะนั่งหรือเอนตัวนอน หรือหลังมื้ออาหาร
- ช่วงไตรมาสที่ 3 (สัปดาห์ที่ 29-40) ของการตั้งครรภ์ เป็นระยะใกล้คลอด ช่วงนี้คุณแม่อาจสัมผัสถึงการดิ้นของลูกในครรภ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจรู้สึกถึงการเตะ การบิดตัว ข้อศอกของลูกมาโดนท้อง เป็นต้น การดิ้นของลูกอาจเป็นการตอบสนองต่อการสัมผัสและเสียงที่ได้ยินจากภายนอก ในช่วงนี้ลูกจะดิ้นเป็นเวลา ส่วนมากจะเป็นตอนกลางคืน ประมาณช่วง 21.00-01.00 น. ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนของคุณแม่ และส่วนใหญ่ลูกจะดิ้นน้อยลงเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 36 ของการตั้งครรภ์ เนื่องจากลูกตัวโตขึ้น จนเหลือพื้นที่ในครรภ์ให้ขยับตัวได้น้อยลง แต่บางครั้งลูกก็อาจดิ้นแรงจนทำให้รู้สึกเจ็บได้
การนับการดิ้นของลูกในครรภ์
การนับจำนวนครั้งในการดิ้นของลูกเป็นวิธีเช็กสุขภาพของลูกในครรภ์ด้วยตัวเองเบื้องต้ สามารถทำได้โดยการจดบันทึกการดิ้นในแต่ละวัน คุณแม่อาจพบว่าจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นค่อนข้างคงที่ ให้ใช้จำนวนที่นับได้บ่อย ๆ เป็นเกณฑ์วัดความปกติของการดิ้นของลูก แม้การนับจำนวนครั้งในการดิ้นของลูกจะไม่สามารถป้องกันภาวะผิดปกติของลูกในครรภ์ได้ แต่อย่างน้อย หากมีวันไหนที่ลูกไม่ค่อยดิ้น ก็อาจช่วยให้คุณแม่สังเกตเห็นได้ว่าอาจมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นกับลูกในครรภ์ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยให้คุณหมอสามารถวินิจฉัยภาวะความผิดปกติและรักษาได้อย่างทันท่วงที
โดยทั่วไปแล้ว จำนวนครั้งในการดิ้นของลูกในครรภ์ที่อาจบ่งบอกว่าลูกมีพัฒนาการและสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติ อาจมีดังนี้
- ช่วงสัปดาห์ที่ 28 ลูกอาจดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้งภายใน 2-3 ชั่วโมง
- ช่วงสัปดาห์ที่ 29-40 หรือช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ลูกอาจดิ้นอย่างน้อย 30 ครั้งภายใน 2-3 ชั่วโมง
สำหรับวิธีที่ใช้นับลูกดิ้น (Fetal movement count) มีด้วยกันหลายวิธี ได้แก่
- Sadovsky and Polishuk Technique แนะนำให้เริ่มนับลูกดิ้นตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ โดยการจดจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นหลังรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นช่วงที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จึงเป็นช่วงที่สามารถกระตุ้นการดิ้นของลูกได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ลูกจะได้รับพลังงานมากขึ้นและดิ้นบ่อยขึ้น โดยที่ควรดิ้นไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ ถ้าทั้ง 3 มื้อรวมกันแล้วดิ้นมากกว่า 10 ครั้งก็ถือว่าปกติ แต่ถ้าดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ให้นับต่ออีก 1 ชั่วโมง หากยังน้อยกว่า 3 ครั้งอีก ควรรีบไปพบแพทย์
- Count to Ten Technique คือ การนับลูกดิ้นให้ครบ 10 ครั้ง ในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงต่อกัน ในท่านอนตะแคง ซึ่งมารดาสามารถเลือกเวลาที่สะดวกตอนไหนก็ได้หรือเวลาที่ทารกดิ้นเยอะในช่วงเย็นก็ได้ โดยไม่จำเป็นทำหลังรับประทานอาหาร ถ้าไม่ถึง 10 ครั้ง แปลว่าผิดปกติ
- Modified Cardiff Count to Ten คือ การนับลูกดิ้นให้ครบ 10 ครั้ง ในเวลา 4 ชั่วโมง ซึ่งนิยมให้นับในช่วงเช้า 8.00-12.00 น. ถ้ามีความผิดปกติ ในตอนบ่ายให้มาพบแพทย์ทันที
- Daily Fetal Movement Record (DFMR) ให้นับลูกดิ้นตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น หรือใช้เวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าลูกดิ้นมากกว่า 10 ครั้ง ถือว่ายังปกติดี
การดิ้นแบบไหนที่ควรปรึกษาคุณหมอ
- ลูกไม่ดิ้นเลย ในช่วงสัปดาห์ที่ 24 เป็นช่วงที่ลูกในครรภ์มีพัฒนาการและการเติบโตมากพอจะทำให้คุณแม่รู้สึกได้หากลูกดิ้นหรือขยับตัว แต่หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นเลย คุณหมออาจต้องตรวจร่างกาย และที่สำคัญต้องฟัง อัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ (Fetal Heart Rate หรือ FHR) หรืออาจตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ด้วย Non Stress Test (NST) วิธีนี้อาศัยหลักการการเปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจ ดู Fetal Heart Rate Variability ซึ่งเป็นการตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติต่อสิ่งกระตุ้น ในกรณีที่ไม่มี NST อาจใช้ Rapid Biophysical Profile ซึ่งเป็นการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ดูปริมาณน้ำคร่ำร่วมกับการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์แทนได้
- อยู่ดี ๆ ลูกก็หยุดดิ้น ในช่วงสัปดาห์ที่ 29-40 หรือไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกไม่ค่อยดิ้น และกังวลว่าอาจเกิดความผิดปกติกับลูกในครรภ์ อาจลองดื่มน้ำผลไม้ในช่วงเวลาที่ใช้นับการดิ้นในทุกวัน รอสักพักค่อยเอนตัวลงนอนตะแคงซ้าย และสังเกตความเคลื่อนไหวของลูกอย่างใกล้ชิด หากรู้สึกว่าลูกไม่ขยับ ดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง หรือไร้ความเคลื่อนไหวมากกว่า 2 ชั่วโมง ควรเข้าพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]