backup og meta

ท้อง5เดือน การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่และทารกในครรภ์

ท้อง5เดือน การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่และทารกในครรภ์

คุณแม่ที่กำลังตั้ง ท้อง5เดือน หรืออายุครรภ์ 18-21 สัปดาห์ เป็นการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างเห็นได้ชัดโดยเริ่มจากท้องคุณแม่ที่เริ่มขยายใหญ่ อาการแพ้ท้องบรรเทาลงกว่าช่วงของการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก อีกทั้งทารกในครรภ์อาจเริ่มมีการเคลื่อนไหวในท้องที่คุณแม่สามารถรับรู้ได้

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ ท้อง5เดือน

คุณแม่ที่ตั้งท้อง5เดือน หรืออยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2  อาจพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและอารมณ์ ดังนี้

  • ขนาดหน้าท้องและหน้าอก

เมื่อทารกในครรภ์เจริญเติบโต มดลูกของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้นเพื่อให้ทารกในครรภ์มีพื้นที่เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่รู้สึกอึดอัด นอกจากนี้หน้าอกของคุณแม่จะขยายขนาดขึ้น เนื่องจากเป็นการกักเก็บน้ำนม เพื่อเตรียมให้ทารกกินหลังคลอดได้อย่างเพียงพอ ซึ่งบางคนอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย คุณแม่จึงควรเลือกสวมใส่เสื้อชั้นในที่ให้ความสบายไม่กดทับ ขนาดพอดีและไม่มีโครง เช่น สปอร์ตบรา

  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง 

คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อยน้อยลงกว่าช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก แต่อาจมีความเครียด หรือความกังวลมากขึ้นเนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงคลอดบุตร เพื่อเพิ่มความผ่อนคลายและลดความวิตกกังวล ควรศึกษาถึงการเลี้ยงทารกหลังคลอด เพื่อเตรียมตัวเลี้ยงทารกได้อย่างปลอดภัย

  • สีของผิวหนัง 

การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้กระตุ้นเมลานินที่เป็นเซลล์สร้างเม็ดสีเพิ่มขึ้น โดยส่งผลให้เกิดฝ้าบนใบหน้า เส้นสีดำบนหน้าท้อง รอยแตกลายบริเวณขา หน้าอก หน้าท้อง ก้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มักจะเกิดขึ้นกับสตรีตั้งครรภ์และอาจจางลงหลังคลอด อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดด หรือทาครีมกันแดดป้องกัน เพราะแสงแดดอาจส่งผลให้ปัญหาแย่ลงได้

  • วิงเวียนศีรษะ 

คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเลือดที่ไหลเวียน ที่อาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะได้ เพื่อความปลอดภัยคุณแม่ไม่ควรยืนเป็นเวลานาน ดื่มน้ำให้มาก ๆ และเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ 

  • ปวดขา

เนื่องจากท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นจากการเจริญเติบโตของทารกอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ส่งผลให้ขาที่รองรับน้ำหนักเป็นเวลานานอาจมีอาการปวดขา หรือเป็นตะคริวได้โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการนี้ ควรยืดกล้ามเนื้อก่อนนอน เลือกรองเท้าที่สวมใส่สบาย หรือนวดประคบด้วยน้ำแข็ง

  • ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

ร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์อาจผลิตเลือดมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการไหลเวียนไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้เยื่อในจมูกบวม คัดจมูก หายใจไม่สะดวก และเสี่ยงเลือดกำเดาไหลได้ง่าย คุณแม่สามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อขจัดน้ำมูก เปิดเครื่องทำความชื้น ดื่มน้ำให้มาก ๆ 

  • สุขภาพช่องปาก

ระหว่างการตั้งครรภ์เหงือกของคุณแม่อาจอ่อนแอลง ทำให้เลือดออกง่ายระหว่างขัดฟันหรือแปรงฟัน ในช่วงนี้คุณแม่จึงควรเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม เพื่อลดการระคายเคือง อีกทั้ง การอาเจียนจากอาการแพ้ท้องอาจทำลายสารเคลือบฟันซึ่งเสี่ยงต่อฟันผุ ทำให้คุณแม่จำเป็นรักษาสุขอนามัยภายในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ

  • การหดตัวของมดลูก 

การหดตัวของมดลูกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงบ่ายหรือเย็นของวัน ที่อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกเกร็งหน้าท้องและเจ็บปวดเล็กน้อย และเป็นไปได้ว่าคือสัญญาณเตือนการคลอดก่อนกำหนด หากคุณแม่มีความกังวลสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอได้ทันที

  • ตกขาว

เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีตกขาวออกมาจากช่องคลอด แต่หากตกขาวนี้มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ สีตกขาวเปลี่ยนแปลง หรือเกิดอาการคันบริเวณช่องคลอด ควรเข้ารับการตรวจจากคุณหมออย่างทันท่วงที เพราะอาจเป็นสัญญาณการติดเชื้อในช่องคลอด

  • ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ

หากสังเกตว่าปัสสาวะสีขุ่น แสบขัด มีกลิ่นแรง มีไข้ และมีอาการปวดบริเวณบั้นเอว ควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณการติดเชื้อปัสสาวะรุนแรงและส่งผลให้เกิดภาวะกรวยไตอักเสบตามมาได้

การเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์อายุ 5 เดือน

ทารกในครรภ์ที่มีอายุ 5 เดือนหรือ 18-21 สัปดาห์ มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการร่างกายเป็นประจำทุกวัน ซึ่งในแต่ละสัปดาห์ของทารกที่อยู่ในครรภ์อาจมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • ทารกในครรภ์อายุ18 สัปดาห์ หูของทารกอาจถูกสร้างเดือยสมบูรณ์ ทำให้ทารกอาจเริ่มได้ยินเสียง และดวงตาอาจไวต่อแสงเมื่อมีสีแสงไฟส่องเข้าไปถึงทารก ที่สำคัญกระบวนการย่อยอาหารอาจเริ่มทำงานต่อสารอาหารที่ส่งผ่านสายสะดือของคุณแม่ นอกจากนี้ลำตัวของทารกอาจมีความยาว 140 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 200 กรัม
  • ทารกในครรภ์อายุ 19 สัปดาห์ ทารกสร้างไขหุ้มทารกปกคลุมร่างกาย เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ปกป้องผิวที่บอบบาง อาจมีลำตัวยาวถึง 153 มิลลิเมตร และอาจหนักประมาณ 240 กรัม 
  • ทารกในครรภ์อายุ 20 สัปดาห์ ทารกอาจมีการเคลื่อนไหวถี่ขึ้น เนื่องจากทารกมักหลับ ๆ ตื่น ๆ อยู่เป็นประจำ บางครั้งก็อาจสามารถตื่นจากการได้ยินเสียงดังภายนอก หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของคุณแม่เอง ในช่วงสัปดาห์นี้ทารกจะมีลำตัวยาว 160 มิลลิตร และมีน้ำหนัก 320 กรัม ซึ่งเห็นได้ว่าในแต่ละสัปดาห์ทารกมีการเปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตที่ไวขึ้น
  • ทารกในครรภ์อายุ 21 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มมีขนอ่อนขึ้นบนผิวหนัง เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย รวมถึงมีขนคิ้ว เส้นผม อีกทั้งยังสามารถเริ่มดูดหัวแม่มือตัวเองและได้ยินเสียงจากภายนอกได้ชัดขึ้น ซึ่งคุณแม่ควรพูดคุยกับทารกหรือเปิดเพลงเบาสบายให้ทารกฟัง เพื่อกระตุ้นการตอบสนองได้

วิธีดูแลสุขภาพสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

วิธีดูแลสุขภาพคุณแม่ที่ตั้งท้อง5เดือน มีดังนี้

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ 

คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเพื่อให้สารอาหารช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อแดง เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ 

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง สำหรับคุณแม่ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์หากเป็นไปได้ควรหยุดกินในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ เพราะอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ ซึ่งเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร

  • ออกกำลังกาย 

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกาย 150-300 นาที/สัปดาห์ ด้วยการเดิน ว่ายน้ำ เล่นโยคะ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายมีแรงกระแทกสูง เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงอาจกระทบต่อทารกในครรภ์

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่อาจมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ความเครียด วิตกกังวล เพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หรือหากิจกรรมอื่น ๆ ทำ เช่น ฝึกการหายใจเข้าออกลึก ๆ 

  • ฉีดวัคซีน

ก่อนวางแผนตั้งครรภ์ คุณแม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันในกรณีที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคอีสุกอีใส และรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โรคไอกรนระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ

  • สูบบุหรี่

บุหรี่มีสารนิโคติน (Nicotine) และคาร์บอนมอนอกไซด์ที่อาจกระทบต่อสุขภาพของทารก หากคุณแม่ได้รับผ่านการสูดดมควันหรือสูบบุหรี่โดยตรง เนื่องจาก สารเคมีเหล่านี้อาจส่งผ่านกระแสเลือดไปยังทารกในครรภ์ ทำให้ลดปริมาณออกซิเจนลง ส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโต มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ น้ำหนักแรกเกิดต่ำ พิการตั้งแต่กำเนิด นำไปสู่การแท้งบุตรได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Second trimester. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/second-trimester . Accessed October 31, 2021

Week-by-week guide to pregnancy. https://www.nhs.uk/start4life/pregnancy/week-by-week/2nd-trimester/week-18/#anchor-tabs . Accessed October 31, 2021

Fetal development: The 2nd trimester. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/fetal-development/art-20046151 . Accessed October 31, 2021

2nd trimester pregnancy: What to expect. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/pregnancy/art-20047732 . Accessed October 31, 2021

Smoking During Pregnancy https://www.webmd.com/baby/smoking-during-pregnancy#1 . Accessed October 31, 2021

Having a healthy pregnancy https://www.pregnancybirthbaby.org.au/having-a-healthy-pregnancy . Accessed October 31, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/05/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

สะดือคนท้อง ระหว่างตั้งครรภ์ เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ กับสัญญาณเตือนที่คุณแม่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 09/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา