backup og meta

โยคีมือใหม่จะ เริ่มต้นฝึกโยคะ อย่างไรดี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 11/08/2020

    โยคีมือใหม่จะ เริ่มต้นฝึกโยคะ อย่างไรดี

    โยคะ เป็นการออกกำลังกาย ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่ต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ และการฝึกสมาธิเป็นอย่างมาก เพราะโยคะเป็นการออกกำลังกายที่ผสมผสานระหว่างการกำหนดลมหายใจและการเคลื่อนไหวร่างกายเข้าด้วยกัน ซึ่งช่วยให้ผู้ที่เล่นโยคะได้ทั้งสมาธิและความแข็งแรง ยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยชี้ว่าโยคะมีส่วนช่วยในการลดความเครียดอีกด้วย วันนี้ Hello คุณหมอ จึงมีคำแนะนำดี ๆ สำหรับผู้ที่ต้องการ เริ่มต้นฝึกโยคะ ว่าควรเริ่มต้นอย่างไรดี อย่าได้กังวลไป บทความนี้จะพาทุกคนไปเรียนรู้เกี่ยวกับการฝึกโยคะสำหรับมือใหม่ เพื่อให้คุณมีความสุข สนุก และเกิดแรงบันดาลใจในการฝึกโยคะต่อไปอย่างต่อเนื่อง

    เริ่มต้นฝึกโยคะ ให้เหมาะกับตัวคุณไม่ใช่ตามกระแส

    โยคะนั้นไม่ใช่เพียงแค่การออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นวิธีที่คุณจะได้เชื่อมโยงกับร่างกาย จิตใจและความคิด จนกระทั่งคุณสามารถพัฒนาร่างกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงได้

    ท่าทางการเคลื่อนไหวหลักในโยคะและสิ่งสำคัญที่สุดคือการเชื่อมต่อกับลมหายใจ การจดจ่ออยู่กับลมหายใจ และตั้งใจฟังลมหายใจของตนเองอย่างระมัดระวัง สิ่งที่เราทุกคนคาดหวังมากที่สุดจากการฝึกโยคะก็คือ การพัฒนาอารมณ์ สุขภาพร่างกายที่ดีและการยอมรับตนเอง

    ปัจจุบัน มีชั้นเรียนโยคะมากมายที่เปิดขึ้นมา คุณอาจรู้สึกหงุดหงิดที่เลือกชั้นเรียนโยคะที่ไม่เหมาะกับอุปนิสัยของคุณและสภาพร่างกายของคุณ และอาจลงเอยด้วยการเลิกเรียนไปเลย ในการเริ่มต้นฝึกโยคะ คุณควรลองสละเวลาสักเล็กน้อยเพื่อศึกษาภาพรวมของโยคะแต่ละประเภทว่ามีลักษณะอย่างไร และคุณรู้สึกว่าชอบการฝึกประเภทไหนมากที่สุด

    สำหรับผู้เริ่มต้น การเลือกฝึกหัตถาโยคะหรือวินยาสะโยคะนั้นเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการจังหวะการฝึกแบบช้าหรือเร็ว ซึ่งโยคะ 2 ประเภทนี้ คือการฝึกขั้นพื้นฐาน ที่เป็นการเตรียมตัวคุณให้พร้อมในเบื้องต้น หากต้องการลองฝึกโยคะแบบอื่น ๆ ในระดับที่ยากกว่านี้ในภายหลัง

    นอกจากนี้ ยังควรเลือกชั้นเรียนโยคะที่สะดวกต่อการจัดสรรเวลาของคุณ และควรเริ่มต้นชั้นเรียนโยคะในระดับขั้นพื้นฐานก่อน หรือการฝึกในระดับง่าย ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มระดับขึ้นไปหากคุณต้องการ และที่สำคัญ ในการเริ่มต้น ควรเลือกครูผู้สอนทำให้คุณรู้สึกสนุกไปกับการฝึกโยคะ เพื่อเป็นการสร้างความประทับใจและสร้างแรงจูงใจในการฝึกครั้งต่อ ๆ ไป

    อย่าลืมฝึกท่าศพทุกครั้ง

    ศวาสนะหรือท่าศพ คือท่าพักที่มักเป็นท่าสุดท้ายในการฝึกโยคะคนส่วนใหญ่มักจะหลงลืมท่าศวาสนะหรือท่าศพ เพราะอาจคิดว่าเป็นเพียงท่านอนพักเล็กน้อยหลังจบการฝึกโยคะ แต่จริง ๆ แล้วท่าโยคะท่านี้นั้นเป็นท่าที่สำคัญมาก

    ท่าศพนี้จะช่วยให้ร่างกายและระบบประสาทของคุณจะได้พักและผ่อนคลายจากการฝึกโยคะ รวมทั้งยังช่วยฟื้นฟูพลัง ความสดชื่น และช่วยให้สมองจดจำสิ่งที่ได้ฝึกฝนมาตลอด 60 นาทีในการฝึกโยคะ และการใช้เวลาทั้งหมดไปกับการเคลื่อนไหวผ่านท่าทางที่แตกต่างของฝึกโยคะแต่ละท่า

    หากคุณข้ามท่าศวาสนะ หรือท่าศพไป เท่ากับว่าคุณได้ตัดเอาส่วนที่สำคัญที่สุดในการฝึกโยคะออกไปด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้ว ท่าดังกล่าวนั้น กินเวลาเพียง 1-2 นาที เท่านั้นเอง ในระหว่างนั้น คุณจะมีโอกาสอยู่กับลมหายใจกับตัวเอง การหายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ ทำให้เกิดสมาธิและความรู้สึกผ่อนคลาย แล้วคุณจะรู้สึกแปลกใจว่าเพียงแค่ได้หลับตา นอนนิ่ง และการอยู่กับจิตของตัวเองเพียงระยะสั้น ๆ สามารถทำให้คุณปลอดโปร่ง โล่ง ผ่อนคลาย และมีความสุข สงบ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

    เพราะฉะนั้น อย่าดูถูกว่าท่าศพ แค่นอนเฉย ๆ ไม่ต้องทำก็ได้ ลองทำดูแล้วจะรู้ว่า การใช้เวลาเล็กน้อยอย่างยิ่งใหญ่เพื่อฝึกฝนตนเองในระหว่างที่ความคิดนั้นหยุดนิ่งมีความสำคัญต่อคุณมากแค่ไหน

    หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้ร่วมฝึกคนอื่น

    เราทุกคนล้วนมีเหตุผลส่วนตัวในการตัดสินใจเริ่มฝึกโยคะ เมื่อคุณเริ่มฝึก คุณจะมีโอกาสใช้เวลาจดจ่ออยู่กับร่างกายส่วนต่าง ๆ ของตัวเอง และรู้จักตัวเองดีที่สุด การมองคนอื่นเพื่อดูว่าตนเองทำท่าโยคะถูกต้องหรือไม่ เป็นการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น และการประเมินความตนเองในการทำท่าโยคะแต่ละท่า อาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเองสักเท่าไหร่

    สิ่งที่คุณควรทำก็คือการฟังครูผู้สอน ดูความเชื่อมโยง อยู่กับลมหายใจและจดจ่ออยู่กับความรู้สึกของตนเอง เพราะการฝึกโยคะนั้นเปรียบเสมือนการเดินทาง เพื่อสำรวจตนเองและปลุกเร้าพลังภายในของตัวคุณเอง

    นอกจากนี้ ยังเป็นการเยียวยาจิตวิญญาณที่จะช่วยให้คุณมีชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้น ดังนั้นอย่าไปกล้วที่เริ่มต้นการเดินทางครั้งนี้และพึงระลึกว่าทุกคนสามารถฝึกโยคะได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 11/08/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา