backup og meta

ของใช้เด็กที่จำเป็น มีอะไรบ้าง และวิธีเลือกของใช้เด็กที่เหมาะสม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    ของใช้เด็กที่จำเป็น มีอะไรบ้าง และวิธีเลือกของใช้เด็กที่เหมาะสม

    ของใช้เด็ก สำหรับเด็กทารกถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกซื้อของใช้เด็กที่จำเป็น เช่น เสื้อผ้าเด็กอ่อน ของใช้ในการอาบน้ำสำหรับเด็ก อุปกรณ์การนอนของเด็ก อุปกรณ์ในการทำความสะอาดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เบาะนั่งในรถยนต์สำหรับเด็ก (Car Seat) อย่างรอบคอบและใส่ใจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ความคุ้มค่า และความปลอดภัยของเด็กในการใช้งานมากที่สุด

    ของใช้เด็ก ที่จำเป็น มีอะไรบ้าง

    หมวดเครื่องแต่งกายสำหรับเด็ก

    เครื่องแต่งกายที่จำเป็นสำหรับเด็ก มีดังนี้

    ควรเลือกให้เหมาะกับวัยของเด็ก ในช่วงแรกเกิดเด็กจะโตไวมาก จึงไม่ควรซื้อเสื้อผ้าเก็บไว้เยอะเพราะอาจไม่ทันใช้ หรืออาจต้องซื้อใหม่ทั้งที่ใส่ไปไม่กี่ครั้งหรือเพิ่งซื้อมา เสื้อผ้าเด็กอ่อนที่จำเป็น ได้แก่ ชุดเด็กแบบชิ้นเดียว ชุดนอนเด็กชิ้นเดียวที่แบบกระดุมหน้า ถุงเท้าเด็กสำหรับใส่กันหนาวเวลานอนหรือออกไปข้างนอก เสื้อกันหนาวหรือเสื้อกันลม ผ้าห่อตัว หมวกใส่กันลม การเลือกเสื้อผ้าให้เด็กควรเน้นเรื่องความสบายในการสวมใส่ และควรเหมาะกับสภาพอากาศ เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็ก

    วิธีเลือกเสื้อผ้าเด็กอ่อน

    • เลือกชุดที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่อ่อนโยนต่อผิวและระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าป่าน ผ้าฝ้าย ผ้าจากเยื่อไผ่ เพราะเด็กจะได้สวมใส่สบาย ไม่ระคายเคืองผิว
    • เลี่ยงการใช้เสื้อผ้าที่มีกระดุมขนาดเล็ก โบว์ตกแต่ง เพราะเด็กอาจดึงหรือหยิบเข้าปาก จนอาจติดหลอดลมหรือสำลัก หรืออาจไปพันคอตอนเด็กหลับ
    • ควรเลือกขนาดเสื้อผ้าของเด็กตามขนาดตัวมากกว่าช่วงอายุ เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีขนาดตัวไม่เท่ากันแม้จะมีอายุที่ใกล้เคียงกัน
    • เลือกเสื้อผ้าที่ใส่และถอดง่าย เช่น เสื้อผ้าที่มีซิปด้านหน้า เสื้อผ้าที่แขนหลวมและบาน เสื้อแบบผูกจากด้านหลัง เสื้อที่มีคอกว้าง

    หมวดของใช้ในการอาบน้ำสำหรับเด็ก

    อุปกรณ์ที่ใช้ในการอาบน้ำสำหรับเด็ก มีดังนี้

    • อ่างอาบน้ำเด็ก มีขนาดเหมาะสมขนาดตัวของเด็ก ไม่เล็กหรือใหญ่จนทำให้เด็กเสี่ยงจมน้ำ
    • ครีมอาบน้ำและยาสระผม ควรมีส่วนผสมที่อ่อนโยนและไม่ระคายเคืองผิวที่บอบบางของเด็ก
    • ผ้าเช็ดตัวสะอาด ใช้สำหรับเช็ดและซับตัวหลังขึ้นจากน้ำ อาจเลือกที่ทำจากผ้าฝ้าย เพราะระบายอากาศได้ดี แห้งเร็ว ไม่อับชื้น
    • กรรไกรตัดเล็บเด็ก ควรใช้กรรไกรตัดเล็บที่ใช้กับเด็กโดยเฉพาะ ลักษณะปลายมนและมีขนาดเล็ก
    • กระโถนสำหรับเด็ก ช่วยให้เด็กเข้าห้องน้ำสะดวกขึ้น ใช้เมื่อต้องการให้เด็กฝึกเข้าห้องน้ำ อาจเริ่มให้เด็กใช้กระโถนขับถ่ายเมื่ออายุได้ 1-2 ปี
    • ของเล่นระหว่างอาบน้ำ เช่น ตุ๊กตาเป็ดยาง เป็นของใช้เด็กช่วยให้เด็กเพลิดเพลินและตื่นเต้น อยากอาบน้ำ
    • แผ่นยางกันลื่น ใช้แผ่นยางรองพื้นหลังการอาบน้ำให้เด็ก เลี่ยงไม่ให้เด็กสัมผัสกับพื้นเปียกน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มได้
    • สำลีทำความสะอาด ตา จมูกปาก และสายสะดือ กรณีที่สายสะดือยังไม่หลุด อาจต้อง เตรียม แอลกอฮอล์ 70% ไว้ทำความสะอาดสะดือด้วย
    • น้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ ไว้เช็ดตา ปากจมูก

    วิธีเลือกของใช้เด็กในการอาบน้ำ

    • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น แชมพู สบู่อาบน้ำ ควรมีส่วนผสมจากธรรมชาติ ไม่ใช้แบบที่มีน้ำหอมและสารเคมี เพื่อไม่ให้ระคายเคืองผิวเด็ก
    • อ่างอาบน้ำเด็กควรทำจากวัสดุที่แข็งแรง ได้มาตรฐาน มีฐานกันลื่นที่บริเวณก้นอ่างเพื่อป้องกันไม่ให้อ่างขยับขณะอาบน้ำ
    • ของเล่นที่ให้เด็กเล่นในระหว่างอาบน้ำ ควรทำมาจากวัสดุที่ได้มาตรฐาน และไม่เป็นอันตรายกับเด็ก ในกรณีที่เด็กหยิบเข้าปากเพื่อกัดเคี้ยว

    หมวดอุปกรณ์การนอนของเด็ก

    ของใช้เด็กตอนกลางคืน และชุดเครื่องนอนของเด็กที่จำเป็น มีดังนี้

    • เปลเด็ก เป็นเตียงนอนสำหรับเด็ก มีซี่กั้นกันเด็กตกเปล ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถพักผ่อนได้อย่างปลอดภัย
    • ฟูกที่นอนเด็ก ควรใช้ฟูกที่นอนที่ไม่นุ่มจนเกินไป เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตายในเด็ก หรือปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ทารกหายใจไม่ออก
    • หมอนหนุนและผ้านวม เป็นของที่ควรใช้กับเด็กมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากยังไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กอ่อน เพราะอาจทำให้เด็กร้อนเกินไปและหายใจไม่ออก
    • ผ้ารองกันเปื้อนแบบซับน้ำหรือกันน้ำ สำหรับป้องกันการซึมเปื้อนของน้ำลายหรือปัสสาวะของเด็กในตอนกลางคืน หรือไว้สำหรับรองในขณะที่เปลี่ยนแพมเพิส

    วิธีเลือกอุปกรณ์การนอน

    • ในช่วง 6 เดือนแรก ควรให้ลูกนอนห้องเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อจะได้สะดวกในการดูแลและให้นมลูก แต่ควรแยกเตียงเพราะการนอนกับคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่หลังคลอดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตายในเด็ก (Sudden Infant Death Syndrome หรือ SIDS) ควรเลือกอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการนอนของเด็กโดยยึดความปลอดภัยเป็นหลัก
    • ควรเลือกเปลเด็กที่มีขนาดเหมาะกับฟูกที่นอน เมื่อวางฟูกที่นอนลงไปในเปลแล้ว ควรมีช่องว่างระหว่างเปลกับฟูกที่นอนไม่เยอะจนเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงที่ศีรษะและมือของเด็กจะเข้าไปติดจนเกิดอันตรายได้
    • รั้วกั้นของเปลควรเรียบ ไม่มีเสี้ยนไม้ที่อาจทิ่มร่างกาย และควรแข็งแรงมั่นคง ทนต่อแรงเขย่าของเด็ก ระยะห่างระหว่างซี่เปลแต่ละซี่ไม่ควรเกิน 6.5 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะเด็กเข้าไปติดและป้องกันไม่ให้เด็กตกจากเปล และซี่กั้นควรสูงขึ้นมาจากฟูกที่นอนประมาณ 68 เซนติเมตร เพื่อความปลอดภัยจากการปีนป่ายของเด็ก
    • ไม่ควรเลือกเปลเด็กที่มีหัวเตียงและปลายเตียงแบบเป็นร่อง เพราะศีรษะและส่วนของร่างกายเด็กอาจเข้าไปติดได้

    หมวดความปลอดภัยภายในรถ

    เบาะนั่งเด็กในรถยนต์เป็นของใช้เด็กที่จำเป็นอย่างมาก สำหรับครอบครัวที่มีรถยนต์และมักพาเด็กออกไปข้างนอกบ้านเป็นประจำ ตำแหน่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการติดตั้งเบาะนั่งในรถยนต์ คือ บริเวณตรงกลางของเบาะหลัง โดยใช้วิธียึดเข้ากับเข็มขัดนิรภัย

    วิธีเลือกเบาะนั่งในรถยนต์สำหรับเด็ก

    • สำหรับเด็กเล็กที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปี หรือเด็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม อาจเลือกใช้เบาะนั่งแบบที่ให้เด็กนั่งหันไปด้านหลังของรถ ควรใช้เบาะชนิดนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเด็กจะนั่งไม่พอดี เนื่องจากมีความปลอดภัยที่สุดหากเกิดอุบัติเหตุ สามารถป้องกันการกระทบกระเทือนบริเวณส่วนศีรษะ ลำคอ และลำตัวได้
    • ก่อนใช้งาน ควรตรวจสอบว่าติดตั้งเบาะนั่งถูกต้องแล้วหรือไม่ เพื่อไม่ให้เบาะหลุดออกมาระหว่างขับขี่หรือช่วงที่มีอุบัติเหตุ หากเบาะยังขยับและเคลื่อนไปมาได้ อาจต้องติดตั้งใหม่ให้แน่นขึ้น และควรให้เด็กนั่งบนเบาะนั่งบริเวณเบาะด้านหลังอยู่ตลอดการเดินทาง หลีกเลี่ยงการติดตั้งเบาะนั่งเด็กที่เบาะหน้าของรถยนต์ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ เด็กอาจถูกถุงลมนิรภัยอัดเข้าที่หน้าหรือลำตัวได้
    • เลือกเบาะที่เหมาะสมกับขนาดตัว น้ำหนัก และส่วนสูงของเด็กมากที่สุด หากถึงวัยที่ควรเปลี่ยนเบาะหรือสังเกตว่าเด็กตัวโตขึ้นจนไม่สามารถอยู่ในเบาะเดิมได้แล้ว ควรรีบเปลี่ยนเบาะให้เร็วที่สุด
    • ก่อนซื้อเบาะนั่งในรถยนต์สำหรับเด็ก หากทำได้ ควรขอทดลองติดเบาะภายในรถยนต์คันที่ใช้งานจริง เพื่อตรวจสอบคุณภาพเมื่อใช้งานจริง และอาจได้เปรียบเทียบความแข็งแรงและแน่นหนาของเบาะนั่งในรถยนต์สำหรับเด็กแต่ละรุ่น เพื่อประกอบการตัดสินใจได้ด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา