ในช่วงตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่คุณแม่ต้องดูแลสุขภาพเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากอาการอ่อนเพลียจากการตั้งครรภ์แล้ว หาก อาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้คุณแม่เกิดความวิตกกังวล และส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งตัวเองและทารกในครรภ์ได้ การดูแลเรื่องอาหารในช่วงตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และทารกในครรภ์
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
อาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร
อาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์ อาจเกิดขึ้นเมื่อรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนด้วยพยาธิ ปรสิต ไวรัส หรือสารเคมีบางชนิด โดยลิสเทอเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเชื้อโรคนี้อาจแฝงตัวอยู่ในเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ฮอทด็อก ลูกชิ้น เนื้อแช่แข็ง สัตว์ปีก อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากนมก็อาจมีเชื้อนี้ปะปนได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เชื้อนี้ก็อาจเติบโตได้แม้ในอาหารที่เย็นในตู้เย็น นอกจากนี้ เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ก็ยังสามารถส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ได้ และสามารถที่จะทำให้ลูกเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ เช่น อัมพาต ตาบอด โรคลมชัก
จากข้อมูลขององค์กรอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) พบว่า สาเหตุที่ผู้หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอาหารเป็นพิษ มากกว่าคนทั่วไปถึง 13 เท่า เนื่องจากในช่วงที่ตั้งครรภ์ระบบภูมิคุ้มกันของคุณแม่อาจอ่อนแอลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย
ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ พลังงานส่วนใหญ่ของร่างกายจะถูกใช้ไปกับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงตั้งครรภ์จึงควรระมัดระวัง และรอบคอบในเรื่องของอาหารการกิน ความสะอาดของอาหาร และส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาหาร เพราะอาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงได้ด้วย หากได้รับผลกระทบนี้อาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงต่อทารกได้
อาการของอาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์
นอกเหนือจากอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียแล้ว อาการของอาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์ที่อาจพบได้มีดังนี้
- ปวดหัว
- มีไข้
- ปวดท้อง
- มีภาวะขาดน้ำ
- อุจจาระเป็นเลือด
ซึ่งเป็นการยากที่จะบ่งบอกว่าอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากอาการแพ้ท้องหรือเกิดจากอาหารเป็นพิษ ซึ่งคุณแม่อาจต้องสังเกตอาการของตัวเองอยู่เป็นประจำ ว่าอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงกว่าอาการแพ้ท้องปกติหรือไม่ หรืออาการที่เกิดขึ้นเกิดในช่วงตั้งแต่ไตรมาสที่สองเป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่การแพ้ท้องตามธรรมชาติมักจะทุเลาลงแล้ว หรือหากพบว่ามีอาการรุนแรงควรเข้ารับการปรึกษาคุณหมอทันที
วิธีป้องกันอาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์
โดยทั่วไปแล้ว ลิสทีเรียอาจรักษาให้หายได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ หากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีความสงสัยว่าจะเกิดอาการอาหารเป็นพิษ ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันทีเพื่อตรวจดูอาการและรับการรักษา หากคุณแม่มีความกังวลเรื่องอาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์อาจหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีความเสี่ยงสูงต่อการปนเปื้อนของลิสทีเรีย เช่น
- ไส้กรอก
- เนื้อสัตว์แช่แข็ง
- เนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก
- น้ำนมดิบที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์
- อาหารทะเลแช่แข็ง
- ชีสที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เช่น เฟต้าชีส
นอกจากอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดอาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์แล้ว การดูแลตัวเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน หรือว่าแนวทางในการดูแลเรื่องอาหาร อาจทำได้ดังนี้
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
- ใช้แปรงขัดผิวผัก ผลไม้ เช่น เมล่อน แตงกวาให้สะอาด
- อ่านฉลากส่วนผสม ตรวจสอบวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์อย่างถี่ถ้วน
- ล้างมือบ่อย ๆ
- เมื่อจะทำอาหารควรเตรียมห้องครัวให้สะอาด
- เก็บของในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า
- หมั่นทำความสะอาดตู้เย็นเป็นประจำ
- ปรุงอาหารตามอุณหภูมิที่เหมาะสม หรือซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิอาหาร เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารสุกหรืออุ่นอย่างน้อย 71 องศาเซลเซียส