เลือดออกขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นภาวะบ่งชี้ความผิดปกติในครรภ์ ที่อาจต้องได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษาทันที ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ในบางราย เลือดขณะตั้งครรภ์อาจไม่เป็นอันตรา เช่น เลือดออกจากการฝังตัวของตัวอ่อน แต่เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อคุณแม่และลูกในท้อง หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการตรวจหาสาเหตุ เพื่อที่จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
[embed-health-tool-due-date]
อาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์
อาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์ที่อาจพบได้ทั่วไป มีดังนี้
- มีเลือดออกมากผิดปกติ
- อ่อนเพลีย
- ปวดท้องอย่างรุนแรง หรือปวดไหล่
- กระหายน้ำมาก
- เวียนศีรษะ และอาการอาจแย่ลงเมื่อลุกขึ้นยืน
- มีไข้ หรือหนาวสั่น
- เป็นลม
- ตกขาวมีกลิ่นผิดปกติ
สาเหตุของเลือดออกขณะตั้งครรภ์
เลือดออกขณะตั้งครรภ์ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้
การตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของการมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก ได้แก่
- ปัญหาเกี่ยวกับปากมดลูก เช่น การติดเชื้อที่ปากมดลูก ปากมดลูกอักเสบ
- เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation Bleeding) อาจเกิดจากตัวอ่อนฝังตัวอยู่ในเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากการปฏิสนธิประมาณ 10-14 วัน
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) อาจเกิดจากการที่ตัวอ่อนฝังตัวและเจริญเติบโตนอกมดลูก เช่น ในท่อนำไข่ อาการเลือดออกจากช่องคลอดจะพบได้ประมาณร้อยละ 50-80 ของผู้ป่วย เลือดที่ออกมักมีจำนวนน้อย ลักษณะเป็นแบบเลือดเก่า ๆ และออกกะปริบกะปรอย
- ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened Abortion) ภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลาง ลักษณะอาจเป็นเลือดสดหรือมูกเลือด โดยที่ปากมดลูกยังไม่เปิด และมักจะไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่บางรายอาจมีปวดหน่วงท้องน้อยคล้ายปวดประจำเดือนร่วมด้วยได้
- การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy) เกิดจากเซลล์ของรกแบ่งตัวผิดปกติ คือ ในภาวะปกติ หลังจากไข่ได้รับการผสมกับอสุจิและปฏิสนธิแล้ว จะมีเซลล์ชั้นนอกเจริญเติบโตเป็นรก แต่ในกรณีที่เป็นการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก เซลล์จะเปลี่ยนกลายเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ จำนวนมากอยู่ในโพรงมดลูก ผู้ป่วยมักมีอาการแพ้ท้องรุนแรงกว่าปกติ ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ ร่วมกับมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดมักมีสีแดงคล้ำและอาจมีชิ้นเนื้อคล้ายเม็ดสาคูออกมาด้วยตอนอายุครรภ์ประมาณ 9 -16 สัปดาห์
- การแท้งบุตร (Miscarriage หรือ Abortion) คือ การสูญเสียทารกในครรภ์ก่อนสัปดาห์ที่ 20
การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 หรือ 3
สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของการมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือไตรมาสที่ 3 อาจได้แก่
- การแท้งบุตร ก่อนสัปดาห์ที่ 20 หรือการเสียชีวิตของทารกในครรภ์
- รกเกาะต่ำ (Placenta Previa) เมื่อรกคลุมปากมดลูก อาจทำให้เลือดออกรุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์
- รกลอกตัว (Placental Abruption) คือ ภาวะที่รกซึ่งทำหน้าที่ให้สารอาหารและออกซิเจนแก่ทารกแยกออกจากผนังมดลูก
- ปัญหาเกี่ยวกับปากมดลูก เช่น การติดเชื้อที่ปากมดลูก ปากมดลูกอักเสบ หรือการเจริญเติบโตของปากมดลูก
- มดลูกแตก (Uterine Rupture) ภาวะที่มดลูกเปิดออกตามแนวแผลเป็นจากส่วนที่เป็นแผลผ่าตัดคลอด (C-section) แม้จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
- การคลอดก่อนกำหนด (Preterm labor) เกิดจากการที่ปากมดลูกเปิดก่อนกำหนด อาจส่งผลให้มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์เล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมดลูกหดรัดตัว ปวดหลัง หรือปวดช่องท้องด้านล่างบริเวณอุ้งเชิงกราน
- เลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งเป็นอาการเตือนตอนใกล้คลอด ผู้ป่วยจะมีมูกเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณไม่มาก ร่วมกับมีอาการเจ็บครรภ์คลอดจากมดลูกหดรัดตัวร่วมด้วย
การวินิจฉัยเลือดออกขณะตั้งครรภ์
สำหรับการวินิจฉัยภาวะเลือดออกขณะตั้งครรภ์ คุณหมออาจต้องตรวจช่องคลอดและกระดูกเชิงกราน รวมถึงอาจต้องใช้การทดสอบอื่น ๆ ต่อไปนี้ด้วย
- การตรวจเลือด เป็นการตรวจระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในเลือด รวมถึงการตรวจดูภาวะซีดในกรณีที่มีเลือดออกปริมาณมาก
- การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงสะท้อนเพื่อสร้างภาพถ่ายตรวจดูทารกในครรภ์ อาจใช้ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 15-20 นาที
- การตรวจท้อง เพื่อดูลักษณะและตรวจสอบความผิดปกติของทารกในครรภ์
- การตรวจภายใน เพื่อประเมินลักษณะและปริมาณเลือดที่ออก ดูความผิดปกติภายในช่องคลอดและปากมดลูก รวมทั้งประเมินภาวะฉุกเฉิน เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก
การรักษาอาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์
วิธีรักษาอาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์มักขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เลือดออก หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์เพียงเล็กน้อย เช่น ภาวะแท้งคุกคาม อาการอาจหายได้เองภายใน 1-2 วัน ซึ่งทารกที่คลอดออกมาจากคุณแม่ที่มีอาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์ อาจมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง แต่หากเลือดออกมาก อาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ หากแท้งบุตรและไม่ได้รับการรักษาทันที อาจทำให้เนื้อเยื่อบางส่วนยังคงค้างอยู่ในมดลูกเรียกว่าภาวะแท้งค้าง และทำให้เลือดออกมาก ดังนั้น เมื่อตั้งครรภ์และมีเลือดออกผิดปกติ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อประเมินอาการและรักษาได้ทัน
วิธีดูแลตัวเองที่บ้าน
แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะเมื่ออาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์ แต่วิธีต่อไปนี้อาจช่วยให้รับมือกับภาวะเลือดออกขณะตั้งครรภ์ได้ดีขึ้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หากมีอาการปวดไม่มาก อาจบรรเทาอาการได้ด้วยยาพาราเซตามอล
- ใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นแทนการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์
- หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าเลือดจะหยุดไหลแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เพราะอาจทำให้ภาวะเลือดออกขณะตั้งครรภ์กลับมาอีกครั้ง
- หากมีปริมาณเลือดออกมากขึ้น ปวดท้องน้อยมากขึ้น หรือลูกดิ้นน้อยลงในระยะท้ายของการตั้งครรภ์ หรือมีอาการอื่น ๆ ที่ผิดปกติร่วมด้วย ให้รีบไปพบคุณหมอทันที