backup og meta

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 15 ของการตั้งครรภ์

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 15 ของการตั้งครรภ์

อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ จัดอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 15 จะเริ่มชัดเจนขึ้นในหลายด้าน เช่น ทารกเริ่มเรียนรู้เรื่องการหายใจ การกลืน และการดูด และในช่วงนี้ ก็สามารถอัลตราซาวด์เพื่อดูเพศของทารกได้แล้ว ทั้งนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ควรไปตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอนัดทุกครั้ง เพื่อให้สามารถดูแลครรภ์ได้เหมาะสมตามอายุครรภ์ และหากพบสัญญาณของปัญหาสุขภาพ คุณหมอจะได้วินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 15

ลูกจะเติบโตอย่างไร

สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 15 ลูกน้อยในครรภ์จะมีขนาดตัวเท่าผลแอปเปิ้ล โดยจะหนักประมาณ 75 กรัม และสูงประมาณ 10 เซนติเมตร โดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า

ทารกในครรภ์เติบโตและเคลื่อนไหวแขนขาอย่างต่อเนื่อง ในไม่ช้านี้คุณแม่จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อย ทารกในครรภ์มีการเรียนรู้เรื่องการหายใจ การกลืน และการดูดทุกวันขณะที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งการพัฒนาทักษะเหล่านี้ จะช่วยให้ลูกมีทักษะในการเอาชีวิตรอดหลังคลอดได้ ในช่วงสัปดาห์นี้ อาจทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจดูเพศของทารกในครรภ์ได้แล้ว

ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต

ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

คุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าเหงือกไวต่อความรู้สึกมากขึ้น ท้้งยังอาจมีอาการเหงือกบวม แดง และเลือดออกหลังแปรงฟันหรือขัดฟันบ่อย ๆ ใช้ไหม

อาการเช่นนี้เป็นอาการของภาวะของเหงือกอักเสบ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นผลมาจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ จึงควรดูแลเหงือกและฟันให้มากกว่าที่เคยทำในช่วงก่อนตั้งครรภ์ โดยแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือให้ดีควรแปรงฟันหลังทานอาหาร 3 มื้อไปเลย

การแปรงฟันถือเป็นวิธีดูแลสุขภาพฟันขั้นพื้นฐานที่สำคัญและไม่ควรละเลย เพราะอาจนำไปสู่การติดเชื้อในบริเวณกระดูกและเนื้อเยื่อที่พยุงฟันเอาไว้ ซึ่งนั่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคลอดก่อนกำหนด หรือมีอาการครรภ์เป็นพิษได้ 

ควรระมัดระวังอะไรบ้าง

คุณแม่อาจเป็นกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่มักเกิดขึ้นอย่างปุบปับ และคาดเดาอะไรไม่ได้ โดยความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจพบเจอ ได้แก่

  • ร้องไห้แบบไร้เหตุผล
  • อารมณ์แจ่มใสอยู่ดี ๆ ก็เปลี่ยนเป็นหวาดวิตก เวลานึกถึงการตั้งครรภ์
  • รู้สึกหงุดหงิดเวลาที่ใส่เสื้อผ้าตัวเก่าไม่ได้แล้ว
  • รู้สึกผิดหวังที่ไม่มีสมาธิในการทำอะไร
  • รู้สึกโกรธที่กลายเป็นคนหลง ๆ ลืม ๆ และชอบทำอะไรตกหล่นอยู่เสมอ

การพบคุณหมอ

ควรปรึกษาคุณหมออย่างไรบ้าง

ถ้าคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ในช่วงก่อนตั้งครรภ์ อาการแพ้นั้นอาจจะแย่ลงได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคภูมิแพ้มีอาการของโรคแย่ลง หรือรบกวนการใช้ชีวิตตามปกติ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นภูมิแพ้ไม่ควรใช้ยารักษาอาการเอง เนื่องจากยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกน้อยในครรภ์ได้ จึงควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อหาวิธีรักษาอาการแพ้ที่ปลอดภัย

การทดสอบที่ควรรู้

ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ คุณหมออาจนัดพบทุก ๆ เดือน และทุกครั้งที่ไปหาคุณหมอ คุณหมอก็จะทำการตรวจสอบร่างกายตามปกติ ซึ่งรวมถึงการวัดความความดันโลหิต และการตรวจปัสสาวะด้วย

การวัดความดันโลหิตถือเป็นการตรวจร่างกายที่สำคัญมากสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบว่ามีสัญญาณของอาการครรภ์เป็นพิษหรือไม่

เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ครรภ์เป็นพิษมักมีอาการความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะนี้ถือเป็นอันตรายต่อทั้งตัวเองและทารกในครรภ์เป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ สัญญานอื่น ๆ ของอาการครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ มีการเปลี่ยนแปลงของระดับโปรตีนในปัสสาวะ ไต และตับ รวมทั้งมีอาการปวดศีรษะอย่างต่อเนื่อง และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการมองเห็น

สุขภาพและความปลอดภัย

ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์

คุณแม่อาจสงสัยว่าการพบทันตแพทย์ในช่วงนี้จะปลอดภัยหรือไม่ การพบทันตแพทย์ในช่วงสัปดาห์ที่ 15 ของการตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องที่ปลอดภัยมาก และคุณหมอก็แนะนำให้คุณแม่ไปพบทันตแพทย์ด้วย

เพื่อที่ทันตแพทย์จะได้ช่วยรักษาความสะอาดของฟัน หากจำเป็นต้องอุดฟันหรือถอนฟันในช่วงตั้งครรภ์ ทันตแพทย์จะต้องใช้มาตรการป้องกันเป็นพิเศษ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของคุณแม่อาจอ่อนแอลง จึงเสี่ยงติดเชื้อระหว่างทำฟันได้ง่ายขึ้น

โดยระหว่างการเอ็กซเรย์ฟันนั้น ทันตแพทย์จะต้องให้คุณแม่สวมเสื้อบุตะกั่วคลุมท้องและลำคอเอาไว้ เพื่อลดการโดนรังสีให้เหลือน้อยที่สุด

อย่าลืมบอกทันตแพทย์ถ้ามีอาการแพ้ยา การรู้ว่ายาอะไรที่ไม่ควรรับประทาน จะช่วยให้ทันตแพทย์เลือกยาที่เหมาะได้ และอาจต้องกินยาปฎิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ถ้าต้องใช้ยาแก้ปวด ทันตแพทย์ก็จะเลือกยาเหมาะสมและปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ที่สุด

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Poppy seed to pumpkin: How big is your baby?. http://www.babycenter.com/slideshow-baby-size. Accessed March 30, 2015

Pregnancy calendar week 15. http://kidshealth.org/parent/pregnancy_center/pregnancy_calendar/week15.html. Accessed March 30, 2015

Your pregnancy: 15 weeks. http://www.babycenter.com/6_your-pregnancy-15-weeks_1101.bc. Accessed March 30, 2015

Week-by-week guide to pregnancy. https://www.nhs.uk/start4life/pregnancy/week-by-week/2nd-trimester/week-15/#:~:text=Your%20baby%20has%20been%20busy,baby%20will%20start%20hearing%20too. Accessed August 22, 2022

Pregnancy Week 15. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/week-by-week/15-weeks-pregnant/. Accessed August 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/11/2022

เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฝากครรภ์ เรื่องสำคัญสำหรับคุณแม่และลูกในท้องที่ไม่ควรมองข้าม

ทารกในครรภ์ พัฒนาการ และการดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 29/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา