backup og meta

ลูกชอบเอาหัวโขก เป็นเพราะอะไร และควรดูแลอย่างไร

ลูกชอบเอาหัวโขก เป็นเพราะอะไร และควรดูแลอย่างไร

บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่คุณพ่อคุณแม่จะเข้าใจในพฤติกรรมที่ลูกน้อยแสดงออกมา เนื่องจากพวกเขายังไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ว่าต้องการสิ่งใด บางครั้งเมื่อ ลูกน้อยชอบกระแทกศีรษะ อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่วิตกกังวล และกลัวรู้น้อยจะเกิดอาการบาดเจ็บ แต่ลองมาทำความเข้าใจพฤติกรรมที่เกิดขึ้น จากบทความนี้ของทาง Hello คุณหมอ กันดีกว่า

ลักษณะของการที่ ลูกชอบเอาหัวโขก

เป็นเรื่องที่อาจดูแปลก เมื่อลูกน้อยของคุณชอบกระแทกศีรษะ ซึ่งพฤติกรรมนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงทารกและเด็กเล็ก เด็กบางคนจะทำพฤติกรรมนี้ในช่วงเวลางีบหลับหรือก่อนนอน ซึ่งเกือบจะเป็นเทคนิคการผ่อนคลายของพวกเขา ถึงแม้จะเป็นนิสัยทั่วไป แต่มันก็ถือเป็นเรื่องที่ทำให้คุณรู้สึกตกใจได้ เนื่องจากคุณกังวลว่าการกระแทกศีรษะแบบนั้นอาจทำให้สมองเสียหาย เป็นสัญญาณของอาการที่ร้ายแรง ทั้งยังสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บอื่น ๆ

การกระแทกศีรษะอาจมีหลายรูปแบบ เด็กบางคนอาจจะกระแทกศีรษะเมื่อนอนคว่ำบนเตียง หลังจากนั้นจึงกระแทกศีรษะลงบนหมอนหรือผ้าปูรองนอนซ้ำ ๆ  ในขณะที่บางครั้งเด็กทารกหรือเด็กเล็กจะกระแทกศีรษะในระหว่างที่นั่งอยู่ ในกรณีแบบนี้พวกเขาอาจเอาหัวกระแทกกับกำแพง ราวเปล หรือหลังเก้าอี้ เด็กบางคนโยกตัวขณะกระแทกศีรษะ ส่วนเด็กคนอื่น ๆ อาจจะมีการส่งเสียงครางหรือส่งเสียงอื่น ๆ ร่วมด้วย

สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบ ก็คือ โดยปกติแล้วการที่ลูกน้อยชอบกระแทกศีรษะไม่ใช่เรื่องน่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดขึ้นในช่วงเวลางีบหลับหรือเวลานอนเท่านั้น นิสัยชอบกระแทกศีรษะนั้นจะเริ่มได้ในช่วงอายุ 6-9 เดือน โดยเด็กหลาย ๆ คนจะเลิกนิสัยนี้ได้ เมื่ออายุ 3-5 ขวบ ช่วงเวลาของการกระแทกศีรษะนั้นค่อนข้างสั้น แต่บางครั้งก็ใช้เวลานานถึง 15 นาที บางครั้งเวลาในการกระแทกศีรษะอาจจะดูยาวนานมากกว่าที่เกิดขึ้นจริงจนทำให้เหล่าคุณพ่อคุณแม่กังวลได้

ลูกชอบเอาหัวโขก เป็นเพราะอะไร

การทำความเข้าใจว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงชอบกระแทกศีรษะ จะสามารถลดความวิตกกังวลของคุณลงได้ ซึ่งสาเหตุที่ลูกน้อยของกระแทกศีรษะ มีดังต่อไปนี้

ความผิดปกติของการเคลื่อนไหวตามจังหวะการนอนหลับ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือนิสัยชอบกระแทกศีรษะมักเกิดขึ้นก่อนที่เด็กจะหลับ มันอาจดูเจ็บปวด แต่ในความเป็นจริงแล้ว การกระแทกศีรษะเป็นวิธีที่เด็กบางคนปลอบตัวเองหรือพยายามสงบสติอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งคล้ายกับเด็กบางคนที่ชอบโยกตัวหรือเขย่าขาระหว่างเข้านอน หรือเด็กบางคนชอบที่จะโยกตัวจนหลับ การกระแทกศีรษะเป็นรูปแบบหนึ่งของการปลอบประโลมตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักนำไปสู่การนอนหลับ และด้วยเหตุนี้เองจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็ก ๆ บางคนจะโยกหัวและหลับไปหลังจากตื่นขึ้นมากลางดึก

แน่นอนว่าเสียงกระแทกศีรษะอย่างกะทันหันของลูกน้อยในตอนกลางคืนอาจทำให้คุณตกใจ ทั้งยังกระตุ้นให้คุณรีบวิ่งเข้าไปดูและช่วยเหลือลูกของคุณ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ คุณควรปล่อยให้ลูกน้อยกระแทกศีรษะ ซึ่งจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีจนกว่าลูกของคุณจะกลับไปนอนหลับอีกครั้ง

พัฒนาการผิดปกติและความผิดปกติ

แม้ว่าบางครั้งการที่ ลูกน้อยชอบกระแทกศีรษะ เป็นสัญญาณของภาวะทางพัฒนาการ เช่น ออทิสติก (Autism) หรืออาจบ่งบอกว่าเกี่ยวข้องกับอาการทางจิตและระบบประสาท ในการแยกแยะความผิดปกติของการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะออกจากปัญหาด้านพัฒนาการ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรต้องสังเกตความถี่ที่ลูกน้อยเริ่มกระแทกศีรษะให้ดี ๆ ด้วย

ตามหลักทั่วไปแล้ว หากลูกน้อยของคุณมีสุขภาพแข็งแรงและไม่แสดงอาการผิดปกติทางพัฒนาการ โรคทางจิตเวชหรือระบบประสาท การกระแทกศีรษะมักจะเกิดขึ้นก่อนการนอนหลับเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติของการเคลื่อนไหวตามจังหวะโดยทั่วไป

ในทางกลับกัน หากลูกของคุณมีอาการอื่น ๆ ร่วมกับการกระแทกศีรษะ เช่น พัฒนาการด้านการพูดล่าช้า การระเบิดอารมณ์ หรือการมีปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมที่ไม่ดีเท่าที่ควร นั่นอาจหมายถึงลูกน้อยของคุณกำลังมีปัญหา ดังนั้น ควรปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อตรวจอาการและวินิชฉัยโรคอย่างละเอียดต่อไป

ควรทำอย่างไรเมื่อ ลูกชอบเอาหัวโขก

แม้ว่าการที่ ลูกน้อยชอบกระแทกศีรษะ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้บ่งบอกถึงปัญหาของพัฒนาการ แต่การที่พ่อแม่เห็นลูก ๆ ทำเช่นนี้ย่อมรู้สึกทนไม่ได้อย่างแน่นอน ดังนั้น แทนที่คุณจะหงุดหงิดในการกระทำของพวกเขา ลองทำตามวิธีเหล่านี้ดู

ไม่สนใจ

แน่นอนว่าการพูดนั้นมักจะทำได้ง่ายกว่าการกระทำ แต่ถ้าคุณตอบสนองอย่างลนลานด้วยการอุ้มลูกน้อยหรือปล่อยให้พวกเขานอนบนเตียงของคุณ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่แนะนำให้ทำกับเด็กที่อายุไม่เกิน 1 ปี พวกเขาอาจจะใช้การกระแทกศีรษะเพื่อดึงดูดความสนใจ แต่หากคุณเพิกเฉยกับพฤติกรรมของลูกน้อย เขาอาจจะทำพฤติรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่นาที เพราะฉะนั้นการไม่สนใจจึงเป็นสิ่งที่คุณควรทำ แต่ทั้งนี้ต้องไม่สนใจเฉพาะพฤติกรรมที่ไม่เสี่ยงเกิดอันตราย

จัดตำแหน่งเปลใหม่

แม้ว่าลูกน้อยของคุณจะไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ แต่การกระแทกศีรษะก็สามารถส่งเสียงดังและรบกวนคนอื่น ๆ ในบ้านได้ ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ การย้ายเตียงให้ห่างจากผนัง วิธีนี้จะทำให้หัวเตียงหรือเปลไม่ไปชนกับผนัง

ป้องกันการบาดเจ็บ

หากคุณกังวลว่าลูกน้อยของคุณจะทำให้ตัวเองบาดเจ็บ ให้วางหมอนอิงเอาไว้ที่หัวเตียงเด็ก นอกจากนั้นคุณยังสามารถติดตั้งราวกั้นบนเตียงสำหรับเด็กวัยหัดเดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกตกเตียงในขณะที่กระแทกศีรษะหรือโยกหัว ซึ่งควรเตรียมการสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ หากมีความเสี่ยงว่าลูกของคุณอาจจะบาดเจ็บได้

สำหรับหมอนเสริมนั้น คุณควรจะวางเอาไว้บนเตียงของเด็กโตเท่านั้น ทาง American Academy of Pediatrics ระบุว่า ในขณะที่ลูกน้อยหรือเด็กวัยหัดเดินยังคงนอนอยู่ในเปล ควรวางหมอนอิงเอาไว้ที่หัวเตียง ไม่ควรใช้หมอนผ้าห่มและผ้าปูที่นอนนุ่ม ๆ มาใช้กระกระแทก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไหลตายในทารก (SIDS)

เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกไปพบคุณหมอ

หากคุณสังเกตเห็นความผิดปกติ ดูเหมือนลูกชอบน้อยกระแทกศีรษะตลอดทั้งวัน หรือชอบกระแทกศีรษะตอนที่ไม่ได้ง่วงนอนและสงสัยว่าการชอบกระแทกศีรษะนี้ อาจส่งผลให้มีปัญหาต่อพัฒนาการ หรือปัญหาอื่น ๆ เช่น ความล่าช้าในการพูด การควบคุมศีรษะไม่ดี ความซุ่มซ่าม อาการชัก คุณควรพาลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์ เพื่อให้คุณหมอทำการวินิจฉัย ประเมินอาการของลูกน้อยและรักษาได้อย่างทันท่วงที

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Why Is My Baby Banging Their Head?. https://www.healthline.com/health/baby/baby-banging-head#takeaway. Accessed September 23, 2020

Head Banging and Body Rocking. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/14305-head-banging-and-body-rocking. Accessed September 23, 2020

SIDS and Other Sleep-Related Infant Deaths: Updated 2016 Recommendations for a Safe Infant Sleeping Environment. https://pediatrics.aappublications.org/content/138/5/e20162938. Accessed September 23, 2020

Sleep Rhythmic Movement – Overview & Facts. http://sleepeducation.org/sleep-disorders-by-category/sleep-movement-disorders/sleep-rhythmic-movement/overview-facts. Accessed September 23, 2020

Is Head Banging Normal?. https://kidshealth.org/en/parents/head-banging.html. Accessed September 23, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/11/2022

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

พัฒนาการเด็ก คืออะไร คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการอย่างไร

คอกกั้นเด็ก ประโยชน์ ข้อเสีย และวิธีเลือกให้เหมาะสมกับเด็ก


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 16/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา