backup og meta

อาการแท้ง ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่ควรรู้

อาการแท้ง ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่ควรรู้

ภาวะแท้งบุตรหรือ อาการแท้ง (Miscarriage) เป็นการสูญเสียทารกในครรภ์ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ มักเกิดจากทารกในครรภ์มีโครโมโซมผิดปกติ หรือการพัฒนาโครงสร้างของทารกที่มีความผิดปกติ ส่งผลมีปัญหาด้านพัฒนาการเติบโตของตัวอ่อน อาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะแท้งบุตร เช่น มีมูกเลือดหรือของเหลวกลิ่นแรงไหลออกจากช่องคลอด ปวดท้องอย่างรุนแรงหากสงสัยว่าตัวเองมีภาวะแท้งหรือมีอาการดังที่กล่าวมาในช่วงที่ตั้งครรภ์ระยะแรก ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการผิดปกติ จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

สาเหตุที่ทำให้เกิดการแท้ง

อาการแท้งหรือภาวะแท้งบุตร คือ ภาวะสูญเสียทารกในครรภ์ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ภาวะนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติเนื่องจากทารกในครรภ์หยุดเจริญเติบโต บางครั้งอาจมีอาการแท้งโดยที่คุณแม่ไม่ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่

ปัจจัยดังต่อไปนี้อาจทำให้เสี่ยงเกิดอาการแท้งได้

  • อายุ ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีจะเสี่ยงแท้งบุตรได้มากกว่า โดยการแท้งบุตรที่เกี่ยวข้องกับอายุผู้เป็นแม่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดปกติของโครโมโซม เช่น ทารกในครรภ์มีโครโมโซมขาด ทารกในครรภ์มีโครโมโซมเกิน
  • ประวัติการแท้งบุตร ผู้ที่เคยแท้งบุตรมาก่อน เสี่ยงแท้งบุตรมากกว่าผู้ที่ไม่เคยแท้งบุตร
  • ภาวะสุขภาพ เช่น เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ปัญหาเกี่ยวกับมดลูกหรือปากมดลูก การติดเชื้อ โรคของมารดาบางอย่างที่ทำให้เกิดลื่มเลือดอุดตันได้ง่าย อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตรได้

สัญญาณและ อาการแท้ง

สัญญาณและ อาการแท้ง ที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • มีไข้หรือมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม
  • ปวดท้องน้อย คล้ายกับปวดท้องประจำเดือน
  • มีเลือดหรือของเหลวที่ส่งกลิ่นเหม็นไหลออกจากช่องคลอด
  • มีลิ่มเลือดหรือก้อนเลือด รวมไปถึงเนื้อเยื่อสีเทาหรือสีขาวไหลออกจากช่องคลอด
  • ท้องร่วงหรือรู้สึกปวดท้องขณะถ่ายอุจจาระ

โดยปกติแล้ว หลังการแท้งบุตร อาการปวดต่าง ๆ จะลดลงและมักหายไปภายใน 2 สัปดาห์

ประเภทของ อาการแท้ง

อาการแท้ง อาจแบ่งประเภทได้ดังต่อไปนี้

  • การแท้งคุกคาม (Threatened miscarriage) เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจมีเลือดไหลออกจากช่องคลอดในขณะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด และรู้สึกปวดท้องน้อยซึ่งอาจปวดร้าวไปถึงหลัง การแท้งคุกคามเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญเสียตัวอ่อนในครรภ์ แต่หากดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีก็อาจสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ตามปกติ
  • การแท้งค้าง (Missed miscarriage) เป็นการสูญเสียทารกในครรภ์ในลักษณะที่ทารกค้างอยู่ในโพรงมดลูกโดยที่คุณแม่ไม่รู้ตัวว่าแท้ง เนื่องจากไม่มีอาการผิดปกติให้เห็น การแท้งในลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้ผลอัลตราซาวด์ในการยืนยันว่าหัวใจของทารกในครรภ์เต้นตามปกติหรือไม่เต้นแล้ว หรือสังเกตได้จากอาการแพ้ท้องและอาการคัดตึงเต้านมที่หายไปหลังแท้ง
  • การแท้งครบ (Complete miscarriage) เป็นการสูญเสียทารกในครรภ์ในลักษณะที่ทารกและเนื้อเยื่อรกหลุดออกมาจากปากมดลูกอย่างครบถ้วนในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เมื่ออัลตราซาวด์แล้วไม่พบว่ามีตัวอ่อนอยู่ในมดลูกและปากมดลูกปิดสนิท
  • การแท้งไม่สมบูรณ์ (Incomplete miscarriage) เป็นการสูญเสียทารกในครรภ์ที่เนื้อเยื่อของทารกและรกบางส่วนหลุดลอกออกจากมาจากช่องคลอด แต่บางส่วนยังค้างอยู่ในโพรงมดลูก ร่วมกับมีน้ำคร่ำหรือเลือดไหลออกมาจากมดลูก การแท้งไม่สมบูรณ์อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่ จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการขูดมดลูกเพื่อนำเนื้อเยื่อและรกที่ตกค้างอยู่ออกให้หมด
  • การแท้งบุตรซ้ำ (Recurrent miscarriage หรือ RM) เป็นการสูญเสียทารกในครรภ์ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ติดต่อกัน 2 ครั้งขึ้นไปโดยไม่มีสาเหตุ การแท้งประเภทนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy) เป็นภาวะการตั้งครรภ์ผิดปกติที่ตัวอ่อนฝังตัวนอกโพรงมดลูก มักเกิดขึ้นที่บริเวณท่อนำไข่ซึ่งไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตของทารกได้ การตั้งครรภ์นอกมดลูกส่วนใหญ่ คุณหมอจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ เพราะหากทารกเจริญเติบโตอาจทำให้ท่อนำไข่หรืออวัยวะที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่แตกออก ส่งผลให้คุณแม่เสียเลือดมากและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัยการแท้งบุตร

คุณหมออาจใช้วิธีต่อไปนี้ เพื่อวินิจฉัยว่าคุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะแท้งบุตรหรือไม่

  • การตรวจอุ้งเชิงกราน เพื่อตรวจสอบว่าปากมดลูกของคุณแม่ขยายตัวหรือไม่ และตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ ผ่านการตรวจภายในทางช่องคลอด
  • อัลตราซาวด์ การตรวจภายในช่องท้องโดยใช้คลื่นเสียงเพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจของทารก
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin หรือ hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่บ่งชี้ว่าตั้งครรภ์และช่วยระบุอายุครรภ์ หากคุณแม่มีภาวะเลือดออกมาก อาจมีการตรวจหาภาวะโลหิตจางเพิ่มเติม
  • การตรวจชิ้นเนื้อ ทีมแพทย์จะนำชิ้นเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่หลุดลอกออกจากช่องคลอดของคุณแม่ ไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการแท้งบุตร และหาความผิดปกติอื่น ๆ
  • การตรวจสอบโครโมโซม ในกรณีที่คุณแม่มีประวัติเคยแท้งบุตรมามากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป อาจต้องตรวจสอบโครโมโซมเพื่อหาว่ายีนของคุณพ่อและคุณแม่เป็นสาเหตุที่ทำให้แท้งบุตรหรือไม่

หลังการแท้ง จะสามารถมีบุตรได้อีกหรือไม่

อาการแท้งเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้แม้คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีสุขภาพแข็งแรงดี ภาวะนี้ไม่ได้เป็นสัญญาณของปัญหาการมีบุตรยากแต่อย่างใด หากคุณแม่ที่เคยแท้งบุตรต้องการมีบุตรก็สามารถพยายามมีบุตรได้ตามปกติ แต่ควรรออย่างน้อย 3 เดือนก่อนจะเริ่มต้นพยายามมีบุตรอีกครั้ง เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู ในบางกรณี คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ช่วยให้ตัวอ่อนฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกและช่วยให้มดลูกพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งซ้ำได้ คุณแม่สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ไม่ควรหักโหมเกินไป เพราะการออกกำลังกายหนักอาจยับยั้งการตกไข่และลดการผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป เนื่องจากน้ำหนักตัวที่ไม่สมดุล อาจขัดขวางการตกไข่ตามปกติได้ การหาน้ำหนักตัวที่เหมาะสมในเบื้องต้นอาจทำได้ด้วยการวัดค่าดัชนีมวลกาย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้ยาเสพติด ที่อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์
  • ลดการบริโภคเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โดยปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการตั้งครรภ์ คือ ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน

การใช้เวลาปรับตัวและฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจหลังแท้งบุตรของคุณแม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเอง ใช้เวลากับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง ไม่โทษตัวเองในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน และความสัมพันธ์ในครอบครัวได้

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Miscarriage. https://www.webmd.com/baby/guide/pregnancy-miscarriage#:~:text=As%20many%20as%2050%25%20of,first%203%20months%20of%20pregnancy. Accessed August 4, 2022

Miscarriage. https://www.nhs.uk/conditions/miscarriage/. Accessed August 4, 2022

Miscarriage. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pregnancy-loss-miscarriage/symptoms-causes/syc-20354298. Accessed August 4, 2022

Miscarriage. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9688-miscarriage. Accessed August 4, 2022

Miscarriage. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/miscarriage. Accessed August 4, 2022

Female fertility: Why lifestyle choices count. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/getting-pregnant/in-depth/female-fertility/art-20045887. Accessed August 4, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/09/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

แท้ง อาการ สาเหตุ และวิธีป้องกัน

ทำแท้ง ถูกกฏหมายหรือไม่ และข้อเท็จจริงที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 18/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา