IUGR คือ ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ ซึ่งเป็นภาวะที่ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้ากว่าที่ควรและมีขนาดตัวไม่สัมพันธ์กับอายุครรภ์ในขณะนั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของรกและมดลูกที่ทำให้ทารกได้รับสารอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว ภาวะสุขภาพของคุณแม่ อย่างไรก็ตาม ทารกที่มีภาวะนี้สามารถเจริญเติบโตต่อไปและคลอดออกมาเป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติได้ สิ่งสำคัญคือ คุณแม่ต้องไปพบคุณหมอตามนัดหมายเป็นประจำ หากตรวจพบความผิดปกติจะได้สามารถดูแลครรภ์และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
[embed-health-tool-due-date]
IUGR คือ อะไร
ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (Intrauterine Growth Restriction หรือ IUGR) คือ ภาวะที่ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้ากว่าอายุครรภ์ของคุณแม่ในขณะนั้น สาเหตุที่แท้จริงยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของรกหรือสายสะดือ ซึ่งทำหน้าที่ส่งสารอาหาร ออกซิเจนและเลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ และกำจัดของเสียให้กับทารก หากทารกได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ตัวเล็กกว่าปกติได้
โดยทั่วไป มักตรวจพบภาวะนี้ได้ในช่วงหลังจากสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่คุณหมอหรือทีมแพทย์ผู้ดูแลจะตรวจสอบพัฒนาการของทารกในครรภ์ด้วยการวัดระดับยอดมดลูกจากการตรวจครรภ์ (Fundal height) ซึ่งเป็นการวัดระยะห่างระหว่างกระดูกหัวหน่าวและมดลูก โดยปกติแล้ว ระยะห่างของสองตำแหน่งนี้จะขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของคุณแม่ เช่น คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ ควรมีระยะห่างระหว่างกระดูกหัวหน่าวและมดลูกประมาณ 20 เซนติเมตร หากตรวจวัดแล้วมีระยะห่างสั้นกว่าที่ควร คุณหมออาจให้เข้ารับการทดสอบเพิ่มเติม เพื่อตรวจดูว่ามีภาวะทารกโตช้าในครรภ์หรือไม่
ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- ภาวะทารกโตช้าในครรภ์อย่างสมมาตร (Symmetric IUGR) คือ ภาวะที่ร่างกายทุกส่วนของทารกมีขนาดเล็กกว่าอายุครรภ์
- ภาวะทารกโตช้าในครรภ์อย่างไม่สมมาตร (Asymmetric IUGR) คือภาวะที่ทารกมีขนาดศีรษะและสมองตามอายุครรภ์ แต่มีหน้าท้องเล็กผิดปกติ สามารถพบได้บ่อยกว่าประเภทแรก
แม้ว่าภาวะทารกโตช้าในครรภ์จะทำให้การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ล่าช้ากว่าปกติ แต่สำหรับคุณแม่ที่ไปพบคุณหมอเพื่อติดตามอาการและตรวจสุขภาพครรภ์อย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถให้กำเนิดทารกที่เจริญเติบโตตามปกติและมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ สมบูรณ์เช่นทารกที่ไม่มีภาวะนี้ได้
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะ IUGR
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะ IUGR มีดังนี้
สาเหตุจากตัวทารกเอง (Fetal causes) ได้แก่
- การติดเชื้อในครรภ์ เช่น เชื้อไซโตเมกาโล ไวรัส (Cytomegalovirus) เชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella) เชื้อท็อกโซพลาสมา กอนดิ (Toxoplasma gondii) เป็นเชื้อที่ทำให้เกิด IUGR ได้รุนแรง
- ความผิดปกติของโครโมโซม
- ความพิการโดยกำเนิด เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด ยิ่งมีความพิการมากภาวะ IUGR ก็ยิ่งรุนแรง
สาเหตุจากมารดา (maternal causes) ได้แก่
- ภาวะขาดอาหาร การตั้งครรภ์ที่ติดกันมากเกินไป
- น้ำหนักมารดาขึ้นน้อย โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักไม่ขึ้นหลังอายุครรภ์ 28 สัปดาห์จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารก
- ภาวะโลหิตจางรุนแรง เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
- ภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ความดันสูงจากการตั้งครรภ์ โรคทางคอลลาเจน เบาหวานชนิดที่มีการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดแล้ว
- โรคไตบางชนิดที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หรือมีการสูญเสียโปรตีน
- ยาและสารอันตราย เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ โคเคน และยากันชักบางตัว เช่น เฟนิโทอิน (Phenytoin) ไตรเมทาไดโอน (Trimethadione)
- ครรภ์แฝด มักทำให้มวลรกต่อทารกแต่ละคนลดลง ทำให้สารอาหารที่ไปยังทารกแต่ละคนลดลง
- โรคความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรค APS (Antiphospholipid antibody syndrome) ทำให้เกิดการจับตัวกันของเกล็ดเลือด และมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดเล็ก ๆ ซึ่งรวมทั้งในรกด้วย
สาเหตุจากรก (placental causes) และสายสะดือ ทำให้การแลกเปลี่ยนสารอาหารที่รกลดลง ได้แก่
- รกเสื่อมสภาพ (Placental infarction) กินบริเวณกว้าง
- รกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption) เป็นหย่อม ๆ
- รกมีเนื้องอกและถุงน้ำ (Chorioangioma)
- รกเกาะต่ำ และ circumvallate
อาการของ IUGR
อาการของภาวะ IUGR หรือภาวะทารกโตช้าในครรภ์ คือ ทารกในครรภ์มีขนาดตัวเล็กกว่าอายุครรภ์ในขณะนั้น ซึ่งลักษณะความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของทารกจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ทารกอาจดูตัวเล็กและอ่อนแอกว่าที่ควร หรืออาจดูผอมบาง ขาดสารอาหาร ผิวหนังอาจดูซีดเซียวและย้วย บางกรณี สายสะดือที่ทำหน้าที่ส่งต่อสารอาหารและออกซิเจนจากคุณแม่ไปยังทารกอาจดูบางและดูคล้ำผิดปกติ แทนที่จะเป็นเส้นหนาและแข็งแรง
ภาวะแทรกซ้อนของ IUGR
ภาวะ IUGR หรือทารกโตช้าในครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของทารก ดังนี้
- ภาวะคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักทารกแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์
- อาจทำให้ทารกมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)
- อาจทำให้ทารกควบคุมระดับอุณหภูมิร่างกายได้ไม่ดี
- อาจทำให้ระดับออกซิเจนของทารกลดลง
- อาจทำให้ทารกติดเชื้อได้ง่าย
- อาจทำให้ทารกมีจำนวนเม็ดเลือดแดงสูงผิดปกติ
- อาจทำให้ทารกได้คะแนนประเมินสภาพทารกแรกเกิด (Apgar scores) ต่ำกว่าที่ควร
- ในกรณีที่รุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะตายคลอด (Stillbirth) และอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตรของเด็กในระยะยาวได้
การรักษาภาวะ IUGR
ภาวะทารกโตช้าในครรภ์จะทำให้ทารกเสี่ยงรเสียชีวิตในครรภ์ จึงจำเป็นต้องเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง คุณหมออาจแนะนำให้คุณแม่มาที่โรงพยาบาลเพื่ออัลตราซาวด์บ่อยขึ้นตลอดอายุครรภ์เพื่อตรวจสอบการเจริญเติบโตของทารก การเคลื่อนไหวของทารกภายในครรภ์ ลักษณะการไหลเวียนของเลือดและของเหลวที่อยู่รอบตัวทารก เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจของทารกเพื่อดูความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ ซึ่งขั้นตอนการวินิจฉัยต่าง ๆ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าทารกจะต้องทำคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
วิธีป้องกัน IUGR
ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ สามารถเกิดได้ทั้งกับคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรงและคุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการ ทั้งนี้ การดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพของทารกในครรภ์ให้เจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรง และอาจช่วยป้องกันภาวะทารกโตช้าในครรภ์ได้
- คุณแม่ควรไปพบคุณหมอเพื่อฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ และไปพบคุณหมอตามนัดหมายทุกครั้งเพื่อตรวจสอบสุขภาพของตัวเองและทารกในครรภ์อย่างต่อเนื่อง หากพบความผิดปกติก็สามารถที่จะรักษาหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้อย่างทันท่วงที
- สังเกตการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ เช่น การดิ้น การเตะ การต่อย การหมุนตัว อยู่เสมอ หากทารกดิ้นน้อยลงหรือหยุดขยับตัว อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติของสุขภาพทารก และควรไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด
- ปรึกษาหมอทุกครั้งก่อนใช้ยารักษาโรค อาหารเสริม หรือสมุนไพร ขณะตั้งครรภ์ เพราะผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์และทำให้สุขภาพทารกในครรภ์มีปัญหาได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการและมีสารอาหารครบถ้วน เพื่อบำรุงสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์
- คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนตอนกลางคืนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง/วัน เพื่อช่วยให้ทารกเจริญเติบโตได้ดี มีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรง
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้ดีต่อสุขภาพมากที่สุด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดคาเฟอีน และเลิกสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
- รักษาโรคประจำตัวต่างๆให้อยู่ในเกณฑ์ดีก่อนการตั้งครรภ์ และปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์