backup og meta

มีประจำเดือนแต่ท้อง อาการของเลือดล้างหน้าเด็ก

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/08/2023

    มีประจำเดือนแต่ท้อง อาการของเลือดล้างหน้าเด็ก

    หลายคนอาจสงสัยว่า มีประจำเดือนแต่ท้อง เป็นไปได้หรือไม่ ความจริงแล้ว หากตรวจพบว่าตั้งครรภ์ทั้งที่มีเลือดออกจากช่องคลอด เลือดนั้นไม่ใช่ประจำเดือน แต่อาจเป็นเลือดที่ออกจากช่องคลอดหลังไข่ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว เมื่อตัวอ่อนตัวเข้ากับผนังมดลูก จะทำให้มีไหลออกจากช่องคลอดในปริมาณเล็กน้อย หรือที่เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก อาการนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ และมักไม่มีอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์

    อย่างไรก็ตาม หากกังวลว่าเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงตั้งครรภ์เนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ การติดเชื้อ ภาวะแท้ง ตั้งครรภ์นอกมดลูก ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม

    เลือดล้างหน้าเด็ก คืออะไร

    เลือดล้างหน้าเด็ก คือ เลือดที่ไหลออกจากช่องคลอดหลังตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูก มีลักษณะเป็นจุดเลือดเล็ก ๆ อาจมีสีชมพูอ่อนหรือสีน้ำตาลเข้ม มักหยดกะปริบกะปรอย อาจเริ่มเกิดขึ้นประมาณ 6-12 วันหลังตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูก และอาจเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ และจะหยุดไปเองโดยไม่ต้องรักษาหรือรับประทานยา

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Epidemiology เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 ศึกษาเรื่องภาวะเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ โดยการรวบรวมข้อมูลจากผู้เข้าร่วมงานวิจัยทั้งหมด 4,539 คน พบว่า 1 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยมีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 1 และพบมากในช่วงสัปดาห์ที่ 6-7 ของการตั้งครรภ์

    เลือดล้างหน้าเด็กอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือนที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ความแตกต่างระหว่างประจำเดือนและเลือดล้างหน้าเด็ก คือ เลือดล้างหน้าเด็กจะมีปริมาณน้อยจนมองไม่เห็นเมื่อใช้แผ่นอนามัยหรือผ้าอนามัยซึมซับ ในขณะที่เลือดประจำเดือนจะมีปริมาณเยอะกว่า และซึมซับบนแผ่นอนามัยได้เยอะ จนสามารถเห็นได้ชัดเจน

    สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้มีเลือดออกเหมือน มีประจําเดือนแต่ท้อง

    นอกจากเลือดล้างหน้าเด็กแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เลือดออกจากช่องคลอดในช่วงตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้

  • มีเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงบางคนอาจมีเลือดออกเล็กน้อยหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากในช่วงนี้ ปากมดลูกจะอ่อนนุ่มกว่าปกติ จึงอาจเลือดออกได้ง่ายเมื่อเกิดแรงกระแทก
  • ติดเชื้อ การติดเชื้อจากโรคทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infection หรือ STI) เช่น โรคหนองใน โรคหนองในเทียม อาจทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดได้
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) อาจเกิดจากการที่ตัวอ่อนไข่ฝังตัวและเจริญเติบโตนอกมดลูก เช่น ในท่อนำไข่ อาการเลือดออกจากช่องคลอดจะพบได้ประมาณร้อยละ 50-80 ของผู้ป่วย เลือดที่ออกมักมีจำนวนน้อย ลักษณะเป็นแบบเลือดเก่า ๆ และออกกะปริบกะปรอย
  • ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened Abortion) ภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลาง ลักษณะอาจเป็นเลือดสดหรือมูกเลือด โดยที่ปากมดลูกยังไม่เปิด และมักจะไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย แต่บางรายอาจมีปวดหน่วงท้องน้อยคล้ายปวดประจำเดือนร่วมด้วยได้
  • การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy) เกิดจากเซลล์ของรกเจริญแบ่งตัวผิดปกติ คือ ในภาวะปกติ หลังจากไข่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิแล้ว จะมีเซลล์ชั้นนอกเจริญเติบโตเป็นรก แต่ในกรณีที่เป็นการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก เซลล์จะเปลี่ยนกลายเป็นถุงน้ำเล็กๆ จำนวนมากอยู่ในโพรงมดลูก ผู้ป่วยมักจะมีอาการแพ้ท้องรุนแรงกว่าปกติ มีการทำงานของต่อมไทรอยด์สูงกว่าปกติ ร่วมกับมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดมักมีสีแดงคล้ำและอาจมีชิ้นเนื้อคล้ายเม็ดสาคูออกมาด้วยตอนอายุครรภ์ประมาณ 9-16 สัปดาห์
  • การแท้งบุตร (Miscarriage or Abortion) คือ การสูญเสียทารกในครรภ์ก่อนสัปดาห์ที่ 20
  • เลือดออกจากช่องคลอดแบบไหน ควรไปพบคุณหมอ

    หากมีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณมากผิดปกติ ต่างจากเลือดล้างหน้าเด็กที่ออกเป็นหยดและมีปริมาณน้อย หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดนานกว่า 24 ชั่วโมงในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ อาจเป็นสัญญาณเตือนภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น การแท้งลูก ภาวะการตั้งครรภ์นอกมดลูก ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก จึงควรเข้าพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด เพื่อตรวจดูอาการ และหากมีปัญหาเกิดขึ้น จะได้รักษาอย่างทันท่วงที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา