backup og meta

คาวาซากิ ปัญหาสุขภาพในเด็กต่ำกว่า 5 ปีที่ควรระวัง

คาวาซากิ ปัญหาสุขภาพในเด็กต่ำกว่า 5 ปีที่ควรระวัง

โรค คาวาซากิ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดในร่างกายซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่งผลให้ร่างกายมีไข้สูงประมาณ 5 วันหรือมากกว่านั้น ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เป็นผื่น ตาแดง มีการอักเสบที่ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนัง ไปจนถึงเยื่อบุปาก จมูก ตา และคอ มีอาการปากแห้งหรือแตก ลิ้นสีแดงคล้ายผลสตอว์เบอร์รี่ ภายในช่องปากและคอแดง

หากสังเกตพบว่าเด็กมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาไปสถานพยาบาลโดยเร็ว เพราะหากได้รับรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่อาการจะบรรเทาลงและหายภายใน 10 วันหลังเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี

[embed-health-tool-child-growth-chart]

คาวาซากิ คืออะไร

โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease หรือ Mucocutaneous Lymph Node Syndrome) เป็นโรคที่ตั้งชื่อตามนายแพทย์โทมิซากุ คาวาซากิ (Tomisaku Kawasaki) ซึ่งเป็นผู้ที่ตรวจพบโรคนี้ในเด็กเล็กเป็นครั้งแรกในพ.ศ. 2504 โดยสาเหตุของโรคยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดทั่วร่างกายอักเสบ นอกจากนี้ คาวาซากิอาจนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดหัวใจอักเสบ ซึ่งหลอดเลือดหัวใจทำหน้าที่ลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนไปยังหัวใจ ดังนั้น เด็กที่เป็นโรคนี้ควรได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ หากรีบรักษาให้หาย เด็ก ๆ มักฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติโดยไม่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังตามมา

อาการของ คาวาซากิ

คาวาซากิจะทำให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีไข้ประมาณ 5 วัน ร่วมกับอาการต่อไปนี้

  • มีผื่นตามผิวหนัง หรืออาจมีผิวหนังลอกบริเวณระหว่างหน้าอกและขา และอวัยวะเพศหรือขาหนีบ
  • ตาแดง แต่ไม่พบขี้ตา
  • ภายในช่องปากมีอาการบวมแดง มีลิ้นแดงคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี่
  • มือและเท้าบวมแดง
  • ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม

บางครั้งอาการของโรคอาจไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งหมด ทั้งนี้ หากเด็กมีอาการไม่ถึง 4 ข้อ อาจเรียกว่า ภาวะที่เป็นโรคคาวาซากิแต่ไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ของคาวาซากิ หรือ Incomplete Kawasaki Disease ซึ่งจะมีวิธีการรักษาแบบเดียวกัน นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีอาการต่อไปนี้

  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • ร้องไห้งอแง
  • ปวดตามข้อ
  • อาเจียน
  • อาการช็อก

วิธีรักษา คาวาซากิ

คาวาซากิเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลและรับการดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด เพื่อลดไข้ และการอักเสบ รวมทั้งเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ วิธีรักษาที่ใช้ มักมีดังนี้

  • อิมมูโนโกลบูลิน (Intravenous Immunoglobulin หรือ IVIg) คุณหมออาจฉีดอิมมูโนโกลบูลินซึ่งเป็นแอนติบอดีทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยลดการอักเสบในหลอดเลือดและป้องกันการเกิดปัญหาหลอดเลือดหัวใจ
  • แอสไพริน (Aspirin) คุณหมออาจให้แอสไพรินเพื่อบรรเทาอาการปวด บวม ลดไข้ ลดการอักเสบ ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ นอกจากนี้ อาจต้องรับแอสไพรินจนกว่าอาการอักเสบจะดีขึ้นแล้ว
  • สเตียรอยด์ (Steroid) ในกรณีที่การรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลินไม่ได้ผล คุณหมออาจเปลี่ยนไปใช้สเตียรอยด์แทน เพื่อป้องกันหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง

ภาวะแทรกซ้อนของคาวาซากิ

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ทันท่วงที หรือภายใน 10 วัน คาวาซากิอาจทำให้หลอดเลือดหัวใจอักเสบและเกิดการโป่งพองได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นหลังคลอด (Acquired heart disease) โดยภาวะสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจที่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้

  • หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง (Coronary artery aneurysm)
  • กล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อบุ ลิ้น และเยื่อหุ้มชั้นนอกรอบหัวใจอักเสบ
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Heart arrhythmia) โดยจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ อาจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป
  • ปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Kawasaki disease. https://www.nhs.uk/conditions/kawasaki-disease/#:~:text=Kawasaki%20disease%20is%20a%20condition,swollen%20glands%20in%20the%20neck. Accessed May 15, 2023

Kawasaki disease. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/kawasaki-disease/symptoms-causes/syc-20354598. Accessed May 15, 2023

Kawasaki Disease. https://kidshealth.org/en/parents/kawasaki.html. Accessed May 15, 2023

Kawasaki Disease. https://www.webmd.com/children/what-is-kawasaki-disease. Accessed May 15, 2023

Kawasaki Disease. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/kawasaki-disease. Accessed May 15, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/07/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยา ขยาย หลอดลม เด็ก มีอะไรบ้าง และวิธีรับมืออาการหอบหืดในเด็ก

ลูกพูดช้า ปัญหาพัฒนาการเด็กที่ไม่ควรมองข้าม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา