ภาวะท้องนอกมดลูก เป็นการตั้งท้องที่เกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่บริเวณนอกโพรงมดลูก มักเกิดขึ้นที่ท่อนำไข่ แต่ตัวอ่อนก็อาจฝังตัวที่รังไข่ ปากมดลูก ช่องท้อง ได้เช่นกัน ภาวะท้องนอกมดลูกอาจเกิดจากการมีสภาวะทางสุขภาพบางประการที่ทำให้ตัวอ่อนเคลื่อนตัวไปไม่ถึงมดลูกและฝังตัวระหว่างทาง เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตและอวัยวะที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่ไม่สามารถขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตไปเป็นทารกของตัวอ่อนได้เหมือนกับมดลูก อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่ได้ สัญญาณเตือน ท้องนอกมดลูก อาจสังเกตได้จากอาการปวดแปลบบริเวณท้องน้อย ปวดคอ ไหล่ อุ้งเชิงกราน และทวารหนัก หากมีประวัติตั้งท้องนอกมดลูกหรือสงสัยว่าตัวเองอาจตั้งท้องนอกมดลูก ควรไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด
ภาวะท้องนอกมดลูก เกิดจากอะไร
ภาวะท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy) เกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิและกลายเป็นตัวอ่อนแล้วฝังตัวและเจริญเติบโตนอกโพรงมดลูก ส่วนใหญ่มักฝังตัวในท่อนำไข่ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้ลำเลียงไข่ไปยังมดลูก แต่บางครั้งตัวอ่อนก็อาจฝังตัวที่บริเวณอื่น ๆ เช่น รังไข่ ช่องท้อง ปากมดลูก ภาวะนี้เป็นการตั้งครรภ์ผิดปกติและมักจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์และเป็นอันตรายร้ายแรงต่อคุณแม่ อาจทำให้คุณแม่ช็อกและเสียชีวิตได้ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะท้องนอกมดลูก อาจมีดังนี้
- อายุ ผู้หญิงอายุเกิน 35 ปี เสี่ยงเกิดภาวะท้องนอกมดลูกได้มากกว่าผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ที่อายุน้อยกว่า
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease หรือ PID) อาจทำให้บริเวณท่อนำไข่อักเสบหรือติดเชื้อ ส่งผลให้ท่อนำไข่อุดตันจนตัวอ่อนไม่สามารถเดินทางไปยังมดลูกได้ตามปกติและฝังตัวที่ท่อนำไข่แทน
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เป็นภาวะที่เยื่อบุผนังมดลูกไปเจริญภายนอกมดลูก หากเยื่อบุไปเจริญเติบโตอยู่ภายในท่อนำไข่อาจทำให้ท่อนำไข่อุดตัน จนเกิดการตั้งท้องนอกมดลูก
- การสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่กระตุ้นให้เกิดการผลิตโปรตีนภายในท่อนำไข่ ทำให้กล้ามเนื้อในผนังท่อนำไข่หดตัว อาจขัดขวางการลำเลียงตัวอ่อนไปยังมดลูก และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะท้องนอกมดลูกได้
- ภาวะมีบุตรยาก (infertility treatment) ผู้ที่มีปัญหามีบุตรยากและเคยรับการรักษาภาวะมีบุตรยาก เช่น ทำเด็กหลอดแก้ว มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะท้องนอกมดลูก
- ประวัติตั้งท้องนอกมดลูก ผู้ที่มีประวัติตั้งท้องนอกมดลูกมาก่อนอาจเกิดภาวะนี้ซ้ำได้
- การผ่าตัด ผู้ที่เคยผ่าตัดบริเวณช่องท้อง อุ้งเชิงกราน ท่อนำไข่ มดลูก มาก่อน อาจมีบาดแผลผ่าตัดที่ทำให้ไข่เคลื่อนตัวไปยังมดลูกยากขึ้น และอาจทำให้เกิดภาวะตั้งท้องนอกมดลูกได้
สัญญาณเตือน ท้องนอกมดลูก ที่ควรรู้
สัญญาณเตือนของภาวะท้องนอกมดลูก อาจมีดังนี้
- ประจำเดือนขาด
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- ปวดกระดูกอุ้งเชิงกรานและหลังส่วนล่าง
- วิงเวียนศีรษะหรืออ่อนเพลีย หน้ามืด
อาการฉุกเฉินของภาวะท้องนอกมดลูก ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนทำให้ท่อนำไข่แตก และควรเข้ารับการรักษาโดยเร็ว อาจมีดังนี้
- เป็นลม หน้ามืด
- ความดันโลหิตต่ำ
- ปวดคอและไหล่ ซึ่งเกิดจากการที่มีเลือดออกในช่องท้องปริมาณมากจนไประคายเคืองที่บริเวณกระบังลม ส่งผลให้กระตุ้นให้เกิดการปวดไหล่ได้
- ปวดแปลบบริเวณท้องน้อย
- มีแรงกดหรือปวดหน่วงลงบริเวณทวารหนัก
การวินิจฉัยภาวะท้องนอกมดลูก
ภาวะท้องนอกมดลูกอาจวินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากอาการในระยะแรกจะคล้ายคลึงกับอาการของการตั้งท้องปกติ หากคุณหมอสงสัยว่าคุณแม่มีภาวะท้องนอกมดลูก อาจทดสอบการตั้งครรภ์และตรวจอุ้งเชิงกรานด้วยการอัลตราซาวด์เพื่อหาความผิดปกติของมดลูกและท่อนำไข่ ในบางรายอาจจะต้องมีการตรวจฮอร์โทนการตั้งครรภ์ควบคู่ไปด้วย
วิธีรักษาภาวะท้องนอกมดลูก
เนื่องจากไข่ที่ปฏิสนธิและกลายเป็นตัวอ่อนแล้วไม่สามารถอยู่รอดนอกมดลูกได้ คุณหมอจึงจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีต่อไปนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพร้ายแรง
- การใช้ยารักษา หากคุณหมอตรวจพบภาวะท้องนอกมดลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ ขณะที่ท่อนำไข่ยังไม่แตก อาจรักษาด้วยการฉีดยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) เข้ากล้ามเนื้อ เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์ตัวอ่อน และให้ส่วนของการตั้งครรภ์ฝ่อไป
- การผ่าตัด ในกรณีที่การตั้งครรภ์โตขึ้นระดับนึง ก้อนมีขนาดใหญ่ การให้ยาอาจไม่สามารถทำให้ส่วนการตั้งครรภ์ฝ่อไปได้ คุณหมออาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง (Laparoscopy) หรือการผ่าตัดด้วยวิธีผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Laparotomy)ก็ได้ ในกรณีที่ก้อนการตั้งครรภ์ยังไม่แตก แต่หากก้อนการตั้งครรภ์มีการแตก หรืออาการของหญิงตั้งครรภ์ไม่คงที่ มีอาการความดันตกร่วมด้วยจะพิจารณาผ่าตัดด้วยวิธีการเปิดหน้าท้อง (Laparotomy) ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดฉุกเฉิน
หากมีภาวะท้องนอกมดลูก สามารถตั้งท้องได้อีกหรือไม่
ผู้หญิงที่เคยมีภาวะตั้งท้องนอกมดลูกจะเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้อีกเมื่อตั้งท้องในอนาคต หากคุณแม่ต้องการตั้งท้องอีกครั้ง ควรรออย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาพักฟื้น นอกจากนี้ เมื่อมีการตั้งท้องครั้งต่อไป คุณแม่ควรรีบไปฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะต้องแจ้งให้คุณหมอทราบด้วยว่าเคยเกิดภาวะท้องนอกมดลูก เพื่อให้ทีมแพทย์สามารถวางแผนการดูแลครรภ์ได้อย่างเหมาะสม และสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าตัวอ่อนเจริญเติบโตอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]